น้ำมันดิบ ปิดลบ 7.54 ดอลลาร์ สหรัฐฯ ระบายน้ำมันในคลังสำรอง สกัดราคาพุ่ง
น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปิดลบ 7.54 ดอลลาร์ ปิดที่ 100.28 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังสหรัฐฯ ยืนยันว่าจะระบายน้ำมันในคลังสำรอง จำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน
วันนี้ (1 เม.ย.65) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 7% ในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) หลังสหรัฐฯ ยืนยันว่าจะระบายน้ำมันในคลังสำรองจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 7.54 ดอลลาร์ หรือ 7% ปิดที่ 100.28 ดอลลาร์/บาร์เรล สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 5.54 ดอลลาร์ หรือ 4.9% ปิดที่ 107.91 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์เมื่อคืนนี้ตามเวลาไทยว่า สหรัฐฯจะระบายน้ำมันในคลังสำรองจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วันเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน และบรรเทาภาวะเงินเฟ้อในประเทศ
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ แถลงในวันพฤหัสบดี ตามเวลาท้องถิ่น ว่า เริ่มเดือนพฤษภาคมนี้ สหรัฐฯจะปล่อยน้ำมันดิบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันนาน 6 เดือนจากคลังสำรองน้ำมันด้านยุทธศาสตร์ หรือเอสพีอาร์ (SPR) พร้อมระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ คือการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน และยังโจมตีบริษัทน้ำมันต่าง ๆ โดยกล่าวว่า นี่ไม่ใช่เวลาที่จะนั่งอยู่บนผลกำไรมากมายเป็นประวัติการณ์ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ดีเพื่อประเทศชาติ
นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยังต้องการให้รัฐสภาสหรัฐฯ มีมาตรการลงโทษทางการเงินกับบริษัทพลังงานที่ไม่ผลิตเชื้อเพลิงเพื่อรองรับความต้องการในปัจจุบัน รวมทั้งผลักดันการขุดเจาะแร่ธาตุเพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อผลักดันพลังงานสะอาดและลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอีกทางหนึ่ง
ท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ สะท้อนว่าเรื่องน้ำมันยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวของสหรัฐฯ และประเด็นราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ได้กระทบต่อคะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีไบเดน โดยที่ผ่านมา ไบเดน ได้สั่งระบายน้ำมันดิบจากคลังสำรองมาแล้วสองครั้ง แต่กลับไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ตลาดน้ำมันโลกมากเท่าใดนัก ซึ่งในครั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาคาดว่าราคาน้ำมันอาจลดลงได้ “อย่างค่อนข้างมีนัยสำคัญ”
หลังมาตรการดังกล่าวออกมา ราคาน้ำมันดิบโลกร่วงลงร้อยละ 5 ในการซื้อขายเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ระดับต่ำกว่า 104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ยังถือว่าสูงกว่าระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อปีก่อน
ภาพจาก AFP