" กรมทางหลวง"ชวนเที่ยว 5 เขื่อนยอดฮิตวันหยุดยาว หวังฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ
กรมทางหลวงชวนคนไทยแชะ แชร์ โพสต์เที่ยว 5 เขื่อนช่วงวันหยุดยาวเดือนพฤษภาคมวิวสวย หวังฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระแสการเที่ยวเขื่อนกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 90 % เกิดขึ้นจากโครงการในพระราชดำริฯ เพื่อทำหน้าที่กักเก็บน้ำ และใช้ในการเกษตรกรรม อุปโภค บริโภค ใช้สำหรับป้องกันน้ำท่วมฉับพลันในฤดูที่น้ำไหลหลาก และเขื่อนยังมีหน้าที่หลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า
ปัจจุบันหลายเขื่อนได้กลายเป็น “จุดท่องเที่ยว” ที่ประชาชนสามารถเข้ามาพักผ่อน ดังนั้น กรมทางหลวงจึงได้รวบรวม “5 เส้นทางชมเขื่อน” มาให้เป็นตัวเลือกให้กับนักท่องเที่ยว โดยกรมทางหลวงได้ทำความสะอาด ตกแต่ง ปรับปรุงป้ายให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เพื่อรองรับการเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้
1.เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา เป็นเขื่อนดิน บริเวณรอบขอบเขื่อนเก็บน้ำจะอยู่ติดริมทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) มีทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สาย บางปะอิน – โคราช ระยะทาง 196 กิโลเมตร ขนานทอดยาวไปตามแนวเขื่อน โดยสื่อสังคมออนไลน์ได้ยกให้เป็นถนนลอยฟ้าที่สวยที่สุดในประเทศไทย สำหรับการเดินทางจากอำเภอปากช่อง ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) มุ่งหน้าโคราช อยู่ระหว่าง กม.184 – 193
2.เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆของ จ.ตาก และเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำให้แก่เกษตรกร เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 1357 ที่ กม.15+050 ตอน ทางเข้าเขื่อภูมิพล ตัดจากถนนหมายเลข 1 ที่กม. 566+600 ด้านซ้ายทาง ตอน วังม่วง – แม่เชียงรายบน
3.เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี ตั้งอยู่บนแม่น้ำแควน้อย เพื่อประโยชน์ด้านชลประทานและผลิตไฟฟ้า ตัวอ่างเก็บน้ำอยู่ในส่วนท้องที่อำเภอทองผาภูมิ, อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เขื่อนวชิราลงกรณ์จึงจัดเป็นเขื่อนอเนกประสงค์และยังเป็นเขื่อนหินถมแห่งแรกของประเทศไทย
การเดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 มุ่งหน้าจังหวัดราชบุรี ระยะทางประมาณ 65 กิโลเมตร และใช้ทางหลวงหมายเลข 323 ต่อเนื่องทางหลวงหมายเลข 3272 มุ่งหน้าอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร ทางเข้าเขื่อนวชิราลงกรณ์จะอยู่ทางขวามือ
4.เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทยและเป็นสายเลือดใหญ่ที่ใช้ประโยชน์ทางด้านชลประทานและการทดน้ำเพื่อการเกษตรโดยระบายน้ำจากแม่น้ำในภาคเหนือสู่ภาคกลางและอ่าวไทย ส่งต่อไปยังพื้นที่เพาะปลูกภาคกลาง การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 311 ชัยนาท จากอำเภอเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 304 และเลี้ยวซ้ายทางไปอำเภอสรรพยา ประมาณ 6 กิโลเมตร
5.เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา อยู่ในเขตอำเภอปักธงชัย เขื่อนลำพระเพลิง แห่งนี้ก็มีชื่อเสียงเรื่องความสวยงามทางธรรมชาติที่โดดเด่น ด้วยลักษณะภูมิประเทศ สองฟากฝั่ง เป็นป่าไม้เขียวขจีร่มรื่น และตอนต้นแม่น้ำยังมีน้ำตกสวยงามต่าง ๆ นักท่องเที่ยว ทั่วไปมักนิยมเดินทางมาชมทัศนียภาพ วิวทิวทัศน์และตากอากาศแถวบริเวณเขื่อน การเดินทางจากสี่แยกลำพระเพลิง บนทางหลวงหมายเลข 304 บริเวณ กม.267+692 เดินทางมุ่งหน้าเขื่อนลำพระเพลิงอีก 28 กิโลเมตร
ทั้งนี้ กรมทางหลวงให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน รวมไปถึงดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศโดยการสัญจรทางถนน ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่และสร้างเส้นทางแห่งการท่องเที่ยวต่อไป กรมทางหลวงขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวไม่จอดยานพาหนะกีดขวางการจราจรบนทางหลวง
นอกจากนี้ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวเดินทางอย่างปลอดภัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อม โปรดขับรถด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง และปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุขภายใต้วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ “ท่องเที่ยวสุขใจ ห่างไกลโควิด - 19” สวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง หากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง)
ที่มา กรมทางหลวง
ภาพประกอบ กรมทางหลวง