ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติพร้อมขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ แนะรัฐเลี่ยงออกกฏระเบียบขวางการลงทุน
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติยันพร้อมทยอยขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามบริบทของประเทศ หลังเงินเฟ้อเสี่ยงสูง ด้านทอท.คาดผู้โดยสารต่างชาติกลับคืนมาก่อนโควิดในปีหน้า ขณะที่อมรเทพยันเศรษฐกิจไทยเป็นแฝดสยาม
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายในงานสัมมนาของ TNN ช่อง 16 ในโอกาสครบรอบ 15 ปี ภายใต้หัวข้อการกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย The Great Reset ว่า ธปท.ปรับนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ระบบการเงินทำงานได้ปกติ ดังนั้นนโยบายคือ การถอนคันเร่ง ไม่ใช่เหยียบเบรก เหมือนกับธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เพราะเศรษฐกิจไทยไม่เหมือนกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่พื้นตัวร้อนแรงกว่าเงินเฟ้อมาจากฝั่งอุปสงค์ หรือ ความต้องการซื้อ ขณะที่บ้านเราพึ่งเริ่มพื้นตัว กำลังซื้อยังฟื้นตัวไม่มาก
ทั้งนี้ต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจ หากจำเป็นต้องขึ้นร้อยละ 0.50 เราก็ต้องทำ ทั้งนี้ยืนยันว่า เราไม่ตามหลัง ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยอังกฤษขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเท่าก่อนโควิดแล้ว แต่ไทยเป็นประเทศเดียวที่ขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่เท่าก่อนโควิด แต่ต้องทำเพราะต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่อยู่มายาวนาน ไม่มียาวิเศษที่จะแก้ได้อย่างรวดเร็ว ต้องใช้เวลา และแก้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ มีสถาบันการเงินกว่า 50 แห่งเข้าร่วม จะมีรายละเอียดเร็วๆ นี้
"การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงนี้ ต้องให้น้ำหนักการดูแลความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยสิ่งที่ ธปท. เน้นย้ำก็คือ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาตามสถานการณ์ ซึ่งพร้อมหยุดหากจำเป็นต้องหยุด และพร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น หากจำเป็น "
สำหรับภาระหนี้ครัวเรือน หลุดจากกับดักหนี้และไปต่อได้ต้องใช้เวลา แก้อย่างครบวงจร โดยการแก้หนี้พร้อมสร้างรายได้ และต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันการเงินเข้าช่วยลูกหนี้โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้า คือ การลงทุน ใช้เวลา20 ปีจึงกลับมาเติบโตจากก่อนวิกฤต 40 เหมือนปัจจุบัน และสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำ คือ เงื่อนไข กฎระเบียบที่ขัดขวางการลงทุน โดยเฉพาะกระแสดิจิทัล หากมีการเข้าลงทุนในประเทศไทยจะทำให้ไทยฟื้นตัวอย่างสง่างาม
เตรียมรับนักท่องเที่ยว
ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ทอท.ประเมินการฟื้นตัวท่องเที่ยวไทย จากการเดินทางผ่านสนามบิน คาดว่า จำนวนผู้โดยสารจะมีจำนวนเท่ากับก่อนโควิดในปี 2567 จำนวน 142 ล้านคน โดยในปีนี้กลับมาประมาณ 1 ใน 3 และปีหน้ากลับมาร้อยละ 60-70 สิ่งที่ต้องจับตามองคือ คนจีนจะสามารถออกนอกประเทศได้เมื่อไหร่
อย่างไรก็ตามท่องเที่ยวหลังโควิดจะไม่เหมือนเดิม กรณีสายการบิน อาจได้เห็นการบริการขนส่งสินค้าหรือคาร์โก้ เป็นหลัก การโดยสารของนักท่องเที่ยวเป็นตัวเสริม ถ้าเทียบก่อนโควิดการขนส่งผู้โดยสารเป็นตัวหลัก คาร์โก้เป็นตัวเสริม
ส.อ.ท.เร่งขับเคลื่อนสู่อุตฯ 4.0
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมว่า ในเครือข่ายสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีทั้งหมด 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด กำลังหนีตาย เพราะกระแสการ Disruption ที่รุนแรง อุตสาหกรรมจึงต้อง เปลี่ยนแปลงตัวเองจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่ 4.0 ให้ได้
โควิดใน 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทุกตัวดับหมด เครื่องยนต์สำคัญของประเทศไทย คือ ภาคการท่องเที่ยว ก่อนการเกิดโรคโควิดระบาดนั้น ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน ทำจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ประมาณ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12% ของ GDP ประเทศ
