มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เริ่มรอบใหม่ 26 ก.ย.นี้ สกัดหนี้ครัวเรือนพุ่ง
ธปท.-คลัง จัดมหกรรมแก้หนี้ออนไลน์-สัญจร เริ่ม 26 ก.ย.นี้ ยาวถึงต้นปี 66 หลังปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่ง 14.6 ล้านล้าน
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ร่วมกับกระทรวงการคลัง จัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยช่วงแรกจะจัดมหกรรมออนไลน์ เปิดลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.-30 พ.ย.65 ครอบคลุมสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล เช่าซื้อรถยนต์ จำนำทะเบียนรถ และทุกสินเชื่อของธนาคารของรัฐ รวมเจ้าหนี้ 56 แห่ง และช่วงที่สอง จะมีมหกรรมสัญจร ตั้งแต่เดือนพ.ย.65- ม.ค.66 แก้หนี้ลูกหนี้ธนาคารของรัฐทั่วประเทศ เช่น แก้หนี้เดิม เสริมทักษะทางการเงิน และเติมเงินใหม่หากจำเป็น
"เศรษฐกิจไทยถูกกระทบรุนแรงจากสถานการณ์โควิด ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ข้อมูลในไตรมาส 1/2565 อยู่ระดับ 89% ต่อจีดีพี และมีจำนวนหนี้ครัวเรือน 14.6 ล้านล้านบาทเมื่อย้อนกลับไปช่วงไตรมาส 4/2562 อยู่ระดับ 80% ต่อจีดีพี ไตรมาส 4/2563 อยู่ระดับ 90% ต่อจีดีพี ปัจจุบันยังเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ เศรษฐกิจไทยกลับมาทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึงประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุด จึงจำเป็นต้องดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ทันเวลา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่"
สำหรับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่จำแนกตามประเภทหนี้ โดยหนี้ที่น่าเป็นห่วง อาทิ หนี้บัตรเครดิต 3% และหนี้ส่วนบุคคล 20% เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และมีดอกเบี้ยสูง ขณะที่หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 35% หนี้เพื่อธุรกิจ 18% หนี้รถยนต์/จักรยานยนต์ 12% และหนี้ส่วนบุคคลใต้การกำกับ 5% ยังเป็นหนี้ที่ไม่สร้างความกังวลมากนัก เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องใช้เวลา และต้องพิจารณาแนวทางที่คำนึงถึงผลข้างเคียงต่อลูกหนี้อย่างรอบด้าน
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน เริ่มจากการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม โดยลดภาระให้สอดคล้องกับรายได้ แก้ไขหนี้เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เช่น ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ลูกหนี้สถาบันการเงิน ลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้ข้าราชการ ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล รวมทั้งผู้ท่เจอปัญหากรเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ด้านขั้นตอนที่ 2 เป็นการสร้างรายได้ เพื่อลดปัญหาหนี้ครัวเรือนระยะยาว เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รี-โอเพ่น ธุรกิจโรงแรมและซัพพลาย เชนโรงแรม ให้สินเชื่อปรับปรุงธุรกิจดอกเบี้ย 1.99% ใน 2 ปีแรก ระบะเวลากู้ 7 ปี , โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย ให้สินเชื่อเอสเอ็มอีท่องเที่ยว ดอกเบี้ย 3.99% ระยะเวลากู้ 7 ปี
ส่วนประชาชนทั่วไป โครงการสร้างอาชีพ ผู้ที่ตกงานเข้าอบรมอาชีพและให้สินเชื่อดอกเบี้ย 3.99% ระยะเวลา 5 ปี , สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ และกลุ่มเกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าชุมชน มีโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยให้สินเชื่อเพื่อปรับเปบี่ยนกาผลิตพัฒนา การตลาด ดอกเบี้ย 0.01% ระยะเวลากู้ 3 ปี
ขณะที่ขั้นตอน 3 สร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการสร้างทักษาะทางการเงิน โดยปลูกฝังความรู้ทางการเงินตั้งแต่เด็กและเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยตั้งแต่กลุ่มเด็กและเยาวชนจนถึงผู้สูงอายุ , แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินปี 65-70 , ให้ธนาคารของรัฐส่งเสริมความรู้ทางการเงินและทักษะการประกอบอาชีพให้แก่ลูกค้าของตนเอง และผู้กู้ยืมกองทุน กยศ.กำหนดให้ผ่านหลักสูตรพัฒนาทักษะทางการเงินภาคบังคับ
"นอกจากนี้กระทรวงการคลัง และ ธปท.จับมือกับทุกสมาคมสถาบันการเงิน และชมรมของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินเข้าร่วม 56 ราย ครอบคลุมหนี้สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถ จำนำทะเบียนรถ นาโนไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อที่อยู่กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ และสินเชื่อแบกง์รัฐ จากนั้นในเฟส 2 จะเพิ่มโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินควบคู่กับการสร้างวินัยทางการเงิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของแบงก์รัฐและเตรียมจัดงานมหกรรมสัญจร ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศระหว่างพฤศจิกายน 2565 ถึงมกราคม 2566 "
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ความคืบหน้าการแก้หนี้เดิม ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว โดยลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ และนอนแบงก์ ณ สิ้นเดือนพ.ค.65 ให้ความช่วยเหลือ 3.84 ล้านบัญชี คิดเป็น 2.9 ล้านล้านบาท , ลูกหนี้กยศ. ได้รับผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ 340,000 ราย , ลูกหนี้ครูช่วยเหลือผ่านโครงการสร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทยกว่า 41,000 ราย และลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้กว่า 87,000 ราย ส่วนมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ณ วันที่ 22 ส.ค.65 มีเอสเอ็มอีช่วยเหลือ 133,245 ราย คิดเป็น 324,989 ล้านบาท และให้คำปรึกษาผ่านหมอหนี้เพื่อประชาชนกว่า 4,500 ราย
ที่มา คลัง,ธปท.
ภาพประกอบ พิกซาเบย์