TNN จับตามองทิศทางโลก หลังรู้ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

TNN

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024

จับตามองทิศทางโลก หลังรู้ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

จับตามองทิศทางโลก หลังรู้ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

โลกจะไปในทิศทางไหน ไปซ้ายหรือไปขวา หลังจากรู้ผลว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป คามาลา แฮร์ริส หรือ โดนัลด์ ทรัมป์

ปกติแล้ว การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะพิจารณาจากประเด็นในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ หรือภาษี เพราะมันกระทบต่อชีวิตของพวกเขาโดยตรง แต่ปีนี้ เป็นปีที่อาจมีความแตกต่างจากปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา เพราะประเด็น “ต่างประเทศ” โดยเฉพาะในเรื่อง “สงคราม” ก็ได้กลายมาเป็นอีก “ตัวชี้วัด” ของการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยเหมือนกัน


เพราะประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ จะต้องนำพาประเทศผ่าน “วิกฤต” ที่หลากหลายในหลายภูมิภาคของโลก รวมถึงความรุนแรงที่นับวันจะเลวร้ายและขยายวงยิ่งขึ้นในตะวันออกกลาง, สงครามในยูเครน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ก็ยังไม่ยอมถอย คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือก็ขยันทดลองยิงขีปนาวุธช่วงใกล้เลือกตั้ง รวมถึงความสัมพันธ์ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีแนวโน้มว่าจะตึงเครียดมากขึ้นหลังการเลือกตั้งด้วย


ตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้ง 2 คน คามาลา แฮร์ริส และ โดนัลด์ ทรัมป์ มีความแตกต่างในเรื่องวิสัยทัศน์ต่อประเด็นโลกที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง


ถ้าแต่ละคนชนะ.. . จะส่งผลต่อแต่ละเรื่องยังไง?


🔴 ในแง่มุมต่อพันธมิตร


คามาลา แฮร์ริส แนวทางไม่ต่างจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน คือการสร้างความสัมพันธ์ และการให้คำมั่น ระหว่างตอบรับเป็นตัวแทนพรรคในที่ประชุมใหญ่พรรคเดโมแครรต ว่า “จะยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง เคียงข้างพันธมิตรนาโต”


ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กล่าวในที่ประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน ว่า เขาเสียใจที่สหรัฐฯเป็นผู้เสียผลประโยชน์ จากคนที่เขาเรียกว่าเป็น “พันธมิตร” – หรือพูดอีกแง่ก็คือ ชาติพันธมิตรเหล่านั้น ควรต้องจ่ายเพื่อเข้าถึงตลาดอเมริกา และเพื่อความมั่นคงที่อเมริกาจะมอบให้


แมทธิว แวกซ์แมน นักวิชาการอาวุโส จาก Council on Foreign Relations and chair of Columbia Law School’s National Security Law Program บอกว่า ทรัมป์คิดว่า การที่สหรัฐฯ สนับสนุนพันธมิตร เป็นเรื่องที่แย่มากสำหรับอเมริกา ส่วนแฮร์ริส กลับมองว่า สหรัฐฯ ได้รับประโยชน์มหาศาลจากพันธมิตร


🔴 ตะวันออกกลาง


พื้นที่ที่ร้อนระอุที่สุดในเวลานี้ คงหนีไม่พ้น ตะวันออกกลาง เพราะนับวัน มีแต่การขยายวงของความขัดแย้ง ทั้งอิสราเอล กาซา เลบานอน อิหร่าน และซีเรีย ที่ยังไม่เห็นแม้แต่ร่างของข้อตกลงหยุดยิง


วันที่ 7 ตุลาคม 2023 ที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอล ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง เพราะตะวันออกกลางเป็นดินแดนแห่งความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน แต่ 7 ตุลาคม 2023 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสงครามระลอกใหม่นี้เท่านั้น


เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้อนุมัติงบประมาณความช่วยเหลือด้านการทหาร และการป้องกันขีปนาวุธ ให้กับต่างชาติ มูลค่ากว่า 8,700 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าสหรัฐฯ จะยังคงย้ำจุดยืนการสนับสนุนต่ออิสราเอลแบบไม่มีลดละ แต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เอง ก็เคยเอ่ยปากวิจารณ์แนวทางการทำสงครามของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ว่าทำเกินไป


แฮร์ริส เองก็เคยวิจารณ์อิสราเอล เรื่อง “หายนะด้านมนุษยธรรม” ในฉนวนกาซา และเรียกร้องให้หยุดยิงทันที


จุดยืนหลักของแฮร์ริส ก็คือ “การเน้นย้ำเรื่องสิทธิของอิสราเอลในการป้องกันตนเอง” - แฮร์ริสเคยบอกกับนักข่าวว่า คณะทำงานจะ “ไม่มีวันยอมแพ้” ในเรื่องการเจรจาหยุดยิง และการปล่อยตัวประกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดการหยุดยิง และสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค ที่นับเป็นวาระสำคัญที่สุดของคณะทำงานชุดนี้


แต่แฮร์ริสก็ไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า จะ “ยุติสงครามนี้” หรือการช่วยเหลืออิสราเอลเพิ่มเติมใด ๆ หากได้รับเลือกตั้ง – แต่ย้ำว่า “ทางออกแบบ 2 รัฐคือสิ่งจำเป็นที่สุด”


ส่วนทรัมป์ ผู้ที่เป็นพันธมิตรสำคัญมากคนหนึ่งของเนทันยาฮู ประกาศชัดเจนว่า เหตุการณ์แบบวันที่ 7 ตุลาคมจะไม่มีวันเกิดขึ้น หากเขาอยู่ในตำแหน่ง และกล่าวโทษปธน.ไบเดน ที่ทำให้การโจมตีอิสราเอลเกิดขึ้น เพราะความสัมพันธ์ที่ “อ่อนแอ” กับอิหร่าน


“สิ่งที่จำเป็นมากกว่าอะไร คือการนำภาวะผู้นำที่แข็งแกร่งของอเมริกากลับมา และความเข้มแข็งของอเมริกาที่ไม่ควรมีใครตั้งคำถาม” ทรัมป์กล่าว


การปล่อยให้ฮามาสโจมตีอิสราเอล ยังทำลายความก้าวหน้าใด ๆ ของ Abraham Accords ซึ่งเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของทรัมป์ในเรื่องตะวันออกกลาง ที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิสราเอล และ สหรัฐอาหรับอามิเรตส์, บาห์เรน และ โมรอกโกกลับคืนมา


ทรัมป์ยังหาเสียงว่า ตัวเขาเองที่จะเป็นผู้ยับยั้งความก้าวร้าวของอิหร่านได้ และเขาบอกว่า ไบเดนอ่อนแอเกินไป ..


แต่เรื่องนี้ นักวิเคราะห์บอกว่า มันไม่ได้เกี่ยวกับใครอ่อนแอ หรือเข้มแข็งกว่าใคร .. แต่ขึ้นกับว่า นโยบายใครจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน


🔴 ยูเครน และ นาโต


ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เวเลนสกี ของยูเครน ได้พบกับทั้งแฮร์ริส และทรัมป์แล้วเมื่อช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้ง เพื่อหวังได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ต่อไป


สำหรับแฮร์ริส นี่คือการพบกับผู้นำของยูเครนเป็นครั้งที่ 7 ของเธอ และเธอก็ย้ำที่จะสนับสนุนยูเครนในการสู้กับรัสเซียต่อไป – ไม่ต่างจากสมัยของประธานาธิบดี โจ ไบเดน มากนัก ซึ่งปัจจุบัน สหรัฐฯ ให้เงินช่วยยูเครนไปแล้วราว 1.75 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6.1 ล้านล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2022 - และในที่ประชุมสันติภาพยูเครนที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายน แฮร์ริสก็ประกาศจะช่วยอีก 2,000 ล้านดอลลาร์


