ผู้นำฝรั่งเศสเสนอตั้งองค์กรคู่ขนาน รับยูเครนเป็นสมาชิกแทนอียู
ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวว่า สหภาพยุโรปหรืออียู ไม่ควรเป็นองค์กรเดียวของยุโรป แต่ควรมีการสร้างองค์กรขึ้นมาใหม่อีก เพื่อที่จะได้รวมยูเครนเข้ามาด้วย
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส เผยแนวคิดดังกล่าว หลังเขาเตือนว่ายูเครนอาจจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของอียูไปอีกหลายทศวรรษ ทำให้เขาเรียกร้องให้มีการคิดใหม่ให้ใหญ่ เกี่ยวกับอนาคตของยุโรป และเรียกร้องให้การสร้างองค์กรใหม่ทางการเมืองเพื่อรวมความเป็นเอกภาพของชาติประชาธิปไตยในยุโรป
มาครง เสนอให้จัดตั้ง “ประชาคมการเมืองยุโรป” ซึ่งจะเป็นองค์กรใหม่ที่ทำให้ชาติประชาธิปไตยของยุโรปที่ยึดมั่นในค่านิยมเดียวกัน สามารถใช้เป็นพื้นที่ในการร่วมมือทางการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง พลังงาน คมนาคม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการเคลื่อนไหวข้ามพรมแดน โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่
เขาย้ำว่า การเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรใหม่นี้ ไม่ได้หมายความประเทศใดประเทศหนึ่งจะไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกอียู แต่องค์กรนี้จะยังช่วยนำชาติที่ออกจากอียูไปแล้ว สามารถเข้ามาร่วมกันได้ด้วย
---ทำไมมาครงเสนอทางออกนี้?---
ท่าทีของนายมาครงมีขึ้น หลังชาติสมาชิกอียู ยังไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า จะลัดกระบวนการสมัครเป็นสมาชิกของยูเครนให้เร็วอย่างไร และประเด็นนี้จะถึงจุดแตกหักได้ในเดือนมิถุนายนนี้ ที่ผู้นำอียูต้องตัดสินใจว่า จะให้สถานะผู้สมัครแก่ยูเครนหรือไม่ ซึ่งปกติแล้วต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้รับสถานะดังกล่าว
ทั้งนี้ มาครงระบุว่า เขาเห็นด้วยกับการตัดสินใจให้เร็วเกี่ยวกับเรื่องสถานะผู้สมัครของยูเครน แต่ก็ไม่ได้ให้ความหวังกับรัฐบาลยูเครนว่าจะเข้าเป็นสมาชิกได้เร็ว เพราะเมื่ออียูให้สถานะผู้สมัครแก่ชาติใดแล้ว จะตามมาด้วยขั้นตอนการเจรจาและการปฏิรูปในส่วนต่าง ๆ ของประเทศผู้สมัคร เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และกฎหมายของอียู
เขากล่าวว่า แม้อียูตัดสินใจให้สถานะผู้สมัครแก่ยูเครนในวันพรุ่งนี้เลยก็ตาม และแม้เราอยากทำทุกอย่างให้เร็วขึ้น แต่เราทุกคนรู้ดีว่าขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกนั้นต้องใช้เวลาหลายปี หรือในความเป็นจริง อาจจะหลายทศวรรษ ยกเว้นเสียแต่ว่าเราจะลดมาตรฐานในขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิก หรือจัดตั้งองค์กรคู่ขนานขึ้นมาแทน
---ยุโรปไม่ควรมีโครงสร้างเดียว---
ดังนั้น เขามองว่า ในระยะสั้นนี้ สหภาพยุโรปจึงไม่ควรเป็นโครงสร้างเดียวของยุโรป เขาตระหนักว่า ยูเครนและชาติที่อยากร่วมกับอียูอื่น ๆ เช่น มอลโดวา และจอร์เจีย ควรจะมีที่อยู่ในกลางใจยุโรปด้วย ดังนั้น ยุโรปจึงควรตั้ง ประชาคมการเมืองยุโรปขึ้นมารองรับชาติเหล่านี้
ทั้งนี้ นางเออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปนั้น เห็นด้วยกับการเร่งกระบวนการสมัครเป็นสมาชิกของยูเครน ซึ่งมีบรรดาชาติยุโรปกลางและตะวันออกร่วมสรับสนุนด้วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกนั้นมีความเห็นที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะกังวลว่ายูเครน จะไม่มีมีเวลาในการปฏิรูปทางการเมืองที่จำเป็น และจะยิ่งทำให้กลุ่มประเทศบอลข่าน 6 ประเทศไม่พอใจ เพราะรอเข้าเป็นสมาชิกอียูมาหลายปีแล้ว
ฟอน เดอ เลเยน กล่าวว่ายูเครนได้ส่งเอกสาร 5,000 หน้ามายังอียู ตอบคำถามในเรื่องต่างๆว่ายูเครนเหมาะสมอย่างไรที่จะเข้าร่วมอียู และเธอยังกล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภายุโรปเนื่องในวัน Europe Day ด้วยว่า อนาคตของยุโรปนั้นก็คืออนาคตของพวกคุณ
---ยูเครนต้องรอด รัสเซียต้องไม่ชนะ---
ส่วนนายมาครงได้กล่าวว่า ยุโรปต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ยูเครนอยู่รอด รัสเซียจะไม่มีวันชนะ และหากยูเครนตัดสินใจเจรจากับรัสเซีย เขาเตือนให้ระวังเรื่องมาตรการลงโทษต่าง ๆ ต่อรัสเซียเมื่อสงครามจบไปแล้ว เพราะเมื่อความสงบสุขกลับสู่แผ่นดินยุโรป เราจะต้องสร้างสมดุลด้านความมั่นคงใหม่ และต้องไม่คิดที่จะแก้แค้นด้วย
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม แครโรไลน์ เอดสแตดเลอร์ รัฐมนตรีกิจการอียูของออสเตรียได้เสนอแนวคิดคล้ายผู้นำฝรั่งเศสมาแล้ว เพราะการเข้าเป็นสมาชิกอียูของยูเครนไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลา 5-10 ปีข้างหน้านี้
ยูเครนได้ส่งแบบสอบถามในส่วนแรกไปยังอียูตั้งแต่กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ในกระบวนการรับเข้าเป็นสมาชิกนั้น คณะกรรมาธิการยูโรปจะต้องพิจารณาทุกเรื่องตั้งแต่ผลงานด้านเศรษฐกิจไปจนถึงระบบกฎหมายของขาติที่สมาชิก ตลอดจนกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและแนวปฏิบัติด้านเกษตรกรรม
ขั้นตอนนี้ใช้เวลาหลายทศวรรษ เช่น ตุรกี อยู่ในสถานะผู้สมัครมาตั้งแต่ปี 1999 แล้ว และการได้เข้าเป็นสมาขิกอียูเต็มตัวนั้น ต้องได้รับฉันทามติจากชาติสมาชิก 27 ชาติของอียูด้วย
—————
แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: Olga Stefanishyna / Deputy Prime Minister for European
ข่าวแนะนำ