ประชาชนยังนิยมใช้เงินสดชำระค่าสินค้าและบริการ แม้ e-payment สะดวกกว่า
ธปท.เผยพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทยนิยมใช้เงินสด มากกว่า e-payment แม้จะมีความพร้อมด้านอุปกรณ์ หรือเคยมีประสบการณ์ทดลองใช้ e-payment มาแล้วก็ตาม
วันนี้(19 ม.ค.65) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปอชิดเผยโครงการสำรวจการบันทึกพฤติกรรมการชำระเงินประจำวันของประชาชน หรือ Payment diary จากกลุ่มตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 6,020 ตัวอย่าง โดยสำรวจในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2564 ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอก 3 พบว่ากลุ่มตัวอย่างทุกคนยังคงพกเงินสดติดตัว โดยร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่าง ยังคงใช้เฉพาะเงินสดเพื่อจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ใช้ที่ตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหารริมทาง และร้านรถเข็น แต่ก็พบว่ากลุ่มตัวอย่างอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยกว่า มีการใช้ชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-payment เป็นทางเลือกหลัก จึงอาจตีความได้ว่าปริมาณการใช้ e-payment ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น น่าจะกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มเท่านั้น แม้ผลการสำรวจจะบ่งชี้ว่าคนไทยในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 92 มีอุปกรณ์ที่รองรับการชำระเงินผ่าน e-payment และเคยทดลองใช้แล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การสำรวจยังเผยให้เห็นชัดว่า โครงการช่วยเหลือของภาครัฐในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเฉพาะโครงการ "คนละครึ่ง" เป็นแรงจูงใจสำคัญในการส่งเสริมให้คนไทยทดลองใช้ และเปลี่ยนพฤติกรรมให้หันมาชำระเงินด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" มากขึ้น ขณะเดียวกันร้านค้าก็ปรับตัวเพื่อรับชำระเงินด้วย e-payment ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โชห่วย หาบเร่แผงลอยในตลาดนัด หรือฟูดดิลิเวอรี ทำให้สัดส่วนปริมาณการใช้แอปฯ เป๋าตังในช่วงของการสำรวจสูงกว่าการใช้ e-payment ช่องทางอื่น
แต่ผลการสำรวจ Payment diary พบข้อมูลที่น่าแปลกใจว่า หากโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐสิ้นสุดลง มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 27 ที่จะยังใช้แอปฯ เป๋าตังต่อ และอีกร้อยละ 36 จะใช้ mobile banking เพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 65 จะกลับไปใช้เงินสด โดยตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการชำระเงินที่สำคัญของไทยคน ได้แก่ ความเคยชินในการชำระเงิน และการยอมรับหรือความต้องการของร้านค้า รวมถึงยังมีความคิดว่าการใช้เงินสดทำได้รวดเร็วกว่าการใช้ e-payment
อย่างไรก็ดี แม้ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันคนไทยยังคงใช้เงินสดเป็นสื่อการชำระเงินหลัก แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็หันไปใช้ e-payment ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น จึงคาดการณ์ได้ว่าในระยะยาวความต้องการเงินสดน่าจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสนับสนุนการมุ่งเข้าสู่การเป็นสังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง (less-cash society) ของประเทศไทย แต่คงต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือร่วมจากภาคส่วน
ที่มา : ธปท.
ภาพประกอบ : AFP ,TNN Online