TNN ข่าวปลอม! กด Cancel 2 ครั้ง ก่อนสอดบัตร ATM ป้องกันมิจฉาชีพ

TNN

TNN Fact Check

ข่าวปลอม! กด Cancel 2 ครั้ง ก่อนสอดบัตร ATM ป้องกันมิจฉาชีพ

ข่าวปลอม! กด Cancel 2 ครั้ง ก่อนสอดบัตร ATM ป้องกันมิจฉาชีพ

กด Cancel 2 ครั้ง ก่อนสอดบัตร ATM เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมยืนยันเป็นข้อมูลเท็จ ขอความร่วมมืออย่าแชร์ข้อมูล



วันนี้ (10 เม.ย.65) ตามที่มีข้อความเผยแพร่ในประเด็นเรื่องกด Cancel 2 ครั้ง ก่อนสอดบัตร ATM เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีเตือนภัยเรื่องการเงินโดยระบุแนะนำว่าให้กด Cancel 2 ครั้ง ก่อนสอดบัตร ATM เพื่อป้องกันการสกิมเมอร์ของมิจฉาชีพ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงประเด็นนี้ว่า ข้อมูลดังกล่าวมีการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้หลายปีและถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำเพื่อสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนอีกครั้ง โดยจากการตรวจสอบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่ง พบว่าไม่เป็นความจริง การกด Cancel 2 ครั้งก่อนสอดบัตร ไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของ กระบวนการทำงานบนระบบ ATM แต่อย่างไร

เนื่องจากสกิมเมอร์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้อ่านข้อมูลจากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จากภายนอก มีกระบวนการหลัก ๆ 2 อย่าง คือ ดักข้อมูลบัตร ATM และดักรหัสบัตร โดยการทำปุ่มกดปลอม และเครื่องอ่านบัตรปลอมขึ้นมา แล้วนำไปประกบทับกับอุปกรณ์ของจริงบนตู้  ATM 

โดยเครื่องอ่านบัตรปลอมจะอ่านข้อมูลจากแถบแม่เหล็กบนตัวบัตร แล้วคัดลอกข้อมูลลงในหน่วยความจำ และเมื่อผู้ถือบัตร ATM ใช้เครื่องกดเงินที่มีการติดตั้งสกิมเมอร์ เพื่อทำรายการถอนเงิน ข้อมูลของบัตรนั้นจะถูกบันทึกไว้ และถูกส่งต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของมิจฉาชีพทันที ทำให้มิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลที่ขโมยได้ไปใช้ทำ ATM ปลอม เพื่อทำรายการถอนเงิน 

โดยวิธีป้องกันมิจฉาชีพที่ได้ผลคือ หมั่นสังเกตบริเวณช่องสอดบัตร และแป้นกดตัวเลขว่ามีอะไรแปลกปลอมมาครอบทับหรือไม่ หากมีสิ่งผิดปกติไปจากเดิมควรหลีกเลี่ยงและแจ้งหน่วยงานธนาคารนั้น ๆ

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.bot.or.th  หรือโทร. 1213



ข้อมูลจาก ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

ภาพจาก TNN ONLINE



ข่าวแนะนำ