สาว ๆ คนไหนออกกำลังกายหนัก หลายชั่วโมงต่อวัน หลายวันต่ออาทิตย์ นับแคลอรี ไม่เน้นสารอาหาร กินให้น้อย เพื่อลดน้ำหนัก ใครมีพฤติกรรมแบบนี้ ทำไปนาน ๆ อาจทำให้ประจำเดือนขาดหาย มีความเสี่ยงกระดูกพรุน ? ข่าวนี้จริงไหม TNN Exclusive จะพาไปหาคำตอบ
พญ.สุธีรา เอื้ออำนวยชัย หน่วยวางแผนครอบครัวและอนามัยเจริญพันธุ์ รพ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย ระบุว่า เป็นเรื่องจริง พฤติกรรมดังกล่าวจะขัดกับการสั่งฮอร์โมนที่จะทำให้เกิดการตกไข่ เมื่อร่างกายไม่สร้างฮอร์โมนก็จะส่งผลทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิงต่ำ ซึ่งผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ มีความจำเป็นจะต้องมีฮอร์โมนเพศหญิงเพื่อดูแลร่างกาย โดยควรจะมีไขมันในร่างกายประมาณ ร้อยละ 22 ของน้ำหนักตัวเป็นอย่างน้อย จึงสามารถคงรอบประจำเดือนตามปกติได้ ในผู้หญิงที่มีไขมันในร่างกายน้อย หรือผอมเกินไป อาจทำให้ขาดประจำเดือนได้ เช่นเดียวกับคนที่ออกกำลังกายหนักมาก แต่กินน้อย ทำให้ได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ส่งผลต่อภาวะประจำเดือนขาด และมีความเสี่ยงกระดูกพรุนก่อนวัย
"หากมีเป้าหมายในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ควรจะทำแต่พอดี เพื่อความแข็งแรง หากออกกำลังกายหนักจะเป็นการใช้ร่างกายหนักเกินไปร่างกายจะตัดการทำงานที่ไม่สำคัญออก เช่น การสั่งให้ไข่ตก หากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลทำให้เกิดกระดูกพรุนและเข้าสู่วัยทองก่อนวัย เส้นเลือดหัวใจผิดปกติ เป็นโรคหัวใจ หลอดเลือดสมองได้ง่ายขึ้น รวมถึงอารมณ์แปรปรวน สร้างความเครียดให้กับร่างกาย"
คุณหมอแนะแนวทางแก้ไข คือ ออกกำลังกายด้วยความหนักที่เหมาะสม โดยเฉพาะหากเป็นผู้หญิงที่ผอมและมีไขมันสะสมน้อยอยู่แล้ว อาจจะเน้นการออกกำลังกายที่เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ แทนการออกกำลังกายที่ต้องใช้ความอดทนเป็นระยะเวลานาน ๆ เพื่อลดไขมัน และจะต้องรับประทานสารอาหาร ครบ 5 หมู่ ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ที่สำคัญคือ หากพบว่าประจำเดือนขาดหายไป ควรจะพบสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
เรียบเรียงโดย : ธัญรมณ ไพศาลสุนทรกิจ
ผู้สื่อข่าว คอลัมน์ ข่าวนี้จริงไหม ?
ภาพจาก
canva
ช่างภาพTNN ช่อง16