ถอดรหัส 3 ปมปัญหา เหตุใดการ "รู้เท่าทันสื่อ" ในเด็กไทย จึงยังไม่กระเตื้อง
เจาะลึกถึงแก่นปัญหาการรู้เท่าทันสื่อของเด็กไทย พบ หลักสูตรการศึกษาไทยยังอ่อนแอ ท่องจำทำพิษ เด็กขาดทักษะคิดวิเคราะห์ แม้ผลักดันหลักสูตรเข้าสู่รั้วสถาบัน แต่หากครูผู้สอนยังไม่พร้อมก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
หลังจากที่ได้นำเสนอรายงานพิเศษ "เบื้องหลังกับดัก "ข่าวปลอม" ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยต้องเรียนรู้เท่าทันสื่อ?" แสดงให้เห็นแล้วว่า ในยุคที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ สามารถใช้ประโยชน์เชื่อมข้อมูลจากทั่วทุกมุมโลกแค่เพียงปลายนิ้ว แต่ขณะเดียวกันกลับปนเปื้อนไปด้วยข้อมูลหลอกลวง ข่าวปลอม มายาคติต่างๆ การชี้นำสังคม ดังนั้น "การรู้เท่าทันสื่อ" จึงเป็นเรื่องที่คนทุกคนควรให้ความสำคัญ
ทีมข่าว TNN ONLINE ได้พูดคุยเจาะลึกถึงแก่นปัญหาการรู้เท่าทันสื่อ จาก "ด่านหน้า" ผู้ปฏิบัติการตัวจริง ผ่านประสบการณ์การจัดทำสื่อ และกิจกรรมในโครงการต่างๆ ร่วมกับสถาบันการศึกษามานานหลายปี
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay
รู้เท่าทันสื่อ คือ ทักษะ "เอาตัวรอด" ที่ทุกคนต้องมี!
การเรียนรู้ใช้สื่อต่างๆ เป็นเรื่องดี แต่การใช้สื่อให้ลึกมากกว่าการใช้ให้เป็นนั้นแตกต่างกัน "เข็มพร วิรุณราพันธ์" ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาว่า เมื่อก่อนเราอาจจะตีความหมายของคำว่า "Digital literacy" คือการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีมาใช้สื่อสาร ปฏิบัติงาน และการทำงานร่วมกัน เพื่อให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่เคยเข้าใจในตำราเรียน
แต่ปัจจุบัน "Digital literacy" มีนิยามใหม่ คือ การเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy) หรือ MIDL ซึ่งประกอบไปด้วย การเท่าทันสื่อ รู้เท่าทันเนื้อหาผลกระทบของสื่อ (Media) การเท่าทันข่าวสารหรือสารสนเทศ รู้และเข้าใจในการกลั่นกรองข้อมูล (Information) การเท่าทันเทคโนโลยี (Digital) โดยมองว่าประชาชนทุกวัยจะต้องมีทักษะ มีความสามารถทางนี้ ไม่ใช่แค่ "เด็ก" แต่ยังรวมไปถึงผู้ใหญ่ทุกวัยด้วย เนื่องจากปัจจุบัน สื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
"การรู้เท่าทันสื่อ ไม่ใช่เรื่องในโรงเรียน แต่เป็นวิถีชีวิตประจำวัน ที่เราต้องมีทักษะเอาตัวรอดจากข่าวสารที่ไหล่บ่ามาจากทุกทิศทาง พ่อแม่หรือครูเองก็ไม่รู้ว่าลูกกำลังเข้าสู่เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นอะไร เพราะฉะนั้น การรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นทักษะส่วนบุคคลที่จะต้องมีติดตัวให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ ซึ่งกระบวนการเท่าทันสื่อ MIDL ไม่ใช่เรื่องของการตรวจสอบข่าวลวง หรือการเช็กข้อมูลว่าจริงไม่จริง แต่ยังรวมไปถึงการใช้ให้เกิดประโยชน์ การใช้เชิงสร้างสรรค์ด้วย" ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน อธิบาย
ภาพจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
ยกเคสต่างประเทศ สอนบูรณาการ "รู้เท่าทันสื่อ" ร่วมกันทุกวิชา
เข็มพร เล่าว่า ได้เคยไปสังเกตการณ์การศึกษาในชั้นประถมศึกษาที่ออสเตรเลีย จะเห็นการสอนแบบบูรณาการ โดยในวิชาภาษาครูจะไม่สอนท่องจำให้เด็กเปิดอ่านหนังสือ แต่จะมีโจทย์ให้เด็กไปค้นข้อมูลต่อ โดยการค้นข้อมูลจะต้องค้นหาหลายแหล่ง และตรวจสอบแต่ละแหล่งข้อมูล ให้เด็กรู้จักตั้งคำถามทำไมแหล่งนี้ถึงนำเสนอแบบนี้ และทำไมอีกแหล่งนำเสนออีกแบบ มีเหตุผลอะไร และเวลาอ่านเด็กจะต้องฉุกคิดก่อนว่าเป็นเรื่องแต่ง หรือเป็นข่าวสาร และมาจากแหล่งไหน
ขณะเดียวกัน ในรายวิชาอื่นที่้เด็กต้องอ่านข้อมูล เด็กจะเกิดกระบวนการคิดลักษณะนี้ จะไม่มีการให้ครูบรรยายหน้าห้อง เปิดหนังสือให้เด็กอ่าน แล้วให้เด็กเชื่อตาม ครูจะบอกวิธีการให้หาข้อมูลและตรวจสอบ โดยจะให้เด็กคิดตลอด
"นี่คือการเรียนการสอนแบบคิดวิเคราะห์จริงๆ ซึ่งจะติดตัวเป็นทักษะในเวลาที่เด็กรับสื่อ หรือรับข่าวสารในชีวิตประจำวัน เขาจะค้นหาแหล่งข้อมูลหลายแหล่ง ดูว่าเชื่อถือได้หรือไหม ใครเป็นบรรณาธิการและใครเป็นเจ้าของ เด็กเขาจะมองลึกขนาดนั้น" ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าว
ไข 3 ปมปัญหา เหตุใดการ "รู้เท่าทันสื่อ" ในเด็กไทยจึงยังไม่กระเตื้อง
1.ครูไทยยังไม่พร้อม
ปัญหาการผลักดันหลักสูตรจากที่สัมผัสมา พบว่า ครูโรงเรียนต่างๆ ยังขาดความพร้อม โดยในหลักสูตรการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการบรรจุไว้ แต่เขียนกว้างๆ ว่า "การเท่าทันข่าวสาร เท่าทันสื่อ" แต่ปัญหาที่พบคือ ครูยังไม่เข้าใจว่าเนื้อหาของการสอน หรือเทคนิคเป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้น จะต้องมีการเตรียมความพร้อมของครูผู้สอน จะพัฒนาครูทั้งประเทศอย่างไรให้เข้าใจ "การรู้เท่าทันสื่อ" ระบบแบบไหนที่สามารถช่วยจะซัพพอร์ต พัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง เพราะการอบรมหรือพัฒนาไปครั้งเดียวคงไม่ได้ เพราะสื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงมองว่าควรจะต้องมีหน่วยงานที่ช่วยพัฒนา ช่วยเสริมครู หาตัวอย่างสื่อให้ครู ให้เกิดการนำไปใช้ ซึ่งต้องมีหน่วยงานกลางที่คอยทำหน้าที่ตรงนี้
"ประเด็นปัญหาคือ ไม่ใช่เรื่องการบรรจุลงในหลักสูตร แต่ประเด็นใหญ่กว่านั้น คือเรื่องการพัฒนาครูให้เข้าใจเรื่องนี้ เพราะหากบรรจุแล้ว แต่ครูไม่เข้าใจ สอนไม่ได้ก็ไม่เกิดผล และที่พบอีกเรื่องคือ ครูส่วนใหญ่ก็ยังไม่เท่าทันสื่อ จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบก่อน" ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน อธิบาย
2.กระบวนการสอนยังอ่อนแอ
นอกจากนี้ การเท่าทันสื่อเป็นความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ การตั้งคำถาม ใช่ไม่ใช่ จริงไม่จริง ซึ่งทักษะดังกล่าว ในกระบวนการเรียนการสอนในประเทศไทยอ่อนแอ เพราะสอนแบบท่องจำ สอนแบบไม่ตั้งคำถาม ไม่ตรวจสอบ ไม่ค้นคว้าข้อมูล หรือค้นหาข้อเท็จจริง จะเชื่้อหรือเแชร์โดยไม่ตั้งคำถาม ซึ่งถ้าเทียบกับในต่างประเทศ ได้มีการแทรกบูรณาการอยู่ในทุกวิชา เมื่อเด็กไทยขาดการคิดวิเคราะห์ก็ทำให้กระบวนการรู้เท่าทันสื่อยากขึ้นไปอีก
การคิดวิเคราะห์ การเชื่อข่าวสารโดยไม่ตรวจสอบเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เชิงเหตุผล วิพากย์วิจารณ์ (Critical thinking) ในระบบการศึกษาไทยเป็นจุดอ่อนทำให้เด็กตั้งคำถามน้อย และเชื่อโดยที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง
ปัญหาดังกล่าวนี้ จึงทำให้เป็นเรื่องยากมากที่ถึงแม้ประเทศไทยจะมีหลักสูตรการเรียนการสอน "รู้เท่าทันสื่อ" แต่ไม่สามารถทำได้ทั้งระบบ เพราะการเรียนการสอนของเด็กไทยยังเป็นการท่องจำอยู่ จึงเป็นอุปสรรคใหญ่เรื่องหนึ่งเช่นกัน
3.ไร้เจ้าภาพ ต่างคนต่างทำ ไม่มีคนเชื่อมโยง
