Exclusive Content : Brexit ระเบิดเศรษฐกิจลูกเดิม ที่ไทยต้องตั้งรับ
สถานการณ์เบร็กซิท ที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายปี ทำให้เกิดความไม่แน่นอนหลายด้าน จนกระทบในแง่ของการค้าการลงทุนร่วมกับอีกหลายประเทส จนอาจจะลุกลามไปทั่วโลกได้หรือไม่
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็น Brexit ยังเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก เพราะนับตั้งแต่การลงประชามติ เพื่อแยกสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในวันที่ 23 มิถุนายน ปี 2016 ก็ยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะยังคงยืดเยื้อต่อไป ซึ่งจะยิ่งสร้างความไม่ชัดเจนต่อภาคการค้าการทำธุรกิจของสหราชอาณาจักรกับนานาประเทศต่อเนื่องไปอีก
CR:Pixabay
ขณะเดียวกัน ประเด็น Brexit ยังอาจกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวหรือลดลงของจีดีพีโลก เพราะล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยคาดว่าเศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัว 5% ในปี 2562 ลดลง 0.4% จากที่เคยคาดไว้เมื่อเดือนเม.ย. ขณะเดียวกันคาดว่า เศรษฐกิจเอเชียในปี 2563 จะขยายตัว 5.1% ลดลง 0.3% จากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย. วึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และปัจจัยความไม่แน่นอนของการที่อังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) รวมอยู่ด้วย
สัปดาห์ที่แล้ว ที่ประชุมสภาสามัญมีมติเสียงข้างมาก 329 ต่อ 299 เสียง "เห็นชอบในหลักการ" ต่อร่างแผนยุทธศาสตร์เบร็กซิตโดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แต่เพียงไม่กี่นาทีที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 322 ต่อ 308 เสียง คัดค้านการที่จอห์นสันต้องการให้สภาสามัญผ่านร่างแผนยุทธศาสตร์เป็นกฎหมายภายในเวลาเพียง 3 วัน เพื่อให้สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ในวันที่ 31 ต.ค. นี้
สถานการณ์ดังกล่าว ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อวงการธุรกิจ รวมทั้งการค้าทั่วโลก โดยมีการวิจัยจาก Walpole (องค์กรไม่แสวงหากำไรในอังกฤษ) ระบุว่า หากสหราชอาณาจักรออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงจะส่งผลกระทบกับแบรนด์ชั้นนำซึ่งมีมูลค่าส่งออกมากกว่า 6.8 พันล้านปอนด์ เพราะมากกว่า 80% ของแบรนด์เหล่านี้มีอียูเป็นตลาดส่งออกหลัก อัตราภาษีที่เปลี่ยนไปย่อมกระทบต่อต้นทุนและฐานะการเงินของธุรกิจรวม ทั้งขั้นตอนพิธีศุลกากรที่ต้องใช้เวลามากกว่าเดิมก็อาจส่งผลกระทบต่อการค้าด้วย
CR:Pixabay
ในส่วนของไทยเอง สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์ วิเคราะห์ก่อนหน้านี้ว่า ไทยน่าจะได้รับผลกระทบทางลบในวงจำกัด เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่เข้มแข็ง เช่น อัตราเงินเฟ้อและการว่างงานที่ต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถรับมือกับความผันผวนจากภายนอกได้ โดยหากอียูและสหราชอาณาจักรสามารถบรรลุความตกลง Brexit เบื้องต้นได้ โดยไม่ติดปัญหาในรัฐสภาของสหราชอาณาจักรเหมือนครั้งที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรจะยังคงปฏิบัติตามกฎระเบียบของอียูต่อไปจนถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ถึงแม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกของอียูแล้วก็ตาม ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยลดความผันผวนที่อาจส่งผลกระทบต่อไทยได้
ขณะที่ ในด้านการค้าคาดว่าสหราชอาณาจักรจะเร่งเจรจาการค้าทั้งในกรอบ WTO และการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญของไทย โดยปัจจุบันสหราชอาณาจักรเป็นตลาดสำคัญอันดับ 3 ในยุโรป รองจากเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ส่วนด้านธุรกิจในสหราชอาณาจักรจะให้ความสำคัญกับการมองหาตลาดใหม่มากขึ้น ไทยอาจใช้โอกาสนี้ดึงดูดนักลงทุนของสหราชอาณาจักรผ่านโครงการสำคัญต่าง ๆ อาทิ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในทางกลับกัน นักลงทุนไทยอาจต้องเตรียมมองหาตลาดใหม่สำหรับการลงทุนหรือพิจารณาย้ายฐานการผลิตจากสหราชอาณาจักรไปประเทศอื่นในอียู สำหรับด้านการท่องเที่ยว ประชาชนจากสหราชอาณาจักรอาจมีกำลังจ่ายน้อยลงจากเหตุการณ์ Brexit อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและค่าเงินปอนด์ตกต่ำ ซึ่งอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยลดลง
นายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เองก็ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนด้านการพาณิชย์เพื่อเพิ่มตัวเลขการส่งออก ภายใต้สถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบสงครามการค้า Brexit ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่าอย่างน้อยในช่วงระยะเวลาจากนี้ไปจะบุกตลาดไปด้วยกันทั้งภาครัฐและเอกชนใน 10 ตลาดใหญ่ที่เห็นว่ามีศักยภาพ ประกอบด้วยตลาด จีน อินเดีย ตุรกี เยอรมัน ศรีลังกา บังคลาเทศ ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ อังกฤษ ยุโรป เป็นต้น
"ให้ทูตพาณิชย์ไปศึกษากฎเกณฑ์กติกาต่างๆของประเทศสำคัญสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกของไทย สามารถได้รับสิทธิพิเศษหรืออัตราภาษีต่ำตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วเพื่อให้ส่งออกไปในราคาที่แข่งขันกับคู่แข่งได้" นายจุรินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสหภาพยุโรปได้ตกลงยืดเวลาให้อังกฤษถึงสิ้นเดือนมกราคม ปี 2020 ซึ่งการอนุมัติขยายเวลาดังกล่าวคือ การทำตามที่รัฐบาลอังกฤษ ภายใต้การนำของบอริส จอห์นสัน ร้องขอให้ยืดเวลา ซึ่งเป็นการยืดเวลาออกไปจากเดิมคือ สิ้นเดือน 31 ตุลาคม 2019
แม้ Brexit จะเป็นเพียงหนึ่งปัจจัยกระทบภายนอกและอาจมีผลต่อไทยอยุ่ไกลๆ แต่ก็เหมือนเป็นระเบิดลูกเล็กๆ ที่เมื่อร่วงลงใกล้ๆก็อาจจะระเบิดขึ้นมาเมื่อใดก็ได้หากไม่เตรียมรับมือ เพราะนอกจาก Brexit แล้ว ไทยยังต้องเผชิญกับภาวะค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง สงครามการค้าที่มีผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงกำลังซื้อในประเทศที่ยังทรุดลง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยให้ไม่อาจขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
CR:Pixabay
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- Exclusive Content : แผนกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ปลดล็อกคนอยากมีบ้าน
- Exclusive Content : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 อะไรดี อะไรโดน
- Unseen Job: แกร็บไบค์วิน ผู้บกพร่องการได้ยิน ให้บริการด้วยใจ ไม่ใช้เสียง
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand