เปิดพฤติกรรม Gen ไหน ใส่ใจโลกร้อน
เปิดพฤติกรรม Gen ไหน ใส่ใจโลกร้อน
ในแต่ละปีเกิดภัยธรรมชาติจากสภาพอากาศเลวร้าย ที่สร้างความสูญเสียทั้งในแง่เม็ดเงินและชีวิตของผู้คนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ปัญหาโลกร้อนกลายเป็นวาระสำคัญของทุก ๆ คน ซึ่งผลศึกษาพบว่าไม่ได้มีแค่คนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องนี้อย่างที่เข้าใจกัน แต่คนรุ่นเก่าก็ไม่ได้เพิกเฉย
ปี 2564 ที่ผ่านมา เป็นปีที่โลกเผชิญกับภัยพิบัติจากสภาพอากาศเลวร้ายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และคิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล รายงาน Counting the cost 2021: A year of climate breakdown ขององค์กร Christian Aid รวบรวมภัยพิบัติเกี่ยวกับสภาพอากาศที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจรุนแรงที่สุด 10 เหตุการณ์ ในปี 2564 โดยมีความเสียหายรวมกันราว 1.7 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าปี 2563 ราว 2 หมื่นดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ในจำนวนภัยพิบัติรุนแรงสุดทั้ง 10 มี 4 เหตุการณ์เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย มีความเสียหายรวม 2.41 หมื่นล้านดอลลาร์
ภัยพิบัติที่มีมูลค่าความเสียหายมากสุดในปีที่ผ่านมา คือ เฮอริเคนไอดา พายุรุนแรงสุดอันดับ 5 ที่พัดถล่มสหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคม เสียหายราว 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ // อันดับ 2 คือ เหตุน้ำท่วมในยุโรป มูลค่าความเสียหายราว 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ // อันดับ 3 คือ พายุหิมะที่พัดถล่มรัฐเท็กซัสในสหรัฐฯ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ // อันดับ 4 เหตุน้ำท่วมในจีน ความเสียหาย 1.76 หมื่นล้านดอลลาร์ // และอันดับ 5 น้ำท่วมในแคนาดา เสียหาย 7.5 พันล้านดอลลาร์
สำหรับอันดับ 6-10 ได้แก่ คลื่นความเย็นในฝรั่งเศส 5.6 พันล้านดอลลาร์ // พายุไซโคลนยาอาสที่ถล่มอินเดียและบังกลาเทศ 3 พันล้านดอลลาร์ // น้ำท่วมออสเตรเลีย 2.1 พันล้านดอลลาร์ // ไต้ฝุ่นอินฟาถล่มจีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เสียหาย 2 พันล้านดอลลาร์ // และพายุไซโคลนเตาะแต่ที่พัดถล่มอินเดีย ศรีลังกา มัลดีฟส์ เสียหายราว 1.5 พันล้านดอลลาร์
ข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในบางภูมิภาค เช่น ตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และขณะนี้ภัยพิบัติกำลังเกิดขึ้นในสถานที่ทางภูมิศาสตร์ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดการณ์กันว่า ปี 2565 ความเสียหายจากภัยพิบัติจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภัยแล้งที่จะรุนแรงขึ้นทุกพื้นที่ รวมถึงแนวโน้มการเกิดไฟป่าที่รุนแรงขึ้น ทำให้ความเป็นไปได้ลดลงในการทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม
ด้าน “สวิส รี” (Swiss Re) บริษัทรับประกันภัยต่อ (Reinsurer) ประมาณการว่า ภายในปี 2593 การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอาจทำให้ทั่วโลกสูญเสียจีดีพีราว 23 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 11-14 ของจีดีพีทั้งโลก ขณะที่ในปี 2563 จีดีพีโลกมีมูลค่าอยู่ที่ 84.5 ล้านล้านดอลลาร์
วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่เรื่องของคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่ต้องกังวล คนสูงอายุก็มีแนวโน้มสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมไม่แพ้กัน
ก่อนหน้านี้ มีความเข้าใจผิดว่าคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสมากกว่าคนรุ่นเก่า แต่ผลการศึกษาของคิงส์คอลเลจลอนดอน (King's College London) และนิตยสารนิวส์ ไซเอนทิสต์ (New Scientist) ที่เผยแพร่เดือนกันยายน พบว่า คนรุ่นเก่าใส่ใจเรื่องนี้ไม่ต่างจากเจนเนอเรชั่นอื่น ๆ หลังทำการสำรวจความเห็นชาวอังกฤษ 2,050 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป ในเดือนสิงหาคมปี 2564
โดยชาวอังกฤษ 7 ใน 10 คน จากเจนเนอเรชั่นต่าง ๆ ตระหนักถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลให้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคนยุคเบบี้บูม อายุ 56-76 ปี ที่ตอบแบบสอบถามร้อยละ 74 ใส่ใจเรื่องนี้ สูงกว่าเจนเนอเรชั่นอื่น ๆ เช่น เจน Z อายุ 18-25 ปี อยู่ที่ร้อยละ 71// เจนมิลเลนเนียล อายุ 26-41 ปี ร้อยละ 70 // และเจน X อายุ 42-55 ปี ร้อยละ 69
ในทุกเจนเนอเรชั่นมีสัดส่วนใกล้เคียงกันเกี่ยวกับความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยแทบไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มเบบี้บูมที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 68 พร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเอง เทียบกับเจน Z ที่มีสัดส่วนร้อยละ 70 ส่วนเจน X อยู่ที่ร้อยละ 66 และเจนมิลเลนเนียล อยู่ที่ร้อยละ 65
รายงานยังพบด้วยว่า ราวร้อยละ 66 ของเจน Z และร้อยละ 57 ของเจนมิลเลนเนียล เห็นด้วยว่าความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมควรมีความสำคัญมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับร้อยละ 44 ในกลุ่มเบบี้บูม และร้อยละ 45 ของเจน X
แต่กลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าปัญหาเรื่องสภาพอากาศควรมีความสำคัญมากกว่า มีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ อย่างกรณีของเบบี้บูมในอังกฤษ ร้อยละ 24 มองว่าสภาพแวดล้อมไม่ควรมาก่อน ในขณะที่ร้อยละ 31 ไม่แน่ใจ
แม้จะมีแนวคิดว่าคนหนุ่มสาวมีความกระตือรือร้นที่สุดในประเด็นเรื่องสภาพอากาศ แต่จริง ๆ แล้ว คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ ที่จะบอกว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะไม่ได้สร้างความแตกต่างมากนัก
จากผลสำรวจ พบว่า ราวร้อยละ 33 ของผู้ตอบแบบสอบถามเจน Z และร้อยละ 32 ของเจนมิลเลนเนียล ในอังกฤษมองว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เพราะแทบจะไม่ได้สร้างความแตกต่างเลย เมื่อเทียบกับสัดส่วนร้อยละ 22 ในกลุ่มเจน X และร้อยละ 19 ในกลุ่มเบบี้บูม
นอกจากนี้ ร้อยละ 61 ของชาวเบบี้บูมในอังกฤษคัดค้านแนวคิดว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เมื่อเทียบกับร้อยละ 54 ของกลุ่มเจน X // ร้อยละ 41 ของคนรุ่นมิลเลนเนียล // และร้อยละ 45 ของเจน Z แต่ทัศนคติของคนในสังคมมักมองว่า กลุ่มคนสูงอายุมีแนวโน้มไม่ใส่ใจเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากที่สุด เพราะไม่มีประโยชน์
โดยผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 49 หรือราวครึ่งหนึ่ง มีความเชื่อว่าคนยุคเบบี้บูมหรืออายุมากกว่านั้นมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรับมือโลกร้อน เทียบกับร้อยละ 30 ที่มองว่าคนเจน X, เจน Z และเจนมิลเลนเนียล ไม่ใส่ใจเปลี่ยนพฤติกรรม ขณะที่ในความเป็นจริง คนกลุ่มเบบี้บูมและอายุมากกว่าเพียงร้อยละ 21 ที่มองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เทียบกับคนอีก 3 เจน ที่รู้สึกแบบนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29
น่าสังเกตว่า คนยุคเบบี้บูมมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 42 ที่เข้าใจผิดว่าคนสูงอายุไม่อยากปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นการประเมินคนรุ่นราวคราวเดียวกันต่ำเกินไป ในขณะที่คนเจน Z ร้อยละ 27 มองได้ถูกต้องว่าคนเจนเดียวกันไม่เห็นประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และในสัดส่วนเท่า ๆ กันมองคนอายุ 65-79 ปี รู้สึกไร้ประโยชน์ที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
มีการกล่าวอ้างอย่างแพร่หลายว่า เจนมิลเลนเนียล และเจน Z เป็นผู้บริโภคที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย โดยให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่ยั่งยืนหรือรับผิดชอบต่อสังคม แต่จริง ๆ แล้ว คนสูงอายุมีแนวโน้มที่จะคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์หรือบริษัทด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความตระหนักเรื่องสังคมมากกว่า ซึ่งสะท้อนว่าความกังวลของผู้สูงอายุไม่ได้แสดงออกด้วยคำพูดเท่านั้น แต่ยังแสดงออกผ่านการกระทำของพวกเขาด้วย
ชาวอังกฤษทั่วไปมองว่า คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะบอยคอตต์สินค้าจากประเด็นความกังวลเรื่องทางสังคมมากกว่า โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 27 คิดว่า เจน Z เป็นกลุ่มใหญ่สุดที่แบนสินค้าไม่ใส่ใจโลกมากสุดในปีที่แล้ว ตามด้วยร้อยละ 23 มองว่า เจนมิลเลนเนียลเป็นแบบเดียวกัน ในขณะที่คาดหวังเจน X ร้อยละ 9 // เจนเบบี้บูม ร้อยละ 8 // และเจนก่อนยุคสงครามโลก ซึ่งอายุมากกว่า 77 ปี แค่ร้อยละ 4
ส่วนในความเป็นจริง กลุ่มเบบี้บูมแบนสินค้าที่ไม่ใส่ใจโลกมากที่สุด ร้อยละ 31 // ตามด้วยเจน X ร้อยละ 28 // เจนมิลเลนเนียล ร้อยละ 22 // เจนก่อนยุคสงครามโลก ร้อยละ 18 // และเจน Z กลับเป็นกลุ่มที่แบนสินค้าที่ไม่ใส่ใจโลกน้อยสุด ร้อยละ 12
คนเจน Z ราวครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 49 มองว่าคนเจนเดียวกันเป็นกลุ่มที่แบนสินค้าไม่ใส่ใจโลกมากสุด มากกว่าความจริงค่อนข้างมาก ในขณะเดียวกัน คนเจนมิลเลนเนียล เจน X และเบบี้บูม ก็มองว่าคนรุ่นใหม่แบนสินค้าเหล่านี้มากกว่าคนสูงอายุ
ความเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่ใส่ใจโลกมากกว่าคนรุ่นเก่า ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่อาจเป็นการกล่าวเกินจริง ในขณะที่โลกต้องการการมีส่วนร่วมของทุก “เจน” ในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือปัญหาโลกร้อนในระยะยาว โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด-19 ที่ยิ่งทำให้เรื่องนี้ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดด้านทรัพยากรและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก