เงินบาท กลับมาอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่งอีกครั้ง เพราะสาเหตุอะไร?
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาผันผวน โดยกลับมาอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่งครั้งใหม่ คาดสัปดาห์หน้า เคลื่อนไหวในกรอบ 35.00-36.00 บาทต่อดอลลาร์
วันนี้ (2 ก.คง65) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมความเคลื่อนไหวของ เงินบาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมากลับมาอ่อนค่าลง และทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่งครั้งใหม่ที่ 35.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ
โดย เงินบาท ขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ มีแรงหนุนจากความหวังต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี และมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากสัญญาณซื้อสุทธิหุ้นไทยของต่างชาติ และการขยับแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินเอเชียตามทิศทางของค่าเงินหยวน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากรายงานข่าวที่ระบุว่า ทางการจีนเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขาย ซึ่งอาจจะเป็นการปรับโพสิชันก่อนจบช่วงครึ่งแรกของปี และพลิกกลับมาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่งครั้งใหม่ในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประกอบกับสัญญาณล่าสุดจากประธานเฟดยังคงย้ำถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับความเสี่ยงที่ปัญหาเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงยาวนาน
สำหรับวันศุกร์ที่ 1 ก.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 มิ.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.-1 ก.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 2,495 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET INFLOW เข้าสู่ตลาดพันธบัตร 62.2 ล้านบาท (โดยแม้ต่างชาติจะซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 482.2 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 420 ล้านบาท)
โดยในสัปดาห์ถัดไป (4-8 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 35.00-36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์เงินทุนต่างชาติ และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของไทย ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือนมิ.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมิ.ย. ของจีน ยุโรป และอังกฤษ และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค.ของยุโรปด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ภาพจาก : AFP ,TNN ONLINE