เกาะติดเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 : เจาะลึก 7 รัฐสมรภูมิ ชี้ขาด “ทรัมป์ VS แฮร์ริส” ใครจะชนะ?
เกาะติดเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 : เจาะลึก 7 รัฐสมรภูมิ ชี้ขาดชัยชนะ "โดนัลด์ ทรัมป์ VS คามาลา แฮร์ริส" ที่จะมีคะแนนเสียงรวมกันมากถึง 93 เสียง
เลือกตั้งสหรัฐฯ รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรคเดโมแครต และคู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หาเสียงเต็มวันในวันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายนตามเวลาในสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะเป็นการชนะกันอย่างเฉียดฉิว เนื่องจากคะแนนนิยมของทั้งคู่ยังสูสีกันมาก
โดยแฮร์ริส จะใช้เวลาหาเสียงวันสุดท้ายเต็มวันในรัฐเพนซิลเวเนีย โดยจะจัดการหาเสียงทั้งหมด 5 เวที เริ่มต้นในเมืองสแครนตัน ขณะเดียวกัน ทรัมป์ จะหาเสียงใน 3 รัฐ เริ่มต้นในรัฐนอร์ทแคโรไลนา จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังรัฐเพนซิลเวเนีย และปิดท้ายการหาเสียงชิงทำเนียบขาว ปี 2567 ในรัฐมิชิแกน
ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่า การแข่งขันสูสีกันมาเป็นประวัติการณ์ และทีมรณรงค์หาเสียงของทั้งคู่ กล่าวว่า พวกเขาต่างไม่แน่ใจว่า ใครจะได้รับชัยชนะใน 7 รัฐสมรภูมิ หรือ รัฐสวิงสเตท ซึ่งอาจจะชี้ขาดผลเลือกตั้งนี้ โดยผลโพล พบว่า แฮร์ริส มีคะแนนนำในรัฐไอโอวา ซึ่งเป็นรัฐที่ทรัมป์เคยชนะอย่างง่ายดายในการเลือกตั้งสองครั้งที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด แม้ว่าผลสำรวจของอีกโพลหนึ่งจะแสดงให้เห็นว่า เธอตามหลังในรัฐนี้ก็ตาม
ในการหาเสียงวันสุดท้าย แฮร์ริสพยายามโน้มน้าวให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง หรือ voter เชื่อว่า เธอจะช่วยลดค่าครองชีพ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด หลังสหรัฐฯเผชิญปัญหาเงินเฟ้อติดต่อกันมาหลายปี นอกจากนี้ เธอยังพาดพิงถึงทรัมป์ว่า เป็นคนอันตรายและเอาแน่เอานอนไม่ได้ และเรียกร้องให้ชาวอเมริกันเลิกใช้แนวทางที่สร้างความแตกแยกทางการเมืองของทรัมป์
ส่วนทรัมป์ กล่าวแย้งว่า แฮร์ริส ในฐานะรองประธานาธิบดี ต้องรับผิดชอบต่อราคาสินค้าที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น และผู้อพยพเข้าเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเขาระบุว่า เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของประเทศ
ชาวอเมริกันอย่างน้อย 75 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 50 ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 160 ล้านคนในปี 2563 อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะทราบว่าใครจะเป็นผู้ชนะอย่างเป็นทางการ เนื่องจากรัฐต่าง ๆ เช่น เพนซิลเวเนีย จะต้องใช้เวลาในการรวมคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ด้วย
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เดินทางถึงทำเนียบขาวก่อนวันเลือกตั้ง หลังใช้เวลาพักผ่อนช่วงวันหยุดในเมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ เพื่อมาลุ้นผลเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
เจาะลึก 7 รัฐสมรภูมิ ชี้ขาดชัยชนะ "ทรัมป์ VS แฮร์ริส"
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้ จะถูกตัดสินจากคะแนนเสียงของผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ และคะแนนเสียงจากรัฐสมรภูมิ ที่เรียกว่า Swing States หรือ Battleground States ซึ่งเป็นรัฐที่ไม่ใช่ฐานเสียงของทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน
ทั้งนี้ 7 รัฐที่อยู่ในกลุ่ม Swing States ได้แก่ แอริโซนา จอร์เจีย มิชิแกน เนวาดา นอร์ทแคโรไลนา เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน โดยทั้ง 7 รัฐดังกล่าวมีคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Votes) รวมกันมากถึง 93 เสียง
แอริโซนามีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 11 เสียง โดยนายทรัมป์คว้าชัยชนะในรัฐดังกล่าวในปี 2559 ก่อนที่จะพ่ายแพ้ต่อนายโจ ไบเดนในปี 2563
จอร์เจียมีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 16 เสียง โดยนายทรัมป์คว้าชัยชนะในรัฐดังกล่าวในปี 2559 ก่อนที่จะพ่ายแพ้ต่อนายไบเดนในปี 2563
มิชิแกนมีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 15 เสียง โดยนายทรัมป์คว้าชัยชนะในรัฐดังกล่าวในปี 2559 ก่อนที่จะพ่ายแพ้ต่อนายไบเดนในปี 2563
เนวาดามีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 6 เสียง และได้โหวตให้กับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา
นอร์ทแคโรไลนามีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 16 เสียง โดยนายทรัมป์คว้าชัยชนะในรัฐดังกล่าวทั้งในปี 2559 และ 2563
เพนซิลเวเนียมีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 19 เสียง โดยนายทรัมป์คว้าชัยชนะในรัฐดังกล่าวในปี 2559 ก่อนที่จะพ่ายแพ้ต่อนายไบเดนในปี 2563
วิสคอนซินมีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 10 เสียง โดยนายทรัมป์คว้าชัยชนะในรัฐดังกล่าวในปี 2559 ก่อนที่จะพ่ายแพ้ต่อนายไบเดนในปี 2563
ข่าวแนะนำ