ผู้ประกันตนต้องรู้! เปิดสิทธิประโยชน์ "ประกันสังคม" ทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย
เปิดสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน "ประกันสังคม" กรณี "ทันตกรรม" สามารถเบิกค่าทำฟันได้ ทั้งอุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ใส่ฟันเทียม โดยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน ยกเว้น "รักษารากฟัน" ไม่สามารถเบิกประกันสังคมได้
สำนักประกันสังคม ได้ให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนกรณี "ทันตกรรม" ในสถานพยาบาลที่เข้าร่วมกับประกันสังคม โดยจะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ไม่นับมาตรา 40 ผู้ประกันตนต้องส่งเงินครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน หากลาออกจากงานแล้วยังใช้สิทธิ์ได้อีก 6 เดือน โดยผู้ประกันตนสามารถรับบริการทางการแพทย์ได้ดังนี้
1. อุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด เบิกค่ารักษาได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ ไม่เกิน 900 บาท/ปี กรณี "ขูดหินปูน" แต่ละครั้งต้องเว้นระยะห่าง 6 เดือนก่อน จึงจะมีสิทธิการขูดหินปูนเพื่อเบิกในครั้งต่อไปได้
2. การใส่ "ฟันเทียม" ชนิดถอดได้บางส่วน มีสิทธิเบิกค่ารักษาได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวงเงิน 1,300 – 4,400 บาทต่อ 5 ปี ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
2.1 กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน
- 1 - 5 ซี่เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เงิน 1,300 บาท
- มากกว่า 5 ซี่เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท
2.2 กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก
- ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท
- ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณี "การรักษารากฟัน" นั้น ไม่ครอบคลุมการเบิกจ่ายของประกันสังคม
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลที่ติดสติกเกอร์ ระบุว่า "สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตน กรณีทันตกรรม ทำฟันไม่ต้องสำรองจ่าย"
สำหรับกรณีที่เข้ารับการรักษากับสถานพยาบาล ที่ไม่ได้ทำความตกลงเรื่องการเบิกจ่ายกับประกันสังคม ผู้ประกันตนจะต้องเตรียมหลักฐานไปยื่นรับเงินที่สำนักงานประกันสังคม ดังนี้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16)
- ใบรับรองแพทย์
- ใบเสร็จรับเงิน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่น ๆ ที่ออกโดยหน่วยงานราชการ
- เวชระเบียนของแพทย์ผู้รักษา(กรณีเบิกฟันปลอมฐานอะคริลิก)
อย่างไรก็ตาม สามารถเบิกค่าทำฟันได้ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ระบุในใบเสร็จ
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม
ภาพโดย pixabay.com