แฮร์ริส ย้ำว่า ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับนาโต เปรียบดั่ง “เหล็กกล้า”


แตกต่างอย่างชัดเจนกับทรัมป์ ยังคงปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า ต้องการเห็นยูเครนได้รับชัยชนะเหนือรัสเซียหรือไม่? แต่สิ่งที่ทรัมป์พูดชัดเจนคือ เขาจะลดความช่วยเหลือต่อยูเครนลง ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่า หากทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี จะเป็นประโยชน์ต่อปูตินมากกว่า


และทรัมป์ก็เคยโอ้อวดว่า หากเขาเป็นประธานาธิบดีแทนที่ไบเดน รัสเซียจะไม่มีวันบุกเข้าไปในยูเครนเลย


🔴 จีน กับ สงครามการค้า


การทำการค้ากับต่างประเทศจะเรียกว่าเป็น “เผือกร้อน” สำหรับกับทั้งแฮร์ริส และทรัมป์ ก็ว่าได้


และเชื่อว่า “สงครามเทค” กับจีน จะร้อนแรงขึ้น ไม่ว่าทรัมป์หรือแฮร์ริสได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ - แต่เดโมแครต มีแนวโน้มจะออกกฎใหม่ออกมา ส่วนรีพับลิกัน น่าจะใช้วิธีที่ตรงไปตรงมามากขึ้น


แน่นอนว่าทั้ง 2 ฝ่าย จะพยายามกีดกันสินค้าจากจีน โดยเฉพาะภาคเซมิคอนดัคเตอร์, รถยนต์ไฟฟ้า และสินค้าอื่น ๆ เพื่อหวังกระตุ้นการผลิตในประเทศให้มากขึ้น


แฮร์ริส เคยบอกว่า “เธอต้องการมั่นใจว่า อเมริกา จะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 .. ไม่ใช่จีน” - ส่วนทรัมป์เองเพิ่งจะประกาศไปว่า อาจขึ้นภาษีนำเข้าทางเทคโนโลยีจากจีน 150-200%


และอย่างที่เห็นในคณะทำงานของไบเดน ที่เดินหน้าจัดการกับแพลตฟอร์มออนไลน์จากจีนอย่าง TikTok ที่ไล่จี้ ไล่บี้ซีอีโอของ TikTok ไปก่อนหน้านี้


หากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง - เธอจะพุ่งเป้า และประสานงานกับพันธมิตร เพื่อรับมือจีนมากขึ้น เหมือนสมัยของไบเดน - เช่น จะพูดคุยกับพันธมิตรให้เพิ่มกำแพงภาษีต่อสินค้าจีน อย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน


ส่วนคณะทำงานของทรัมป์ จะเคลื่อนไหวเร็วกว่า และพร้อมที่จะมีบทลงโทษต่อพันธมิตรที่ไม่ฟังมากขึ้น - และเชื่อว่า ทรัมป์จะมีความก้าวร้าวกับนโยบายควบคุมสินค้าจากจีนมากกว่า


สมัยทรัมป์ มีการคว่ำบาตรเทคโนโลยีหัวเว่ย และคาดว่า การออกใบอนุญาตในการส่งสินค้าเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ไปจีน จะถูกปฏิเสธมากขึ้น


ดังนั้น สงครามการค้ากับจีน คาดว่า ทรัมป์ จะแข็งกร้าวมากกว่าแฮร์ริส รวมทั้งจะแข็งกร้าวต่อพันธมิตรที่ไม่ทำตามสหรัฐฯ ด้วย


จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ มีผลโดยตรงต่อทิศทางของโลก ไม่ว่าจะเป็นการค้าหรือสงคราม เพราะแฮร์ริสกับทรัมป์มีแนวคิดในการรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่แตกต่างกัน ทำให้ทั่วโลกกำลังติดตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างใจจดใจจ่อ ว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง