TNN Exclusive : APEC 2022 เอเปค คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม
ประชุม APEC 2022 คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ไทยได้อะไรจากการประชุม ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ
ประชุม APEC 2022 คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ไทยได้อะไรจากการประชุม ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ
เอเปค (APEC) คืออะไร?
เอเปค (APEC) หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่นๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค
ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย โดยไทยเป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง ทั้งนี้ เอเปคมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลกและมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก
เอเปคมีสมาชิกทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วย
1. ออสเตรเลีย
2. แคนาดา
3. ญี่ปุ่น
4. เกาหลีใต้
5. จีน
6. ฮ่องกง
7. นิวซีแลนด์
8. สหรัฐอเมริกา
9. บรูไน
10. อินโดนีเซีย
11. มาเลเซีย
12. สิงคโปร์
13. ฟิลิปปินส์
14. ไทย
15. จีนไทเป
16. ชิลี
17. เม็กซิโก
18. ปาปัวนิวกินี
19. เปรู
20. รัสเซีย
21 เวียดนาม
อย่างไรก็ตาม การประชุม APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 14-19 พ.ย. 2565 ซึ่งในวันที่ 14-16 พ.ย. 2565 จะเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส จากนั้นวันที่ 17 พ.ย. 2565 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี และวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 เป็นการประชุมผู้นำ และมีกิจกรรมคู่สมรสของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกด้วย โดยใช้สถานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเลี้ยงอาหารค่ำที่หอประชุมกองทัพเรือ ขณะที่กิจกรรมคู่สมรสของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก จะเป็นที่พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน จ.พระนครศรีอยุธยา
กลไกการทำงานของเอเปคแบ่งการดำเนินงานออกเป็นระดับต่าง ๆ ดังนี้
1. ระดับนโยบาย
1.1 การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting หรือ AELM)
1.2 การประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting หรือ AMM)
1.3 การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting หรือ MRT)
1.4 การประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปค (APEC Finance Ministerial Meeting หรือ FMM)
1.5 การประชุมรัฐมนตรีสาขาต่าง ๆ (Sectoral Ministerial Meetings)
2.ระดับปฏิบัติ
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meeting หรือ SOM) ซึ่งกำกับดูแลผลการประชุมของคณะกรรมการหลัก 4 เสาคือ (1) คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment หรือ CTI) (๒) คณะกรรมการด้านงบประมาณและการบริหาร (Budget and Management Committee หรือ BMC) (๓) คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ (Economic Committee หรือ EC) และ (๔) คณะกรรมการว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Steering Committee on Economic and Technical Cooperation หรือ SCE) และมีการประชุมระดับคณะทำงานอีกจำนวนมากภายใต้คณะกรรมการทั้งสี่
3. สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council หรือ ABAC) ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คู่มือเอเปคหัวข้อหลัก (Theme) และประเด็นสำคัญ (Priorities) ที่ไทยผลักดันในการเป็นเจ้าภาพเอเปค
เอเปคและไทย ประโยชน์ของไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปค
การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะส่งเสริมนโยบาย และทิศทางการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในหลายมิติ โดยไทยจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ได้ยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี
นอกจากนี้การเป็นเจ้าภาพ การประชุมของไทยท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว เป็นการฟื้นฟูการเดินทางและทำธุรกิจแบบพบหน้า และยังเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงความพร้อมว่าไทยสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดได้โดย ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้พร้อมกัน
ประเด็นที่ไทยมุ่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมและเป็นผลลัพธ์ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ ได้แก่
(1) การส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) ในบริบทของการเจริญเติบโตหลังโควิด-19 ที่จะต้องยั่งยืนและสมดุล และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน
(2) ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการจัดตั้งกลไก APEC Safe Passage Taskforce เพื่อหารือแนวทางที่ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย อาทิ การอำนวยความสะดวกอาชีพสำคัญ เช่น ลูกเรือ การส่งเสริมการใช้ Public Key Infrastructure ในการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้เดินทางกว้างขึ้น
(3) การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมในเอเปค ด้วยการจัดทำเอกสารผลลัพธ์ระดับผู้นำ เพื่อเร่งการพัฒนาตามแผนงานของเอเปคไปสู่การเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุลในยุคหลัง โควิด-19 ตามแนวคิด BCG Economy
สาขาความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญในปี 2565
– ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน
ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting) ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2565
– ความร่วมมือด้านการคลัง
ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: APEC FCBDM) ระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2565 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials’ Meeting: APEC SFOM) ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2565 และการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2565
– ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว
ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค (APEC Tourism Ministerial Meeting) ระหว่างวันที่ 14-20 สิงหาคม 2565
– ความร่วมมือด้านการเกษตร
ทั้งนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค (APEC Ministerial Meeting on Food Security) ในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส เอเปค ครั้งที่
3 ระหว่างวันที่ 7-21 สิงหาคม 2565 โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นการพบกันของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการเกษตรและอาหารของเขตเศรษฐกิจเอเปค
เพื่อหารือประเด็นสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงอาหารในภูมิภาคอย่างยั่งยืน
– ความร่วมมือด้านป่าไม้
– ความร่วมมือด้านกิจการสตรี
ไทยจะจัดประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ (APEC Women and the Economy Forum: WEF) และ (High-Level Policy Dialogue on Women and the Economy: HLPDWE) ในช่วงเดือนกันยายน 2565 ซึ่งเป็นกลไกในการเสริมพลังสตรีและเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในทางเศรษฐกิจ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคเอเปค ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสริมการลงทุนด้านโภชนาการ สุขภาพ และการศึกษาของเด็กมากยิ่งขึ้น
– ความร่วมมือด้านการส่งเสริม MSMEs
ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (APEC SME Ministerial Meeting) ระหว่างวันที่ 5-10 กันยายน 2565
– ความร่วมมือด้านสาธารณสุข
ทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 12th High-Level Meeting on Health and the Economy ในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3
ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นการพบปะระหว่างเขตเศรษฐกิจ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือประเด็นสำคัญด้านการแพทย์และสาธารณสุข
ตราสัญลักษณ์ของการประชุมเอเปค ออกแบบโดยชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นรูป "ชะลอม" ซึ่งเป็นเครื่องจักสานไทยที่ใช้ใส่สิ่งของในการเดินทาง หรือนำไปมอบกับบุคคลที่เคารพในสังคมไทยจากรุ่นสู่รุ่น ทำจากไม้ไผ่ สะท้อนถึงการค้าที่เปิดกว้าง เชื่อมโยงมิตรภาพเข้าด้วยกัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตราสัญลักษณ์ประกอบด้วยชะลอม 21 ช่อง สื่อถึงสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ และใช้สีน้ำเงิน ชมพู เขียว สื่อให้เห็นถึงคำขวัญของการประชุม "เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล"
สำหรับการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนั้น รัฐบาลไทยได้เลือกศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นสถานที่จัดการประชุมหลัก และหอประชุมกองทัพเรือเป็นสถานที่จัดเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจพร้อมคู่สมรส
ภาพจาก AFP / APEC 2022 Thailand