เงินเฟ้อ สหรัฐพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี กระทบการลงทุนอย่างไร?
"กอบศักดิ์" ชี้ หลังสหรัฐประกาศตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งสูงเกินคาด คาดส่งผลต่อการลงทุนในช่วงนี้ นักลงทุนเดาทิศทางลำบาก เหตุตลาดมีความผันผวนหนัก
ตามที่สหรัฐได้เปิดเผยตัวเลข เงินเฟ้อ เมื่อคืนนี้พุ่งขึ้นมาที่ 9.1% สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 8.8% และเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ได้สร้างความกังวลต่อนักลงทุนที่ยังคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบมาถึงภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เป็นป่จจัยที่กดดันต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อคืน และเช้านี้ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียก็ปรับตัวลงตามกัน
วันนี้(14 ก.ค.65) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หลังตัวเลข เงินเฟ้อ สหรัฐออกมาเกินคาดที่ 9.1% ตลาดก็เหวี่ยงใส่นักลงทุนทันที โดยจะเห็นได้จากตลาดค่าเงินที่ผันผวนหนัก ดัชนีดอลลาร์ที่สวิงไปมาบวกลบ 1% จาก 107.7 แข็งค่าไปที่ 108.6 และอ่อนลงมาที่ 107.4 ส่วนเงินยูโรที่ Break Parity ไปช่วงพริบตา ก่อนจะกลับมาที่เดิม
สำหรับตลาดหุ้นก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน Dow Jones Future, Nasdaq Future รวมไปถึงตลาดอื่นๆ ทั่วโลก ปรับลดลงทันที คนละหลายร้อยจุด หลังตลาดเปิด ตลาดก็ค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ท้ายที่สุดก็ปรับลดลงอีก เมื่อนักวิเคราะห์เริ่มออกมาพูดมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ตัวเลข เงินเฟ้อ ที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้ เฟดจำเป็นที่จะต้องจัดยาแรงต่อไปอย่างน้อย 0.75% ในการประชุมปลายเดือนนี้
นอกจากนี้ ตัวเลข Fed Funds Futures เริ่มชี้ว่า ตลาดคิดว่าในการประชุมปลายเดือนนี้ในวันที่ 26-27 ก.ค. มีโอกาสถึง 67% ที่เฟดจะขึ้น ดอกเบี้ย 1.0% ทำให้ทุกสายตามองไปว่า เฟดจะเลือกชุดยาที่แรงขึ้นจากเดิมอีกหรือไม่ หรือจะไปกับ 0.75% ตามที่บอกไว้ก่อนหน้า
"การคาดเดาเหล่านี้ ทั้งหมดเป็นผลมาจาก "อัตราการเร่งตัวของ เงินเฟ้อ" ที่เห็นจากข้อมูลเงินเฟ้อที่ประกาศออกมา Headline Inflation เดือนล่าสุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า +1.3% Core Inflation เพิ่มจากเดือนก่อนหน้า +0.7% สูงสุดในรอบ 12 เดือน สะท้อนว่า เงินเฟ้อยังมีแรงส่งอีกมาก" นายกอบศักดิ์ ระบุ
นอกจากนี้ การที่ Core inflation ได้หักเอาราคาน้ำมันออกแล้ว ราคาน้ำมันโลกที่ลดลงในเดือนกรกฏาคม ก็พอจะช่วยให้ Headline inflation ลดในเดือนถัดๆ ไปได้บ้าง แต่ Core inflation ซึ่งเฟดจับตามองอย่างใกล้ชิด อาจจะไปต่ออีกระยะ ทั้งหมดนี้ หมายความว่า เฟดยังต้องใช้ยาแรงต่อ
กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพมองว่าในช่วงนี้จะลงทุนยาก เพราะการปรับตัวของ Assets ต่างๆ ช่วงนี้ ไม่ได้ขึ้นกับ Fundamentals อย่างเดียว การดูกราฟก็มีข้อจำกัด เพราะที่ทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นลง นอกจากได้รับผลจากตัวเลขต่างๆ แล้ว ยังมีผลจากคำพูดของทางการ และจากการปั่นตลาดของนักวิเคราะห์ ที่กำลังคาดเดาประเมินทิศทางว่าแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
" เงินเฟ้อ จะปรับตัวอย่างไร ตกลงเศรษฐกิจยังไปได้ หรือไปไม่ได้แล้ว สิ่งที่อยู่ในใจเฟดคืออะไร เฟดจะเอาจริงแค่ไหน เฟดจะทำอะไรต่อไป คาดขึ้นวัน คาดลงวัน ทั้งหมดนี้ตลาดจึงผันผวนเป็นพิเศษ และทำให้การปรับตัวของตลาดมาจากการคาดเดาต่างๆ เหล่านี้ไปอีกระยะ"
ภาพประกอบจาก : FB กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ภาพประกอบจาก : FB กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ภาพประกอบจาก : FB กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ข้อมูลจาก : FB กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ภาพจาก : AFP,TNN ONLINE