TNN ถึงยุคค่าไฟแพง Ft สูงสุดในประวัติศาสตร์ จะเกิดขึ้นเดือนก.ย.นี้ หรือไม่?

TNN

Wealth

ถึงยุคค่าไฟแพง Ft สูงสุดในประวัติศาสตร์ จะเกิดขึ้นเดือนก.ย.นี้ หรือไม่?

ถึงยุคค่าไฟแพง Ft สูงสุดในประวัติศาสตร์ จะเกิดขึ้นเดือนก.ย.นี้ หรือไม่?

รายการเศรษฐกิจ Insight : ถึงยุคค่าไฟแพง Ft สูงสุดในประวัติศาสตร์ จะเกิดขึ้นเดือนก.ย.นี้หรือไม่?

รายการเศรษฐกิจ Insight พามาดูเรื่องค่าไฟฟ้า งวดเดือน กันยายน-ธันวาคม 2565 ที่มีกระแสว่า จะมีการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า Ft เป็นงวดที่ 3 ติดต่อกัน และอาจเป็นค่า Ft ที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ อาจถึง 2 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยขยับขึ้นทะลุ 6 บาท แต่ทุกอย่างมีเหตุผล ที่เราควรเข้าใจ โดยเฉพาะกลไกของการคิดราคาค่าไฟฟ้า 



ถึงยุคค่าไฟแพง Ft สูงสุดในประวัติศาสตร์ จะเกิดขึ้นเดือนก.ย.นี้ หรือไม่?

ก่อนอื่นต้องไปดูโครงสร้างค่าไฟฟ้าต่อหน่วย ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ใครมีใบเสร็จค่าไฟฟ้า จาการไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ ไล่ไปตามบรรทัดตรงกับใบเสร็จเลย บรรทัดแรกคือ ค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งมีการพิจารณาตามแผนการลงทุนโครงสร้างฟื้นฐานในการผลิตไฟฟ้า เช่น การลงทุนโรงไฟฟ้า การลงทุนสายส่ง โครงข่ายต่างๆ รวมถึง การดำเนินงานขององค์กร เป็นต้น นี่คือก้อนใหญ่สุด ของค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย 

ค่าบริการรายเดือน แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรกมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ปัจจุบันเท่ากับ 8.19 บาทต่อเดือน ส่วนอีกรูปแบบ คือ นอกเหนือจากรูปแบบที่ 1 คือ กลุ่มมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ และ ไม่เกิน 5 แอมป์ แต่ใช้ไฟเกิน 150 หน่วยต่อเดือน กลุ่มนี้จะคิดค่าบริการ 38.22 บาทต่อเดือน 

ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ Ft จะมีการปรับทุกๆ 4 เดือน เพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับค่าก๊าซธรรมชาติ ที่ประเทศไทยใช้ 60-70% สำหรับการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และ สุดท้าย คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Vat ซึ่งเรียกเก็บในสินค้า และบริการ ในอัตราร้อยละ 7 

ถึงยุคค่าไฟแพง Ft สูงสุดในประวัติศาสตร์ จะเกิดขึ้นเดือนก.ย.นี้ หรือไม่?

แล้วค่า Ft เป็นเท่าไร วันนี้พาคุณผู้ชมย้อนไป 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2559 ค่า Ft ของไทย ติดลบมาตลอด 6  ปี จนถึงปี 2564 ค่า Ft ที่ ติดลบเริ่มตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. 2559 ติดลบ 4.80 สตางค์ต่อหน่วย หมายความว่า ประชาชนใช้ไฟฟ้า 1 หน่วย รัฐลดราคาให้ 4.80 สตางค์ต่อหน่วย มาถึงรอบถัดมา ช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 2559 ติดลบ 33.29 สตางค์ต่อหน่วย เป็นการที่ภาครัฐอุดหนุนค่าไฟฟ้าผันแปรให้ประชาชน หลังจากนั้นรัฐอุดหนุนมาโดยตลอด 

จนมาถึงปี 2565 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ก็ไม่ผิดครับที่ค่าไฟฟ้าผันแปรเป็นบวก งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย จากอุดหนุน เริ่มมาคิดเงินเพิ่ม และขยับมางวดปัจจุบัน เดือน พ.ค.-ส.ค. ทุกๆ การใช้ไฟฟ้า 1 หน่วย ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าผันแปรเพิ่มอีก 24.77 สตางค์ 

และปัจจุบัน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. อยู่ในช่วงการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ Ft ซึ่งโดยปกติแล้ว กกพ.จะพิจารณาได้ด้วยตนเอง ตามกฎหมาย แต่ในการพิจารณารอบนี้ กกพ. มีการเพิ่มขั้นตอนการรับฟังข้อคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระหว่างวันที่ 12-25 ก.ค.นี้ เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวานนี้ และสำนักงาน กกพ.จะสรุปเพื่อส่งให้บอร์ด กกพ. พิจารณา ในช่วง ปลายเดือน ก.ค.หรือ ต้นเดือน ส.ค.นี้ 

เราจะได้ทราบกันว่า ค่าไฟฟ้าของไทยจะปรับขึ้นเป็นเท่าใด เป็นการขยับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ Ft สูงสุดในประวัติศาสตร์จริงหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ ไทยเคยคิดค่า Ft สูงสุดในช่วงเดือน มิ.ย.2554 อยู่ที่ 95.81 สตางค์ต่อหน่วย หรือ เกือบ 1 บาท 

ถึงยุคค่าไฟแพง Ft สูงสุดในประวัติศาสตร์ จะเกิดขึ้นเดือนก.ย.นี้ หรือไม่?

ทำไมค่าไฟฟ้าถึงจะขยับขึ้นราคารุนแรง และอาจสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นเพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ความต้องการพลังงานปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดันราคาปรับสูงขึ้นกว่าการประเมิน เพราะปกติ จะมีการประเมินราคา ก่อนพิจารณาต้นทุน และกำหนดค่า Ft ล่วงหน้า อย่างในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.64 ราคาตามแผนการกำหนดค่าไฟฟ้าผันแปร ที่ กกพ. อนุมัติให้มีการจัดเก็บค่าไฟจากต้นทุนนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 222-235 บาทต่อล้านบีทียู  แต่เมื่อราคาปรับขึ้นเร็วกว่าคาด ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้า อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. จำเป็นต้องซื้อก๊าซธรรมชาติราคาจริง 235-315 บาทต่อล้านบีทียู  ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงด้านราคา 34% ทำให้ กฟผ. จำเป็นต้องแบกรับภาระแทนภาคประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในรอบนี้ 38,943 ล้านบาท 

ต่อเนื่อง ม.ค.-เม.ย.65 ที่มีการกำหนดราคาตามแผนฯ เอาไว้ 222-341 บาทต่อล้านบีทียู  ราคาจริงก็ขึ้นไปอยู่ที่ 384-450 บาทต่อล้านบีทียู สูงกว่าราคาต้นทุนที่ตั้งเอาไว้ตามแผนฯ 32% ส่งผลให้ กฟผ. ต้องแบกภาระค่าไฟแทนประชาชน 44,067 ล้านบาท ทำให้ 2 งวดค่าไฟฟ้าที่ผ่านมา กฟผ. แบกภาระแทนประชาชนไปแล้ว 83,010 ล้านบาท 

แน่นอนว่า กระทบกับสภาพคล่องของ กฟผ. ในการนำไปซื้อก๊าซธรรมชาติ เพื่อรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าของคนไทย  เพราะที่ผ่านมา แนวโน้มก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย มีปริมาณลดลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับ การนำเข้าจากเมียนมา ที่มีกำลังผลิตลดลงเช่นกัน เนื่องจากเป็นปลายสัญญาสัมปทาน จำเป็นต้องลดลงตามสัญญา จึงกระทบกับการนำเข้าของประเทศไทย 

สวนทางการความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ กฟผ. ต้องนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG แบบสัญญาจร (Spot LNG) ซึ่งเป็นสัญญาระยะสั้นที่มีต้นทุนแพงกว่า จากตลาดโลกมาทดแทนอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีก๊าซธรรมชาติที่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าและใช้ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ  ซึ่ง Spot LNG  มีราคาสูงถึง 1,100 – 1,200 บาทต่อล้านบีทียู เป็นกลไกหนึ่งในการดันราคาเฉลี่ยก๊าซธรรมชาติให้ปรับเพิ่มขึ้น 

ถึงยุคค่าไฟแพง Ft สูงสุดในประวัติศาสตร์ จะเกิดขึ้นเดือนก.ย.นี้ หรือไม่?

ดูประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2565 กฟผ.คาดการณ์ว่า ตลอดทั้งปี 2565 จะมีกการใช้ไฟฟ้า 200,925 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3% ขณะที่ 2566 จะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้า 206,177 ล้านหน่วย หรือ เพิ่มขึ้น 2.6% ส่วนการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีคในแต่ละปี กฟผ. คาดการณ์ว่า ปี 2565 จะอยู่ที่ 31,024 เมกะวัตต์ ซึ่งพีคส่วนใหญ่จะอยู่ในฤดูร้อนของไทย แต่ในช่วง23 เม.ย. 2565 พีค อยู่ที่ 30,936.5 เมกะวัตต์ ยังคงต่ำกว่าประมาณการณ์เล็กน้อย สาเหตุหลักมาจากอากาศในปีนี้ ที่ไม่ร้อนเท่าปีก่อนๆ ทำให้พีคอาจไม่ถึง แต่ต้องดูปริมาณการใช้ไฟฟ้า หลังปลดล็อคกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีโอกาสที่จะทะลุเป้าได้ 

ถึงยุคค่าไฟแพง Ft สูงสุดในประวัติศาสตร์ จะเกิดขึ้นเดือนก.ย.นี้ หรือไม่?

ซึ่งหากกฟผ.อุดหนุน ในทุกๆ การใช้ไฟฟ้า จะเป็นต้นทุนของ กฟผ. ดังนั้น ต้องทำให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เช่นเดียวกับ เราไม่สามารถให้ใครจ่ายค่าไฟฟ้าแทนเราได้ตลอดไป ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ Ft จึงมีแนวโน้มปรับขึ้น ตามราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่กล่าวไปแล้ว ไม่เท่านั้น ต้องใช้หนี้ให้ กฟผ. ด้วย ดังนั้น จึงมีหลายคนพูดค่า ค่า Ft อาจแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ 

ดูด้านล่าง นี่คือข้อเสนอของ กฟผ. ผู้ที่แบกรับภาระไปแล้ว 83,010 ล้านบาท ใน 2 งวดล่าสุด ไม่รวมงวดปัจจุบัน พ.ค.-ก.ย.65 ซึ่ง กฟผ. ประเมินว่า น่าจะอยู่ที่ระดับ 1 แสนล้านบาท หากไม่ดำเนินการอะไร จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง

กฟผ. จึงมีข้อเสนอ ให้ปรับขึ้นค่า Ft งวด ก.ย.-ธ.ค.2565 ให้อยู่ที่ 236.97 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 2 บาท 36 สตางค์ ซึ่งเป็นระดับที่ สูงที่สุดในประวัติศาตร์ จากที่เคยสูงสุด 95.81 สตางค์ หรือ เกือบๆ 1 บาท และ ทำให้เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานเดิม ที่อยู่ราว 3.78 บาท จะไปอยู่ที่ 6.12 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หากคิดระดับนี้ จะทำให้ กฟผ. ได้รับสภาพคล่อง ที่จ่ายแทนภาคประชาชนไป 83,010 ล้านบาท กลับคืนมาทั้งหมด นี่คือข้อเสนอของ กฟผ. ผู้ผลิตและซื้อไฟฟ้า ตามความต้องการของประชาชนชาวไทย  

แต่ดูแล้ว ความเป็นไปได้ในรูปแบบนี้ค่อนข้างน้อย กกพ. จึงออก 3 แนวทางในการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ Ft งวด ก.ย.-ธ.ค.65 โดยแนวทางแรก ให้เก็บค่า Ft เริ่มต้นที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งสะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าจริง แต่ต้องชดเชยภาระให้กับ กฟผ.ด้วย โดยชำระ 45.70 สตางค์ เพิ่มไปในค่า Ft  ซึ่งจะลดภาระให้ กฟผ. ได้ 26,429 ล้านบาทในงวดนี้ ทำให้มีค่าไฟฟ้าต่อหน่วย 5.17 บาท 

แนวทางที่ 2 ค่า Ft เริ่มต้นเหมือนกันที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ชดเชยให้ กฟผ 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ลดภาระให้ กฟผ.ได้ 13,214 ล้านบาท แต่ก็ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.95 บาท และ แนวทางที่ 3 แนวทางสุดท้าย คิดเฉพาะค่า Ft 93.43 บาทต่อหน่วย ไม่มีการชดเชยให้ กฟผ. ซึ่งรูปแบบนี้จะทำให้ ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย 

ถึงยุคค่าไฟแพง Ft สูงสุดในประวัติศาสตร์ จะเกิดขึ้นเดือนก.ย.นี้ หรือไม่?

ขณะที่ ความเห็นของ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า การพิจารณาขึ้นค่าไฟฟ้า ยังต้องติดตามต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งปรึกษาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามกฎหมาย รวมทั้งต้องฟังความคิดเห็นของกระทรวงพลังงานด้วย จึงตัดสินใจขึ้นราคาหรือไม่ เพราะเชื่อว่า ยังอีกหลายวิธีในการดำเนินการ ถ้ามองในคอมเมนต์นี้ ยังมีโอกาสที่ค่าไฟฟ้าจะไม่ปรับขึ้น แต่ไม่รู้จะเป็นการให้ความหวังภาคประชาชน แล้วสุดท้ายก็ขึ้นราคาอยู่ดี หรือไม่ 

ถึงยุคค่าไฟแพง Ft สูงสุดในประวัติศาสตร์ จะเกิดขึ้นเดือนก.ย.นี้ หรือไม่?

ขณะที่ภาคเอกชน อย่างนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า เป็นหนึ่งในต้นทุนการผลิตสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นอีก เช่นเดียวกับ ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาทอ่อนค่า และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยขาดสมดุล หากไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ว่าจะเลือกทางไหน จะกระทบกำลังซื้อประชาชน และเอสเอ็มอี จะยิ่งลำบากมากขึ้น 

หมายความต้นทุนในการผลิตสินค้า ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยดังกล่าว รัฐหากปล่อยให้ค่าไฟฟ้าเป็นไปตามกลไกแล้ว จะยอมให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกหรือไม่ 

ถึงยุคค่าไฟแพง Ft สูงสุดในประวัติศาสตร์ จะเกิดขึ้นเดือนก.ย.นี้ หรือไม่?

ขณะที่ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และพลังงาน เปิดเผยว่า การพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า Ft รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 ของกกพ. ซึ่งมีแนวทางออกมาหลายรูปแบบนั้น เชื่อว่า รัฐบาลจะเลือกรูปแบบที่มีผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด เพราะปัจจุบันค่าครองชีพของคนไทยสูงอยู่แล้ว หากขึ้นค่าไฟฟ้ามาก จะมีผลต่อกำลังซื้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.พรายพล เชื่อว่า มีการปรับขึ้นค่าไฟต่อเนื่องเป็นงวดที่ 3 ติดต่อกันอย่างแน่นอน เพียงแต่จะเป็นเท่าใด ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะหาเงินเข้ามาอุดหนุนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะยังเชื่อว่า ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นจากผลกระทบรัสเซีย-ยูเครนนั้น ยังคงเป็นช่วงสั้นๆ เมื่อเหตุการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว รัฐบาลสามารถจัดเก็บเงินชดเชยได้ แต่ปกติแล้วรัฐบาลจะนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาช่วยอุดหนุนค่า Ft แต่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ก็ติดลบไปกว่า 1.1 แสนล้านบาท จึงเป็นความท้าทายอย่างมากของรัฐบาล 

สำหรับแนวทางการปรับขึ้นนั้น เชื่อว่ารัฐบาลจะปรับขึ้นค่า Ft อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่สามารถขึ้นรอบเดียวเต็มที่กว่า 2 บาท ตามที่กฟผ.นำเสนอได้ แต่อย่างไรก็ตามเห็นใจหน่วยงานที่รับภาระ เนื่องจากค่าก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ยังต้องติดตาม ปลายเดือนก.ค.นี้ หรือต้นเดือนส.ค. จะมีการพิจารณาราคาค่าไฟฟ้าผันแปรสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร รัฐบาลจะหาแนวทางในการดูแลได้หรือไม่หรือปล่อยให้เป็นไปตามกลไก 

ซึ่งมันจะขยับขยายไปยังค่าสินค้าและบริการต่างๆ ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นอีกและยังกระทบกับค่าครองชีพ เชื่อมโยงไปภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง รัฐบาลจะยอมได้แค่ไหน ต้องติดตามไปพร้อมกัน 


ภาพจาก TNN ONLINE



ข่าวแนะนำ