"เงินบาท"อ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 15 ปี 9 เดือน สัปดาห์หน้าจับตาปัจจัยสำคัญอะไรบ้าง?
ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์หน้า จะอยู่ในกรอบ 36.40-37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ แนะติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ-ทิศทางเงินทุนต่างชาติ
ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาท อ่อนค่าไปแตะ 36.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2549 หรือในรอบเกือบ 15 ปี 9 เดือน ท่ามกลางทิศทางที่แข็งแกร่งของค่าเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ประกอบกับภาพรวมของสกุลเงินในเอเชียก็เผชิญแรงกดดันในระหว่างสัปดาห์ จากความกังวลเกี่ยวกับสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิดในจีน ซึ่งกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าลง
อย่างไรก็ดี เงินบาท และสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันก่อนการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 26-27 ก.ค. นี้
โดยในสัปดาห์หน้า (25-29 ก.ค.) ธนาคารประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ เงินบาท ว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36.40-37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 26-27 ก.ค. ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัด และเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนมิ.ย.
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนีราคา PCE/Core PCE Price Index เดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพี 2Q/65 ของสหรัฐฯ ยุโรปและเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ที่ 22 ก.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.70 (ระหว่างสัปดาห์ แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบประมาณ 15 ปี 9 เดือน ที่ 36.95) เทียบกับระดับ 36.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (15 ก.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 889 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 3,534 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 2,455 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 1,079 ล้านบาท)
ข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ภาพจาก: AFP ,TNN ONLINE