ขณะที่ ช่วงโควิดเหลือเครื่องยนต์ตัวเดียว คือ "ภาคการส่งออก" ช่วงนั้นอุตสาหกรรมต้องผลิตภายใต้สถานการณ์ที่มีโรคระบาด ทำอย่างไรที่ทำให้การผลิตต่อเนื่อง ซึ่งก็โชคดีที่ 80-90% เรารอดมาได้ แต่มีส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบอยู่
ขณะเดียวกัน วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ถึงแม้จะไกลจากประเทศไทย แต่ก็ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่อง "เงินเฟ้อ" ที่เกิดจากราคาพลังงาน และสินค้าต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงการขาดแคลนอาหารของโลก และความเสี่ยงต่อเรื่องของ Supply Chain โดยเฉพาะชิปและ Semiconductor ต่างๆ
นอกจากนี้ คลื่นความท้าทายอีกเรื่องคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งโลกไม่มีใครที่จะหนีพ้น ไม่ว่าจะเป้นไฟไหม้ป่า แม่น้ำแห้งแล้ง พายุฝน น้ำท่วม แม้จะเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีดีที่สุดในโลก แต่ก็แก้ไม่ได้ และนับวันปัญหาเหล่านี้กำลังเป็นคลื่นแห่งความท้าทายที่พวกเรากำลังเผชิญกันอยู่
ส.อ.ท. มองว่าในทุกวิกฤตมีโอกาส Trade war ไม่ได้แย่ไปทั้งหมด แบรนด์ไทยส่งออกได้มากขึ้น และการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล เช่น การซื้อของออนไลน์ Streaming work from home อุตสาหกรรมการแพทย์ยารักษาโรค อาหารเสริมเติบโตขึ้นมาก เหล่านี้กลายเป็นเทรนด์ใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น
อุตสาหกรรมในปัจจุบันของประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ "First Industries" คือ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะทำอย่างไรให้อยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ หาสินค้าใหม่ๆ ทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้น ให้อุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพ ขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งองค์ความรู้ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้มากขึ้น ต้องช่วยพัฒนาให้สามารถยืนระยะให้ได้ นี่คือ "การกอบกู้" อุตสาหกรรมปัจจุบันให้รอดพ้นจากวิกฤตต่างๆ ไปให้ได้
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรม จากเสน่ห์ที่มีแรงงานเยอะ ค่าแรงถูก ที่ดินราคาไม่แพง แต่เป็นอดีตไปแล้ว ขณะที่ เพื่อนบ้านก็เป็นคู่แข่งที่เข้มแข็ง บริษัทต่างประเทศที่จะมาลงทุนในประเทศไทยก็ไม่มามากเท่าเดิม ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง อุตสาหกรรมของคนไทยบางอย่างยังต้องย้ายฐานเช่นกัน ดังนั้น เราต้องปรับ
วันนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องของ Climate Change จากการที่โลกร้อนขึ้น และไม่มีการควบคุม หากปล่อยไปแบบนี้จะเกิดหายนะ เกิดน้ำท่วม ภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งมีการประชุม COP26 ผู้นำทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยล่าสุด EU ตั้งมาตรฐานขึ้นมา 4 แบบ คือ อุตสาหกรรมใดที่ใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซมีเทน ที่จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จะถูกปรับ หรือเก็บภาษีมาก หรือไม่ให้เข้าเลย เหล่านี้จึงต้องเตรียมตัว จึงเป็นที่มาของ "Next Gen Industries" การที่จะก้าวเดินต่อไป
โดยมี S-Curve Industries12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ อุตสาหกรรมที่เป็นอนาคต ได้แก่"First s-curve" การสร้างมูลค่าเพิ่ม
1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร "New S-curve"
6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9.อุตสาหกรรมดิจิทัล 10.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 11.อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 12.อุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา
โดยใน 12 อุตสาหกรรมนั้น จะมุ่งเน้นด้วย 3 ข้อ คือ(1) F Curve Industry อุตสาหกรรมที่ประเทศไทยเป็นแชมป์อยู่ แต่ว่ากำลังถูกยึด เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังเป็นเบอร์ 1 ของการส่งออก และเป็นมูลค่าสูงสุดของการส่งออกของไทย ซึ่งกำลังโดน Disrupt อย่างรวดเร็วด้วยรถที่เป็น EV กำลังเข้ามา ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมกำลังเร่งที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV
(2) BCG (Bio-Circular-Green Economy)สำหรับ "Bio" นั้น ประเทศไทยโชคดีที่เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นระดับต้นๆ ของโลก แต่ที่ผ่านมาเพิ่มมูลค่าไม่ได้ ทั้งเทคโนโลยีต่างๆ แต่วันนี้ถ้าเราทำได้จะเพิ่มมูลค่ามหาศาลมากยิ่งกว่าโมเดลอุตสาหกรรมอื่นๆที่เราได้อีก
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องยารักษาโรค สมุนไพรที่มาทำด้านเวชสำอาง ไบโอพลาสติก ไบโอฟิลด์ หรือเทคโนโลยีที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ ปุ๋ยธรรมชาติ รวมทั้ง Plant Base อาหารเพื่ออนาคต เหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเป้าหมายในการที่จะควบคู่เศรษฐกิจประเทศ
"Circular" สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมดำเนินการทำแพลตฟอร์เพื่อมาแลกเปลี่ยนเศษขยะต่างๆ ในอุตสาหกรรม พวกเศษพลาสติก รวมทั้ง ตั้งกติกาว่าบรรจุภัณฑ์ต่อไปจะต้องมีพลาสติกรีไซเคิลกี่เปอร์เซ็นต์
"Green" ทำอย่างไรให้อยู่กับชุมชนได้ อุตสาหกรรมสีเขียว ไม่ปล่อยมลพิษ และสร้างงานในชุมชนให้ได้ โดยเฉพาะการเกิด "Climate Change" ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่มีทั้งอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน
ทั้งหมดมานี้เป็นสิ่งเดินหน้าที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป โดย BCG นี้ ไม่มีใครสู้ประเทศไทยได้ เหล่านี้สะท้อนไปยังภาคเกษตรกร จะเป็นการเปลี่ยน จะทำให้เป็นโครงการใหม่ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(3) New S-curve อุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย กำลังจะทำให้เกิดขึ้น
"นักลงทุนต่างชาติไม่มาเมืองไทย เพราะกำลังวัยทำงานของเวียดนามประชากรมี 100 ล้านคน มีวัยทำงาน 60 กว่าล้านคน ขณะที่ ประเทศไทยมีประชาชน 70 กว่าล้านคน แต่มีวัยทำงานลดลงเหลือแค่ 30 ล้านคน ทำให้อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมาก จะย้ายฐานไปอยู่เวียดนามกันหมด และค่าแรงขั้นต่ำที่เวียดนามอยู่ประมาณ 250 บาทต่อวัน ประเทศไทยอยู่ประมาณ 350 บาทต่อวัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นเวลาที่เราจะต้องรีเซ็ตประเทศใหม่ ด้วยอุตสาหกรรมใหม่ๆ"
เศรษฐกิจไทยฟื้นแบบแฝดสยาม
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุนธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นแบบแฝดสยามมีทั้งกลุ่มอ่อนแอและกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ดีโดยเชื่อว่าประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอยเราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ซึ่งก่อนโควิดเศรษฐกิจไทยเติบโต 3-4% ช่วงเกิดโควิดทรุด และในไตรมาส 1/65 และไตรมาส 2/65 ยังแผ่ว แต่ไตรมาส 3-4 คาดว่าจะโต 4% และปีหน้าจะอยู่ที่ 4%
สำหรับกลุ่มที่อ่อนแอยังเป็นภาคเกษตร การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดเนื่องจากกำลังซื้อระดับกลางและล่างยังไม่ดีขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าเพื่อใช้ในประเทศส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีและการปรับตัวต่อเทโนโลยีทำได้ลำบาก
ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมฟื้นตัวได้ดีหรือเติบโตแข็งแกร่งคือ อาหารแปรรูป คอนโดตามแนวรถไฟฟ้า และธุรกิจที่ให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยี เน้นกำลังซื้อลูกค้าระดับบน และการส่งออกสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่
"ไทยโชคดีมีปัญหาอาหารค่อนข้างมาก ถ้าในอนาคตมีปัญหาสงครามรุนแรงเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารเราได้เปรียบจุดนี้ ส่วนอุตสาหกรรมอื่นไปได้ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ที่ดีขึ้น จากการส่งออกเติบโตได้ครึ่งหลังปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้าอย่างไรก็ตาม การส่งออกปีหน้าจะต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอโดยเฉพาะสหรัฐฯ "
ที่มา สัมมนาของ TNN ช่อง 16 ในโอกาสครบรอบ 15 ปี
ภาพประกอบ TNN Online