TNN “แอนดรูว์ วัตสัน” คือชายที่ทำให้ “คนผิวดำ” มีตัวตนในโลกฟุตบอลตะวันตก

TNN

TNN Exclusive

“แอนดรูว์ วัตสัน” คือชายที่ทำให้ “คนผิวดำ” มีตัวตนในโลกฟุตบอลตะวันตก

“แอนดรูว์ วัตสัน” คือชายที่ทำให้ “คนผิวดำ” มีตัวตนในโลกฟุตบอลตะวันตก

หากกล่าวถึง “โลกตะวันตก” สิ่งแรกที่คนทั่วไปนึกถึง มักจะคิดถึงคนผิวขาว แต่มิติทางประวัติศาสตร์ฟุตบอลจะพบว่า มีนักกีฬาผิวดำติดทีมชาติมาตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว โดยมีชื่อว่า แอนดรูว์ วัตสัน

ในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นทีมชาติในโลกตะวันตก อุดมไปด้วย “นักกีฬาผิวสี” โดยเฉพาะ  “ฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศส” ในทีมชุดที่ได้แชมป์โลก ปี 2018 และรองแชมป์โลก ปี 2022 ที่เต็มไปด้วยผู้เล่นผิวดำ 


หากกล่าวถึง “โลกตะวันตก” สิ่งแรกที่คนทั่วไปนึกถึง มักจะคิดถึงคนผิวขาว แต่มิติทางประวัติศาสตร์ฟุตบอลจะพบว่า มีนักกีฬาผิวดำติดทีมชาติมาตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 ช่วงไล่เลี่ยกันกับ “ฟุตบอลสมัยใหม่” แบบที่เราแข่งขันกัน และยังคงมีความเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ ตามยุคสมัยจนปัจจุบัน 


รวยแล้วไม่ใช่ปัญหา


คนผิวดำเองก็มีเรื่องของช่องว่างทางโอกาสจากสถานะทางสังคมเหมือนกับคนผิวขาว และคนเอเชียเหมือนกัน คนผิวดำที่ฐานะร่ำรวยก็เข้าถึงโอกาสได้มากกว่า ไม่เพียงเท่านั้น ตามพันธุกรรมศาสตร์ เมื่อคนผิวขาวที่เป็นยีนด้อย สมรสกับคนผิวดำที่เป็นยีนเด่น บุตรที่คลอดออกมา ก็ย่อมมีผิวตามยีนเด่นด้วย 


แอนดรูว์ วัตสัน คือภาพสะท้อนชั้นดีของเรื่องนี้ ในฐานะ นักฟุตบอลชายผิวดำคนแรกของโลก ที่ได้ประเดิมทีมชาติในโลกตะวันตก


วัตสันมีพ่อเป็นคนผิวขาว “เศรษฐีไร่อ้อย” ชาวสกอตแลนด์ ชื่อว่า ปีเตอร์ มิลเลอร์ ส่วนแม่เป็นหญิงผิวดำจาก “บริทิชกีอานา [ประเทศกีอานา ณ ปัจจุบัน]” ชื่อว่า โรส วัตสัน พ่อได้ตัดสินใจนำเขาและพี่สาว เดินทางมาอังกฤษตั้งแต่เล็ก แต่ไม่ได้พาแม่ของเขามาด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่ออนาคตทางการศึกษาที่ดีกว่า


วัตสัน ได้รับการศึกษาที่ Heath Grammar School ที่เมืองฮาลิแฟกซ์ เวสต์ ยอร์คเชียร์ ก่อนจะย้ายไปเรียนที่ King’s College School ที่เขตวิมเบิลดัน กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นแนวหน้า


พอเข้าสู่วัยอุดมศึกษา เขาก็ได้เข้าเรียนที่ “มหาวิทยาลัยกลาสโกว์” ซึ่งติด 3 อันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของสกอตแลนด์ ก่อนที่เขาจะเริ่มเส้นทางนักฟุตบอลกับ “ทีมชาติสกอตแลนด์” และต้องลาออกจากการเรียนปริญญาตรีกลางคัน มาเอาดีด้านฟุตบอล โดยเขาถือเป็นดาวเด่น ขนาดที่ว่าได้รับ “ปลอกแขนกัปตันทีม” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ สำหรับคนผิวดำในสมัยนั้น


วัตสัน ถือเป็น “ผู้กรุยทาง” ให้แก่คนผิวดำอย่างแท้จริง แต่ผู้สังเกตการณ์ก็จะมองว่า นั่นเพราะวัตสันมีโอกาสทางสังคมมากกว่าคนผิวดำส่วนใหญ่ อาจมองว่าเขาเป็นตัวแทนของคนผิวดำไม่ได้เต็มที่


เช่นเดียวกับ “ราอูล ดิยาญ” ชายผิวดำที่ติดทีมชาติฝรั่งเศสในอีก 30 กว่าปีต่อมา ก็เป็นลูกชายของ แบลส ดิยาญ นักการเมืองผิวดำคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งใน Chamber of Deputies


เขาเรียนโรงเรียนสำหรับอีลีท และได้ทำงานเป็นนายธนาคาร ซึ่งเป็นการศึกษาและอาชีพที่ขนาดคนผิดขาวยังเข้าไปได้ยาก ก่อนที่ด้วยใจรักในฟุตบอล จึงเอาดีทางด้านนี้ ซึ่งเป็นขวัญใจแฟนบอล ถึงขนาดได้รับฉายาว่า “ไอ้แมงมุมดำ” เลยทีเดียว


กระนั้น เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป คนผิวดำและอื่น ๆ ก็เริ่มมี “ที่ทาง” ในทีมชาติโลกตะวันตกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ เมื่อเข้าสู่ยุค “ทุนนิยม” 


สีผิวไม่ใช่สิ่งกีดกัน


ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟุตบอลเริ่มเปลี่ยนแปลงจาก “กีฬาเพื่อกีฬา (Amateurism)” มาสู่ “กีฬาเพื่ออาชีพ (Professionalism)” มากยิ่งขึ้น หรือก็คือ การแข่งขันฟุตบอล จะเป็นไปเพื่อ “ทำเงิน” ทั้งในเรื่องของการเป็นธุรกิจ หารายได้จากค่าเข้าชม หรือขายสินค้า รวมถึงระบบ “จ่ายค่าเหนื่อย” ให้นักกีฬา เข้ามาเกี่ยวข้อง


หมายความว่า ฟุตบอลเข้าสู่โลก “ทุนนิยม” แบบเต็มตัว และเมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมหมายความว่า “สีผิว” ไม่จำเป็นอีกต่อไป ไม่ว่าจะขาวหรือดำ หากว่า “เก่งจริง” ย่อมสามารถที่จะมีที่ทางในโลกฟุตบอลอาชีพได้ 


โดยไม่สนใจว่า พวกเขานั้นจะ “มีฐานะ” อย่างไร จะ“อพยพ” มาจากแอฟริกา/อเมริกาใต้ หรือ “มีพ่อแม่เป็นชาวโลกตะวันตก” เช่นเดียวกับในอดีตหรือไม่ก็ตาม 


เราจึงเห็นได้ว่า มีบรรดาชาวผิวดำ คนเอเชีย คนละติน เข้ามาติดทีมชาติโลกตะวันตกมากยิ่งขึ้น แม้จะยังมีจำนวนที่น้อย แต่ก็ถือว่าเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


“ฮัมฟรีย์ ไมนาลส์” ถือเป็นพ่อค้าแข้งผิวดำแรก ๆ ที่ทำผลงานในระดับสโมสรได้เป็นอย่างดี จึงได้รับเกียรติให้ติดทีมชาติ “เนเธอร์แลนด์” ทั้งยังเป็นผู้กรุยทางให้นักเตะเชื้อสายสุรินาเม ให้มีที่ทางในทีม “อัศวินสีส้ม” ตามมาในภายหลัง


แต่ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สุด คงหนีไม่พ้น “วิฟ แอนเดอร์สัน” แข้งเชื้อสายจาไมกาที่เกิดในอังกฤษ ในยุคที่อังกฤษยังคงเหยียดผิวอย่างหนัก ไม่ยอมรับชาวผิวสีมากกว่าที่อื่น ๆ ในโลกตะวันตก แต่ด้วยการทำผลงานได้อย่างเข้าตากับ “น็อตติงแฮม ฟอเรสต์” ในชุดแชมป์ “ยูโรเปี้ยน คัพ” 2 สมัยซ้อน [ฤดูกาล 1978-79, 1979-80] ทำให้เขาก้าวขึ้นมาเป็น “ชายผิวดำคนแรกในทีมชาติอังกฤษ” 


ทั้งนี้ การนำฟุตบอลเข้าสู่โลกแห่ง “ทุนนิยม” ได้นำพาความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ นั่นคือ “การอพยพ” และ “การนำเข้า” บรรดาพ่อค้าแข้งจากต่างทวีปเข้ามามากยิ่งขึ้น และแน่นอน พออยู่ไปนาน ๆ ก็เกิดการ “เล่นแร่แปรธาตุ” ทางสัญชาติบางอย่างเกิดขึ้น 


แซมบ้า + แอฟริกา


แม้ในสังคมของโลกตะวันตก คนผิวดำจะยังได้รับ “การเลือกปฏิบัติ” แต่ในโลกของฟุตบอลอาชีพ สีผิวอาจไม่ได้มีความสำคัญมากเท่าฝีมือเสียเท่าไรนัก


แน่นอน บรรดามหาอำนาจทางฟุตบอลของโลกตะวันตก มักจะมีทรัพยากรอย่างมาก โดยเฉพาะมหาอำนาจทางฟุตบอลที่เป็นเจ้าอาณานิคมมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ หรือเบลเยียม มักจะหานักเตะผิวสีที่เปี่ยมความสามารถได้โดยง่าย 


เพราะร่างกายแข็งแกร่ง พละกำลังเป็นเลิศ และความเร็วเกินต้าน คือคุณสมบัติชั้นดีของนักฟุตบอลผิวสี ที่ยากจะหาได้จากผิวอื่น ๆ 


แต่กับประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่ได้โดดเด่นหรือประสบความสำเร็จในด้านฟุตบอลในโลกตะวันตกจะให้ทำอย่างไร


การนี้ ฟุตบอลจึงเริ่มเข้าสู่ยุค “แปลงสัญชาติ (Naturalisation)” มากยิ่งขึ้น โดยนักเตะที่มีการแปลงสัญชาติมากที่สุด หนีไม่พ้นบราซิลและแอฟริกาก็เพื่อช่วยให้บรรดาประเทศที่ไม่ได้โดดเด่น หรือไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางฟุตบอล ได้ลืมตาอ้าปาก


“โดนาโต กามา ดา ซิลบา” หรือ “โดนาโต” คือนักฟุตบอลชาวบราซิลที่ “กรุยทาง” การแปลงสัญชาติเป็นคนแรก โดย “สเปน” อนุญาตให้เขาแปลงสัญชาติได้ เนื่องจากลงสนามให้สโมสรในดินแดนแห่งนี้มามากกว่า 15 ปี 


ก่อนที่ประเทศเล็ก ๆ อื่น ๆ จะทำตาม ไม่ว่าจะเป็น “อากินัลโด บรากา” ของมาซิโดเนียเหนือ “ไบยาโน” ของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ทิอาโก ซิลบา ของบัลแกเรีย หรือ “แอร์นานี เปเรย์รา” ของอาร์เซอร์ไบจาน


ส่วนทางฝั่งแอฟริกา ผู้ที่กรุยทาง นั่นคือ “เยฟฟ์ วิทลีย์” โดยเขาเกิดและเติบโตที่ “แซมเบีย” ก่อนจะย้ายมาเข้าสังกัดอะคาเดมีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และในท้ายที่สุด เขาเลือกแปลงสัญชาติเป็นไอร์แลนด์เหนือ


อีกคนหนึ่ง ที่ตามมาติด ๆ และมีชื่อเสียงอย่างมาก นั่นคือ “เอ็มมานูเอล โอลิซาเดเบ” โดยเขาเป็นชาวไนจีเรียตั้งแต่กำเนิด ก่อนจะย้ายมาประสบความสำเร็จกับสโมสรในโปแลนด์  ก่อนที่ในที่สุด จะลงเอยแปลงสัญชาติมาเล่นให้โปแลนด์ 


Chronicles by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


  • บทความ Dark-skinned pioneers in European national football teams: patterns and stories

  • บทความ The Denationalization of Sport: De-ethnicization of the Nation and Identity Deterritorialization

  • บทความ The African American Experience in Professional Football

  • บทความ Who May Represent the Country? Football, Citizenship, Migration, and National Identity at the FIFA World Cup

  • บทความ English national identity and the national football team: the view of contemporary English fans

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง