เปรียบเทียบ นโยบายด้านการต่างประเทศ 2 ผู้สมัครเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024
เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 เปรียบเทียบ นโยบายด้านการต่างประเทศ 2 ผู้สมัคร โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง สถานการณ์ตะวันออกกลาง
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2024 นโยบายด้านการต่างประเทศ เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ทั้งโลกให้ความสนใจในการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง สถานการณ์ตะวันออกกลาง อิสราเอล กาซา เลบานอน ไปจนถึงรัสเซียยูเครน วันนี้มีข้อมูลเปรียบเทียบชัดๆ ไปติดตามพร้อมกัน
ทราบกันดีว่า การสู้รบที่ยืดเยื้อ ทั้ง 2 สมรภูมิ ส่งผลกระทบไปทั้งโลก และสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พาไปเปรียบเทียบนโยบายนี้ ของทั้ง 2 ผู้สมัคร โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ตะวันออกกลาง
คามาลา แฮร์ริส
สำหรับปัญหาสงครามในฉนวนกาซา แฮร์ริสมีท่าทีสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลไบเดน คือการผลักดันให้ลดระดับความขัดแย้งและความรุนแรง และพยายามเป็นตัวกลางในการเจรจาหยุดยิงและปลดปล่อยตัวประกัน ขณะที่สนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาแบบสองรัฐ (Two-State Solution)
อย่างไรก็ตาม แฮร์ริสก็แสดงให้เห็นสัญญาณว่า เธอเอนเอียงไปตามแนวทางของกลุ่มหัวก้าวหน้ามากกว่าไบเดน โดยเธอสนับสนุนสิทธิของอิสราเอลในการป้องกันตนเองและการกำจัดกลุ่มฮามาส
โดนัลด์ ทรัมป์
ขณะที่ทรัมป์มองว่า การโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้วจะไม่เกิดขึ้นเลยหากเขาเป็นประธานาธิบดี โดยเขาสนับสนุนให้ยุติสงครามโดยเร็ว แต่ไม่ได้เสนอว่าอิสราเอลควรทำข้อตกลงภายใต้เงื่อนไขใดเพื่อยุติการทำสงคราม และไม่ได้เสนอแนะให้สนับสนุนปาเลสไตน์แต่อย่างใด
NATO-ยูเครน
คามาลา แฮร์ริส
แฮร์ริสส่งสัญญาณว่า เธอจะยังคงสนับสนุน NATO และพันธมิตรระหว่างประเทศอื่นๆ อย่างแข็งขันเช่นเดียวกับไบเดน
มุมมองด้านนโยบายต่างประเทศของแฮร์ริส โดยเฉพาะกรณีสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นยังอยู่ใต้เงาไบเดน โดยเธอยังมีประสบการณ์ค่อนข้างน้อยก่อนที่จะเข้าร่วมรัฐบาล และไม่มีท่าทีใดๆ ว่าเธอจะเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายของไบเดนที่ให้ความสำคัญในการจับมือกับชาติพันธมิตร NATO เพื่อต่อต้านการกระทำของรัสเซีย และสนับสนุนความช่วยเหลือในการจัดส่งอาวุธแก่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง
โดนัลด์ ทรัมป์
ทรัมป์ยึดมั่นในแนวคิด ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ไม่เชื่อมั่นในพันธกรณีระหว่างประเทศใดๆ ที่อาจกีดกันอำนาจอธิปไตยของอเมริกา หรือทำให้ต้องสูญเสียเงินงบประมาณจำนวนมาก
ที่ผ่านมา ทรัมป์ยืนยันความเชื่อของเขาว่า ประเทศสมาชิก NATO ชาติอื่นๆ กำลังเกาะกินสหรัฐฯ ด้วยการไม่ใช้เงินของตัวเองอย่างเพียงพอในการป้องกันประเทศ โดยเขาเคยขู่จะถอนสหรัฐฯ ออกจาก NATO และเคยประกาศว่า หากได้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย เขาจะเดินหน้าการประเมินภารกิจและจุดประสงค์ของพันธมิตร NATO เสียใหม่
ในประเด็นสงครามรัสเซียและยูเครนนั้น ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไบเดนที่ให้การช่วยเหลือยูเครนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเคยกล่าวอ้างว่า เขาสามารถยุติสงครามได้ด้วยการนำรัสเซียและยูเครนมาสู่โต๊ะเจรจา ซึ่งแนวทางของทรัมป์ดูเหมือนจะเป็นการสนับสนุนให้ยูเครนยอมสละดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองไปบางส่วนเพื่อแลกกับข้อตกลงหยุดยิง
ในอดีตนโยบายต่างประเทศจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับผู้มีสิทธิ์แลือกตั้งในสหรัฐฯ แต่การสู้รบที่ยืดเยื้อทำให้ชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับนโยบายนี้มากยิ่งขึ้น
ภาพจาก AFP
ข่าวแนะนำ