หลายหน่วยงานมีการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ แต่ต่างคนต่างทำ ภาครัฐมีการพูดถึงว่า ต้องปฎิรูปให้คนไทยมีการรู้เท่าทันสื่้อ แต่ใครกันที่จะเป็น "เจ้าภาพหลัก" คอยเชื่อมทุกหน่วยงานให้นิยามความหมายไปในทิศทางเดียวกัน เพราะทุกวันนี้เหมือนต่างคนต่างทำ ทำให้ไม่มีผู้ที่จะเชื่อมทุกอย่างเพื่อให้เกิดการผลักดันให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาได้จริงๆ
"นโยบาย ไม่ใช่แค่กระทรวงศึกษาธิการ แต่ยังเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงและเกี่ยวกับประชาชนทุกกลุ่มวัย ควรจะมีนโยบายระดับชาติ และมีหน่วยงานกลางที่เชื่อมหน่วยงานต่างๆ ที่ต่างคนต่างทำอยู่ให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น" เข็มพร กล่าวย้ำ
ภาพจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
สสย.ขับเคลื่อน "รู้เท่าทันสื่อ" ตั้งแต่เด็กปฐมวัยจนมหาวิทยาลัย
สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ได้ศึกษาวิจัยพบว่า ในต่างประเทศได้สอนการรู้เท่าทันสื่อ การคิดวิเคราะห์ ตั้งแต่เด็กปฐมวัย จนถึงระดับมหาวิทยาลัยทุกช่วงชั้น บางประเทศอยู่ในหลักสูตรการศึกษา เพราะเป็นการศึกษาแบบ "บูรณาการ" อย่างในประเทศสหภาพยุโรป (EU) จะสร้างตัวบ่งชี้ว่าประชาชนจะต้องมีทักษะรู้เท่าทันสื่อในระดับต่างๆ
สำหรับโครงการที่สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำอยู่นั้น เช่น ในระดับ "มหาวิทยาลัย"การพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อมของครูรุ่นใหม่ โดยมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยเข้าร่วมทำกิจกรรม พัฒนาการเรียนการสอน ว่าจะผลักดันเข้าไปในหลักสูตรได้อย่างไร รวมทั้งกลุ่มคณะนิเทศศาสตร์ ที่จะเรียนจบไปทำงานในด้านสื่อด้วย
ภาพจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
ขณะที่ ระดับ "มัธยมศึกษา" ได้ร่วมมือกับกลุ่มเครือข่ายครูที่มีความสนใจ ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย ในการจัดอบรมให้กับคุณครู และคุณครูได้ทำหลักสูตรของตัวเอง อาจจะยังไม่ได้บรรจุเข้าสถานศึกษา แต่ครูสามารถไปประยุกต์กับวิชาหน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์ สังคมศึกษา และมีศึกษานิเทศก์ที่ดูแลเขตการศึกษาจัดทำเป็นคู่มือระดับมัธยมศึกษาขึ้นมา เพื่อใช้ในการเรียนการสอน
ส่วนในระดับ "ประถมศึกษา" จะทำคล้ายๆ กับมัธยมศึกษา คือ ผ่านเครือข่ายครูที่สนใจในเรื่องดังกล่าว
ภาพจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
นอกจากนี้ในระดับ "เด็กปฐมวัย" ศูนย์เด็กเล็ก 3-5 ขวบ จะทำผ่านกิจกรรม เช่น ชุดสื่อนิทาน ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันการใช้โทรศัพท์มือถือ การรู้เท่าทันโฆษณา โดยได้จัดทำเป็นชุดการ์ตูน มีทั้งหมด 6 เล่ม และทำคู่มือให้กับครูศูนย์เด็กเล็กว่าจะนำไปจัดกิจกรรมให้เด็กอย่างไร
ทั้งนี้ ก่อนจะทำการ์ตูน หนังสือภาพ ทางสถาบันฯ ได้ศึกษาค้นคว้าจากต่างประเทศด้วยว่ามีเทคนิคอย่างไร ทั้งหมดพยายามทำเป็นต้นแบบและผลักดันเข้าไปอยู่ในระบบหลัก เพื่อเข้าไปสู่นโยบายและหลักสูตรที่เป็นทางการต่อไปได้ในอนาคต
ภาพจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
ถอดรหัสกิจกรรม "รู้เท่าทันสื่อ" คิดวิเคราะห์ มองให้ลึกทุกมิติ
ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อาจารย์ที่จะไปสอนนักศึกษาที่จะจบไปเป็นครู และอีกส่วนคือ อบรมให้กับนักศึกษาโดยตรง ซึ่งหลักพื้นฐานเนื้อหาการอบรม จะมีตัวอย่างสื่อให้ถอดรื้อวิเคราะห์ เช่น เคยคิดไหมว่าอะไรแอบแฝงอยู่ในสื่อหรือข่าวสารชิ้นนี้ ซึ่งผู้เข้าอบรมจะต้องคิดเชิงวิเคราะห์ ทั้งความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และทำให้เกิดผลกระทบอะไร
ตั้งแต่ใครเป็นเจ้าของ ใครเป็นคนประกอบสร้าง สื่อและข้อมูลนี้ มีการประกอบสร้างขึ้นมา ไม่ใช่ข้อเท็จจริง คนที่เขียนหรือสร้างขึ้นมา มีเจตนาหรือไม่เจตนา มีค่านิยมที่ถูกใส่เข้ามาในเนื้อหาข้อมูลนี้หรือไม่ หรือมีการจงใจที่จะสื่อสารข้อมูลเพียงบางส่วน ไม่บอกทั้งหมด หรือมีอคติ ความเชื่อ ความเกลียดชัง ความโกรธ มีค่านิยมต่อผู้หญิง คนกลุ่มน้อย แรงงานข้ามชาติ มีอคติอะไรที่แฝงอยู่ และสื่อชิ้นนั้นจะไปทำให้เกิดผลกระทบอย่างไร
ภาพจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
เช่น สื่อพูดถึงผู้หญิงในแง่มุมหนึ่ง ซึ่งเราอาจจะไม่ได้รู้สึกว่า มีอะไร แต่คนที่รับสื่อนั้นอาจจะรู้สึกว่า เป็นการดูถูก เหยียดหยาม รุกรานทางเพศ คนพิการ คนกลุ่มชาติพันธุ์ หรือแรงงาน คิดอย่างไร ผู้เข้าอบรมจะต้องถอดรื้อสื่อนั้นออกมาเพื่อให้เห็นถึงอคติต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีการอบรมการสร้างสรรค์และการใช้ประโยชน์ ใช้สื่อหรือกระบวนการเหล่านี้ทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร เป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ
อย่างไรก็ดี สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจเรื่องการ "รู้เท่าทันสื่อ" สามารถเข้าไปศึกษาได้ทั้งหนังสือ คู่มือ นิทาน หรือคลิปตัวอย่าง หรือกิจกรรมที่มีเครือข่ายทำอยู่ สามารถไปเรียนรู้ตัวอย่างโครงการต่างๆ ได้ ที่เว็บไซต์ http://cclickthailand.com/
ภาพจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
เห็นผล! สถาบันไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง บรรจุในหลักสูตรการศึกษา
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของการอบรมในแต่ละระดับ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยมีหลายสถาบันนำเรื่องนี้ไปบรรจุอยู่ในคณะนิเทศศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หรือบางแห่งเป็นวิชาทั่วไปที่นักศึกษาทุกชั้นปี 1 ต้องเรียน โดยปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง เพราะดำเนินการต่อเนื่องหลายปี มีการปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ว่าอาจารย์ท่านนี้่สอนวิชาอะไร ปีหน้ามีการปรับเปลี่ยนชื่อวิชาที่ทันสมัย ให้เข้ากับนโยบาย แต่สิ่งที่เกิดคือ เครือข่ายอาจารย์ที่ทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น เครือข่ายอีสานตุ้มโฮม 7 มหาวิทยาลัย ภาคอื่นๆ ก็มีเช่นกัน
ภาพจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
ท้ายที่สุดนี้ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ยังฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยผลักดันเรื่องนี้ให้บังเกิดผลสำเร็จ โดยมองว่า เรื่องดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมโดยรวมทั้งประเทศ เพราะวิถีชีวิตที่ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จะสร้างข่าวสาร ไม่ใช่แค่สื่อมวลชนหรือสถาบันผลิตสื่อมวลชน อีกต่อไปแล้ว
ดังนั้น ถ้าเห็นว่ามันเกิดผลกระทบสูงขนาดนี้ หน่วยงานใหญ่ หน่วยงานกลาง รัฐบาลต้องให้ความสำคัญที่จะเตรียมความพร้อมประชาชน ในการใช้สื่อใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ และต้องมีแผนระดับชาติที่มองหลายมิติเชื่อมโยงกันด้วย.
"การรู้เท่าทันสื่อ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก ไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่
แต่เป็นเรื่องของทุกเพศ ทุกวัย ที่ควรมีทักษะติดตัว เพื่อเอาตัวรอดในสังคมยุคโซเชียลให้ได้"
ทีมข่าว TNN ONLINE รายงาน