รัฐบาล แจงสาเหตุ"ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2565"ไม่ถึง 425 บาท เพราะอะไร?
"ทิพานัน” แจงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพผู้ใช้แรงงาน ปรับไม่ถึง 425 บาท เพราะผลกระทบจากสถานการณ์โควิดอย่างหนัก ชี้ที่ผ่านมาอัดมาตรการช่วยเหลือทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ทุกมาตรการยึดประโยชน์ประเทศและประชาชน มากกว่าการเมือง
วันนี้( 27 ส.ค.65) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณี รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กรณีคณะกรรมการค่าจ้างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2565 ว่า ต้องขอชี้แจงเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความตั้งใจของรัฐบาลว่า การปรับค่าจ้างให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่ม เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพจากสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและเงินเฟ้อสูงขึ้น ยิ่งสถานการณ์หวั่นไหวทางเศรษฐกิจอาจทำให้มีการปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นได้
ที่ผ่านมารัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้กำชับให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ ดูแลแรงงาน โดยให้หาแนวทางดำเนินการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เร็วที่สุดเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย
น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทย ที่เป็นฝ่ายค้านต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เกณฑ์สำหรับการปรับอัตราค่าแรงได้นำตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP)ของแต่ละจังหวัดชัดเจน และนำมาเทียบกับภาวะเงินเฟ้อ นำมาคำนวณจนได้ข้อสรุปแบ่งเป็น 9 อัตรา และมีระดับค่าแรงตั้งแต่ 328 - 354 บาท ตามที่ทราบกันซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรียกว่าคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ร่วมหารือมาโดยตลอดจนได้ข้อสรุป เพื่อเสนอ ครม. ที่คาดว่าจะประกาศใช้ ภายใน 1 ตุลาคม 2565
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยวิจารณ์ว่ารัฐบาล ไม่สามารถปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท เท่ากันทั่วประเทศได้ตามนโยบายหาเสียงไว้จนปลายอายุรัฐบาลว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบหนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจากมาตรการทางด้านสาธารณสุข โดยตัวเลขอัตราค่าแรงขั้นต่ำนั้นได้มีการหารือทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการมาแล้วเบื้องต้นว่าอยู่ในจุดที่ยอมรับได้
อีกทั้งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือและเยียวยาทั้งนายจ้างและลูกจ้างผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อพยุงสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และไม่เกิดการว่างงานขึ้น รวมเงินกู้ผ่านธนาคารของรัฐเพื่อให้พลิกฟื้นธุรกิจ โดยข้อมูลในปี 2564 รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการผ่านโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33, 39 และ 40 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 102,532.08 ล้านบาท โครงการ ม33 เรารักกัน คนละ 6,000 บาท มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 48,185.85 ล้านบาท
ลดอัตราเงินสมทบให้กับนายจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39และลดอัตราเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 ลดเหลือร้อยละ 60 ของอัตราเงินสมทบปกติที่จัดเก็บ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนพยุงในระบบเศรษฐกิจกว่า 1,874 ล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจยังมีมาตรการลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ให้กลุ่มเปราะบาง และสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งโครงการคนละครึ่ง เข้าสู่ระยะที่ 5 แล้วด้วย
“ที่สำคัญประเทศไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจและเปิดประเทศ รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวังและมีความรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น การลงทุนในอนาคต จึงไม่ได้ยึดเอาผลทางการเมือง เพื่อดึงคะแนนเสียงเป็นหลักในเวลานี้ แต่ให้ผลประโยชน์ของประเทศและพี่น้องประชาชนเป็นตัวนำ โดยไม่ทอดทิ้งผู้ใช้แรงงานที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ ไม่เพียงเพิ่มรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงาน รัฐบาลยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพ และคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น”น.ส.ทิพานัน กล่าว
ที่มา เว็บรัฐบาล
ภาพจาก AFP/TNN Online