TNN ไวรัสระบาด โรคเกิดใหม่ โลกพร้อมไหม หากมีโรคระบาดใหญ่ครั้งใหม่ในปี 2025

TNN

TNN Exclusive

ไวรัสระบาด โรคเกิดใหม่ โลกพร้อมไหม หากมีโรคระบาดใหญ่ครั้งใหม่ในปี 2025

ไวรัสระบาด โรคเกิดใหม่ โลกพร้อมไหม หากมีโรคระบาดใหญ่ครั้งใหม่ในปี 2025

โนโรไวรัสและ hMPV ที่ระบาดหนักในจีน, การเสียชีวิตของชาวอเมริการายแรกจากไข้หวัดนก H1N1 และการประกาศภาวะฉุกเฉินจากฝีดาษลิง (Mpox)

ข่าวไวรัสและโรคระบาดที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2024 ลากยาวข้ามปีมาถึง 2025 ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าโลกอาจต้องเผชิญกับโรคระบาดใหญ่ครั้งใหม่หรือไม่ และเราพร้อมรับมือหรือยัง?
แม้จะมีบทเรียนจากโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 14 ล้านคน และทำให้ประชากรโลกประมาณ 400 ล้านคนต้องทุกข์ทรมานจากภาวะ "โควิดเรื้อรัง" (Long COVID) แต่ความพยายามในการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดกลับยังคงล่าช้า ขณะที่การระบาดของหลายโรคก็ดูรุนแรง และต้องจับตามากขึ้น ซึ่งนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็มองตรงกันว่า โลกเราทั้งพร้อม และไม่พร้อม แต่สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมตัวมากกว่านี้ 


ความพร้อมที่ยังไม่สมบูรณ์
เดิมทีในเดือนมิถุนายน 2024 ได้มีการเจรจาสนธิสัญญาโรคระบาดระดับโลกที่ริเริ่มโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพทั่วโลก แต่การเจรจานั้นกลับหยุดชะงัก และไม่สามารถหาข้อสรุปได้เนื่องจากความขัดแย้งในประเด็นการแบ่งปันเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้ประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางผลิตวัคซีน ยา และการผลิตชุดทดสอบที่ตรวจได้อย่างรวดเร็ว
ดร. แคลร์ เวนแฮม จาก London School of Economics (LSE) ระบุว่า การเจรจาที่ล้มเหลวสะท้อนให้เห็นถึงความขาดแคลนความไว้วางใจระหว่างประเทศ และอาจทำให้โลกไม่มีกรอบการทำงานที่ชัดเจนสำหรับการตอบสนองต่อวิกฤตสุขภาพในอนาคต แม้ว่าประเทศสมาชิก WHO จะตั้งเป้าสรุปสนธิสัญญานี้ในเดือนพฤษภาคม 2025 แต่ความล่าช้านี้อาจทำให้การตอบสนองที่ช้าเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการผลิตวัคซีน การจัดหาเวชภัณฑ์ หรือการควบคุมการแพร่ระบาด


ภัยคุกคามที่หลากหลาย
ในปีที่ผ่านมา WHO ได้ปรับปรุงรายชื่อเชื้อก่อโรคที่อาจเป็นภัยระบาดครั้งใหม่ โดยเพิ่มเชื้อโรคมากกว่า 30 ชนิด เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ไข้เลือดออก รวมไปถึงสถานการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยา (AMR) ที่ในการประชุมสุดยอดเศรษฐกิจโลกประจำปี 2024 ได้มีการเปิดเผยอีกว่า เชื้อดื้อยาจะกลายเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก และอาจคร่าชีวิตผู้คนไป 10 ล้านคนภายในปี 2050 หากไม่มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยรายงาน "Quantifying the Impact of Climate Change on Human Health" คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 การเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 14.5 ล้านคน ซึ่ง ดร. อาเหม็ด โอกเวลล์ รองประธานฝ่ายกลยุทธ์สุขภาพระดับโลกของมูลนิธิสหประชาชาติ มองว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติยังเป็นความเสี่ยงก่อให้เกิดสถานการณ์ที่โรคต่างๆ สามารถเติบโตได้ และหากพื้นที่อย่างป้าไม้ หรือธารน้ำแข็งได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากขึ้น แมลง เชื้อโรค และสัตว์ อาจย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในกลุ่มประชากรมนุษย์ และอาจทำให้เราเริ่มพบเห็นโรคต่างๆ ที่ไม่เคยพบมาก่อนด้วย
ดร. อาเหม็ด ยังเตือนว่า "โลกยังคงอยู่ในภาวะเสี่ยงปานกลาง เราเห็นการระบาดของโรคอย่างฝีดาษลิง ไข้เลือดออก อหิวาตกโรค และโปลิโอที่ยังคงคุกคามระบบสุขภาพ หากเราไม่ปรับปรุงการทำงานร่วมกันในระดับโลก ความเสียหายจะมีมากขึ้น" เขาเน้นถึงความจำเป็นของความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพที่มีลักษณะข้ามพรมแดน


บทเรียนจากอดีตและหนทางข้างหน้า
แม้โลกจะมีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญมากขึ้น แต่การตอบสนองต่อวิกฤตสุขภาพยังคงถูกจำกัดด้วยการขาดการลงทุนที่ยั่งยืน และการละเลยบทเรียนจากอดีต 
ดร. มาเรีย แวน เคอร์โคฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคโควิด-19 ของ WHO เตือนว่า หากการระบาดใหญ่ครั้งต่อไปเกิดขึ้นในปี 2025 โลกอาจยังไม่พร้อมรับมืออย่างเต็มที่ แม้ว่า ระบบการแพทย์ต่างๆ ได้ก้าวหน้าครั้งใหญ่หลังการระบาดของ โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี และระบบข้อมูลเพื่อตรวจจับภัยคุกคามอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงออกซิเจนทางการแพทย์ 
“ในทางกลับกัน ความเจ็บปวดจากโควิด-19 และวิกฤตอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าเราอาจยังไม่พร้อมอย่างแท้จริงที่จะรับมือกับการระบาดครั้งใหม่ ในบริบทของสงคราม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตเศรษฐกิจ และการเมือง เราไม่พร้อมอย่างแน่นอนที่จะรับมือกับการระบาดอีกครั้ง" เธอกล่าว
เธอยังบอกว่าวิธีแก้ปัญหาในระยะยาวคือ การลงทุนในการแพทย์ในระดับที่ถูกต้อง ต้องมีความรู้สึกเร่งด่วน และต้องแน่ใจว่าระบบไม่เปราะบาง” การเตรียมพร้อมที่แท้จริงต้องการการลงทุนในระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และการให้ความสำคัญกับสุขภาพในเวทีการเมืองโลก หากเราไม่ลงมือทำ โลกอาจต้องเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงจากโรคระบาดในอนาคตอีกครั้ง

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง