สายนวดต้องรู้! เช็กจุดอันตรายต้องระวัง เปิดคำแนะนำคนกลุ่มไหนห้ามนวด
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดข้อควรรู้สำหรับคนชอบนวด เช็กจุดอันตรายต้องระวัง คนกลุ่มไหนแพทย์ไม่แนะนำให้นวด ป้องกันการเกิดอาการบาดเจ็บจากการนวด
พนักงานออฟฟิสมักประสบปัญหา "ออฟฟิสซินโดรม" กันอยู่ไม่น้อย ซึ่งหลายคนก็ใช้วิธีผ่อนคลายด้วยการออกกำลังกาย ยืดกล้ามเนื้อ หรือเล่นโยคะอยู่ที่บ้าน ขณะที่ บางคนแทบจะเป็นสมาชิกร้านนวด แต่รู้หรือไม่ว่า "การนวด" ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน เพราะมีคนบางกลุ่มที่แพทย์ไม่แนะนำให้นวดด้วยเช่นกัน
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าว TNN ONLINE เกี่ยวกับการนวดที่ต้องระวังไว้ ดังนี้
คนกลุ่มไหนต้องระวัง หมอไม่แนะนำให้ไปนวด
1. ผู้ตั้งครรภ์ ในทางการแพทย์ไม่แนะนำให้นวด เพราะบางกรณีการกดบางจุดของร่างกายอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ซึ่งหากต้องการจะนวดจริงๆ เช่น ปวดหลัง ปวดไหล่ ต้องปรึกษาแพทย์แผนไทยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้วย และที่ต้องห้ามนวดเลยคือกลุ่มผู้ตั้งครรภ์ที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง จะไม่แนะนำให้นวด
2. กลุ่มโรคที่ปัญหาการแข็งตัวของเลือด เช่น เลือดออกไหลไม่หยุด เมื่อเกิดอาการช้ำแล้วอาจเกิดภาวะอันตรายได้ เพราะการนวดกดไปที่จุดนั้นๆอาจทำให้เส้นเลือดฝอยแตก ซึ่งหากเป็นคนทั่วๆไปการกดจุดมักไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าเป็นคนที่เลือดออกไหลไม่หยุด จุดช้ำก็จะกลายเป็นก้อนเลือดขนาดใหญ่และอาจมีปัญหาภายหลังได้
3. กลุ่มโรคติดต่อที่เห็นแผลหรือผื่น เช่น งูสวัด อิสุกอิใส มีผื่น แผลผุพอง เพราะการกดลงไปบนผิวหนัง อาจจะยิ่งกระตุ้นการอักเสบของแผล หรือนำเชื้อโรคอื่นๆ เข้าไปทับซ้อนเชื้อโรคเดิมที่มีอยู่อีก รวมทั้ง ผู้ที่มีอาการมีแผลที่ผิวหนัง บวม ร้อน อักเสบ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับการนวด
4. ผู้ที่เป็นไข้ ไม่แนะนำให้นวด เพราะอาจจะทำให้อาการป่วยนั้น หนักขึ้นกว่าเดิม
5. โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่แนะนำให้นวด
6. ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ต้องเลือกการนวดอย่างระมัดระวัง หากเป็นมะเร็งกล้ามเนื้อข้อเข่า การกดนวดบริเวณนั้นๆ อาจทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายออกไปได้ แต่หากเป็นมะเร็งปอด การนวดตามกล้ามเนื้ออาจจะทำได้อยู่ แต่ก็ต้องรับความเสี่ยง เนื่องจากไม่ทราบว่ามะเร็ง จะกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ ซึ่งหากมีเซลล์มะเร็งอยู่จะยิ่งไปกระตุ้นให้กระจายไปทั่วร่างกายได้
7. ผู้ที่กระดูกหัก กระดูกบาง กระดูกร้าว และยังไม่ประสานติดกันดี ก็จะยิ่งทำให้กระดูกไม่ติดไปกันใหญ่ กระดูกพรุน กระดูกบาง หากไม่ระมัดระวังก็อาจทำให้กระดูกหักได้
8. ผู้ที่ใส่ข้อเทียม ใส่อวัยวะเทียม ต้องระมัดระวัง เพราะสรีระของจุดนั้นๆ อาจจะเปลี่ยนแปลงไป และเกิดปัญหาได้
นอกจากนี้ เรื่องช่วงอายุไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่โรคที่มากับอายุก็อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดในการนวดได้ อย่างผู้ที่มีอายุมาก และมีกระดูกพรุน หลายๆ ท่าของการนวดก็อาจจะกลายเป็นท่าต้องห้ามได้
จุดอันตรายต้องระวัง! นวดบริเวณไหนเสี่ยงที่สุด
พญ.อัมพร เผยว่า ตามหลักทางการแพทย์แล้วนั้น จะไม่มีการ "นวดท้อง" เพราะช่องท้องไม่ได้มีกล้ามเนื้อ และมีอวัยวะที่เมื่อถูกแรงกด แรงนวด จะเกิดการแตก การเสียหาย เพราะหากกดไปโดนตับ ไต ไส้ ก็เกิดอันตรายได้ ดังนั้น ช่องท้อง ไม่ใช่จุดที่ควรนวด
นอกจากนี้ การนวดบริเวณ "แนวกระดูกสันหลัง" หรือ "เชิงกราน" จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญอย่างมาก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหมอนวดมักจะไม่นวดจุดนี้เช่นกัน
หมอตอบชัด! ปวดเนื้อปวดตัว ชอบนวดตัวเอง อันตรายหรือไม่
พญ.อัมพร ระบุว่า การนวดตัวเองนั้น สามารถทำได้ โดยทั่วไปแล้วการนวดตัวเอง สามารถรับรู้ได้ว่า แรงกดขนาดไหนที่จะทำให้ตัวเราเจ็บเกินไป และการลงน้ำหนักด้วยมือของตัวเอง ทำได้ไม่มากเท่าไร แต่ถ้าพูดถึงโรคหรืออาการพื้นฐาน เช่น ออฟฟิสซินโดรม ปวดหลัง ปวดบ่า ปวดไหล่ ถ้าสามารถศึกษาวิธีการนวดที่ถูกต้องก็จะสามารถช่วยผ่อนคลายและลดอาการเจ็บปวดได้
อย่างบริเวณต้นคอ ถ้ารู้ว่าสรีระของร่างกาย แนวกล้ามเนื้อมีการวางตัวอย่างไร และจุดที่ทำให้เกิดการปวดเมื่อยต้นคอจากออฟฟิสซินโดรม สามารถลงน้ำหนักตรงไหนได้ ก็จะสามารถนวดตัวเองได้อย่างค่อนข้างดี
นอกจากนี้ ความถี่ในการนวดสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง สามารถทำได้ แต่ถ้านวดถูกวิธีจะช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดี เพราะการนวดจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น เมื่อเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อที่มีการตึงตัวต่างๆ ได้ดี ก็เกิดการผ่อนคลาย ระบบไหลเวียนต่างๆ การทำงานของร่างกายก็จะดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเลือกสถานที่ต้องเป็นร้านที่มีมาตรฐาน สะอาด ถูกสุขลักษณะอนามัย ขณะที่ ผู้นวดเป็นผู้ที่มีความรู้ เข้าใจ มีประสบการณ์นวดที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การนวดก็จะเป็นการบำบัดรักษาที่ดีได้ด้วยเช่นกัน