เงินเฟ้อไทยพุ่ง! สูงสุดในรอบ 14 ปี คาดแตะจุดสูงสุดแล้ว
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.86 ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 14 ปี และคาดว่าเงินเฟ้อในเดือนนี้ น่าจะเป็นระดับสูงสุดของปีแล้ว
นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ออกมาเปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 107.46 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.86 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.05 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 8 เดือนของปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 6.14
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 103.59 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.15 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 8 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 2.16
โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม ยังคงเป็นราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.50 แม้ราคาน้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์จะปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการผลิตที่สำคัญ ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.35 เช่นเดียวกับสินค้าในหมวดเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ราคาก็ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งที่สูงขึ้น เช่นกัน
ด้านแนวโน้มราคาสินค้าและบริการในระยะต่อไป คาดว่าจะเริ่มทรงตัว ซึ่งหากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันมาก คาดว่าเงินเฟ้อเดือนกันยายน จะปรับตัวลดลง
ในขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็คาดว่าเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดของปีนี้ไปแล้ว โดยทั้งปี คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6 หรืออยู่ในกรอบร้อยละ 5.5-6.5
ขณะที่ความเห็นจากธนาคารกสิกรไทยระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนสิงหาคมที่ร้อยละ 7.86 ถือเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งอัตราการขยายตัวของเงินเฟ้อ จะถึงจุดสูงสุดในไตรมาสที่ 3 และเริ่มปรับลดลงในไตรมาสที่ 4 ส่วนหนึ่งเพราะจากฐานต่ำเมื่อปีที่แล้ว จากมาตรการรัฐในการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟ และราคาน้ำมันและค่ากลั่นที่ลดลง รวมถึงมาตรการลดค่าไฟฟ้าของรัฐ รวมถึงเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และยังอยู่ต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อขยายตัวสูงแบบต่อเนื่องยาวนานจึงมีได้น้อย อย่างไรก็ตาม อาจยังเห็นการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ ตามการส่งผ่านราคาจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคที่มากขึ้น
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ภาพจาก : TNN