Exclusive Content : เมื่อถุงผ้ามาแทนที่ ถุงพลาสติก -ถึงเวลาผู้ผลิตปรับตัว
ช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อมและรณรงค์ในการลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง โดยปีนี้เป็นปีที่หลายหน่วยงานประกาศยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกแล้ว แต่ผู้ผลิตถุงพลาสติกต้องปรับตัวอย่างไร
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม(63) ที่ผ่านมา บรรดาห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ได้เริ่มงดแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้า ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงที่ให้ไว้ กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ประกาศนโยบาย ผู้บริโภคที่ซื้อของต้องพกถุงไปเอง โดยคาดหวังว่า จะช่วยลดจำนวนถุงขยะพลาสติกหูหิ้วให้ได้ 45,000 ล้านใบต่อปี คือ ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในไทย 40 % จากตลาดสด เทศบาล เอกชน และแผงลอย คิดเป็นจำนวน 18,000 ล้านใบต่อปี, 30 % มาจากร้านขายของชํา จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี และอีก 30% มาจากห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย คนละ 8 ใบต่อวัน ทำให้มีขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน
CR:Pixabay
คุณธีระชัย ธีระรุจินนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) จำกัด (มหาชน) หรือ TPLAS กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติก ต้องยอมรับว่า หลังจากที่ประกาศงดใช้ถุงพลาสติกในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายที่ผลิตให้กับโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อต่างๆ
“โดยส่วนตัวมองว่า แม้จะมีการงดใช้ถุงพลาสติก แต่จะเป็นเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะมองว่าการใช้ถุงพลาสติก ยังมีความต้องการใช้ในกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่มีชีวิตจับจ่ายใช้สอยในตลาดสดมากกว่า เมื่อเทียบกับห้างสรรพสินค้า เพราะสินค้าบางประเทศ อาทิ อาหารสด หรือแม้แต่อาหารร้อน ยังจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นถุงร้อน หรือถุงหูหิ้ว ดังนั้นจึงมองว่าถุงพลาสติกยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการพฤติกรรมผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่ก็ยังคงมีความต้องการใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะสินค้าบางประเภทยังมีความจำเป็นต้องใช้ นอกจากว่า จะสามารถหาบรรจุภัณฑ์ใหม่เข้ามาทดแทน และไม่เป็นการผลักภาระ ให้ผู้บริโภค” นายธีระชัย กล่าว
ในส่วนของ TPLAS ไม่ได้ผลิตป้อนให้กับห้างสรรพสินค้า หรือโมเดิร์นเทรด แต่จะผลิตขายให้กับผู้ค้าในตลาดสด ทั้งถุงหูหิ้ว ถุงร้อนสำหรับใส่กับข้าวต่างๆ โดยยอดผลิตจะอยู่ที่ 700-800 ตันต่อเดือน ซึ่งมองว่า การที่รัฐบาลรณรงค์ให้งดใช้ถุงพลาสติกไปโดยสิ้นเชิง นั้น ส่วนตัวมองว่า ยังแก้ปัญหาไม่ได้ และยังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด โดยควรจะไปโฟกัสที่การบริหารจัดการขยะมากกว่า เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากพลาสติกมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังนั้น ในฐานะผู้ประกอบการรายหนึ่งในอุตสาหกรรม อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการ เพื่อเยี่ยวยา หรือหาแผนรองรับเข้ามาทดแทน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าวก่อนที่ธุรกิจจะปิดตัว เพราะกลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการประเภท SMEs
"การแก้ปัญหาขยะเป็นสิ่งที่ต้องทำแต่ไม่ใช่เน้นเรื่อง ของขยะอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะที่จริงแล้วสารตั้งต้นของพลาสติก ที่เรียกว่า "ไฮโดรคาร์บอน" มาจากธรรมชาติ ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกยังรับรอง ว่า "ไมโครพลาสติก" เอง ก็ไม่พบอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต "
CR:Pixabay
ด้าน ภาพรวมทางธุรกิจในปี 2563 TPLAS ได้วางกลยุทธ์เชิงรุกในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นแผนต่อเนื่องจากปี 2562 ที่วางไว้ โดยเฉพาะแผนขยายการลงทุนแตกไลน์ไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้สอดรับกับกระแสการรักษ์โลก ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความครอบคลุมกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น โดยตั้งเป้าอัตราการเติบโตของรายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ซึ่งสัดส่วนรายได้หลักยังคงมาจากจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถุงบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว และฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร ประมาณ 95% และในส่วนกล่องกระดาษบรรจุอาหาร ประมาณ 5%
“จากการปรับกลยุทธ์แบบเชิงรุกโดยการเพิ่มไลน์ผลิตในส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่รักษ์สิ่งแวดล้อม คาดว่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯในอนาคตได้เพิ่มขึ้น โดยในปีนี้ บริษัทฯได้มีการตั้งเป้ายอดขายเฉพาะบรรจุภัณฑ์ สำหรับบรรจุอาหารไว้ประมาณ 30 ล้านบาทและคาดว่าจะมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ” ธีระชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม คุณธีระชัย บอกว่า ถึงแม้ TPLAS จะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงพลาสติก แต่บริษัทฯก็ไม่ได้หยุดนิ่งที่จะพัฒนาและมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับบริษัทฯในระยะยาว ซึ่งปีนี้บริษัทฯ มุ่งเน้น ทำการตลาดเชิงรุกต่อเนื่องในผลิตภัณฑ์กล่องกระดาษบรรจุอาหาร จากเยื่อไผ่ ภายใต้แบรนด์ “B-LEAF” โดยหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในล็อตแรก ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทฯเร่งทำตลาดในล็อตที่ 2 อีกจำนวน 800,000 กล่อง
ขณะเดียวกัน มีแผนในการสั่งอุปกรณ์เครื่องจักร เพื่อมาผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อมารองรับกับดีมานด์ความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ บริษัทฯอยู่ระหว่างแผนการศึกษาไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1-2 ผลิตภัณฑ์ โดยเบื้องต้นคาดว่า จะสามารถได้ข้อสรุปภายในเร็วๆนี้
สำหรับ ผลิตภัณฑ์ใหม่ ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษบรรจุอาหารนั้น บริษัทฯได้มีการเริ่มทำการตลาดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าได้การตอบรับที่ดีจากกลุ่มยี่ปั๊วอย่างมาก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทฯสามารถเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ทันความต้องการในช่วงที่มีการประกาศลดใช้กล่องโฟม ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว ทำให้บริษัทฯมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนปริมาณการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษสำหรับบรรจุอาหารในปีนี้เพิ่มขึ้น
CR:Pixabay
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ภาครัฐเดินหน้าอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะการเริ่มต้นให้งดการใช้ถุงพลาสติก ไม่เพียงผู้บริโภคเท่านั้นที่ต้องปรับตัว ด้านผู้ผลิตถุงพลาสติกเองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน ด้วยนโยบายดังกล่าวย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดในช่วงต่อจากนี้อย่างแน่นอน
" ในมุมของธุรกิจนั้น มองว่าการทำธุรกิจในปี 63 นี้ ต้องก้าวอย่างระมัดระวัง ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของหลายมุม ดังนั้นผู้ประกอบการต้องรอบคอบ" คุณธีระชัย กล่าว
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand