เงินเฟ้อ พ.ค.65 พุ่ง 7.10% สูงสุดในรอบ 13 ปี
พาณิชย์เผยราคาน้้ำมัน สินค้าปรับตัวสูงหลายรายการ และมาตรการเยียวยาภาครัฐหลายโครงการสิ้นสุดลง ดันอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2565 พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ที่ 7.10% สูงสุดในรอบ 13 ปี
วันนี้( 6 มิ.ย.65) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า อยู่ที่ 106.62 เป็นอัตราที่ขยายตัว 7.10% สูงขึ้นต่อเนื่องจาก 4.65% ในเดือนก่อนหน้า แต่ถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ในเดือนเมษายน 2565 สูงขึ้น 8.3% สูงสุดในรอบ 40 ปี และอินเดีย สูงขึ้น 7.7% สูงสุดในรอบ 8 ปี ซึ่งไทย ยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยเป็นผลมาจากราคาพลังงาน สูงขึ้น 37.24% ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้น 35.89% ประกอบกับมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพภาครัฐ สิ้นสุดแล้วหลายโครงการ ทั้งช่วยเหลือค่าไฟฟ้า และก๊าซหุ้งต้ม ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น 45.43% และก๊าซหุงต้มสูงขึ้น 8%
สำหรับราคาสินค้าและบริการ ที่นำมาคำนวณเป็นอัตราเงินเฟ้อ จำนวน 430 รายการ มีสินค้า ที่ปรับราคาสูงขึ้น 298 รายการ เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าน้ำประปา และกับข้าวสำเร็จรูป ส่วนราคาไม่เปลี่ยนแปลง 54 รายการ และสินค้าที่ราคาลดลง 78 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และค่าธรรมเนียมการศึกษา
ดังนั้น จึงส่งผลทำให้ใน 5 เดือนแรกของปี 2565 อัตราเงินเฟ้อ สูงถึง 5.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในเดือนหน้า (มิถุนายน) ยังอยู่ในขาขึ้น จากราคาน้ำมันที่นังทรงตัวในระดับสูง และมีการขยายเพดานตรึงราคาดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม ที่เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได และการปรับค่าเอฟทีไฟฟ้า รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการที่สูงขึ้นตามต้นทุน แต่ยังพอมีสัญญาณที่ดี หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมจะไปเยือนซาอุดีอาระเบีย เพื่อเจรจาให้ผลิตน้ำมันเพิ่ม อาจจะส่งผลดีให้ราคาน้ำมันปรับลดลง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2565 ตามเดิม ในกรอบ 4-5% หรือเฉลี่ยที่ 4.5 โดยจะทบทวนอีกครั้ง เมื่อมีปัจจัยที่กระทบต่อสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างมีนัยสำคัญขณะนั้น
ข้อมูลจาก : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
ภาพจาก : TNN Online