TNN Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล: เจาะมายาคติ “เอลนีโญ” ที่เกิดมาตั้งแต่ “ยุคสุเมเรียน” แต่เพิ่งแพร่หลายในแคมเปญโลกร้อน

TNN

TNN Exclusive

Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล: เจาะมายาคติ “เอลนีโญ” ที่เกิดมาตั้งแต่ “ยุคสุเมเรียน” แต่เพิ่งแพร่หลายในแคมเปญโลกร้อน

Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล: เจาะมายาคติ “เอลนีโญ” ที่เกิดมาตั้งแต่ “ยุคสุเมเรียน” แต่เพิ่งแพร่หลายในแคมเปญโลกร้อน

โลกยังคงเผชิญกับปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่ว่าด้วย “ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (Southern Oscillation)” ที่ทำให้มหาสมุทรแปซิฟิกทางฝั่งใต้เส้นศูนย์สูตรประสบกับ “อุณหภูมิสูงขึ้น ภัยแล้ง หรือพายุฤดูร้อนถล่ม” ซึ่งตรงข้ามกับประเทศเหนือเส้นศูนย์ศูตร ที่จะมีอากาศเย็น หิมะตกหนัก หรือหน้าหนาวยาวนาน

ส่วนมากแล้ว การสร้างความตระหนักรู้ถึงเอลนีโญ จะมาพร้อมกับการสร้างความตระหนักรู้ใน “ประเด็นโลกร้อน” ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับกระแส “Woke” ว่าด้วยการหมายให้ตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของนักเคลื่อนไหว “สายกรีน” ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา 


แต่หากทำความเข้าใจ “ประวัติศาสตร์สังคม” ในยุคโบราณลึกลงไป จะพบว่าปรากฎการณ์ชื่อ เอลนีโญ นั้น มีมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว โดยสามารถสืบสาวได้จนถึง “ยุคสุเมเรียน” หรือ 4,000 ปีก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว


และนี่ประวัติศาสตร์ของเอลนีโญ ที่หลายคนอาจยังไม่รู้


ไม่ได้เรียก เอลนีโญ ไม่ได้หมายความว่าไม่มี


มนุษย์นั้นเมื่อเจอปรากฏการณ์ที่อธิบายไม่ได้ อาจตีความสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นปาฏิหาริย์


ดังที่ นาซซิม นิโคลัส ทาเล็บ เสนอไว้ในงานศึกษา The Black Swan: The Impact of the Highly Improbable ที่ว่าด้วย “ภาพลวงของการหาสาเหตุ (Illusion of Causality)” หมายถึง มนุษย์เรามักจะ “คิดไปเรียบร้อยแล้ว” ว่าสิ่งที่ตนเข้าใจนั้นเป็น “สาเหตุ” ของสิ่งที่ตนต้องการทำความเข้าใจ โดยไม่ได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า สิ่งนั้นเป็นสาเหตุของปรากฏการณ์ “อย่างแท้จริง” หรือไม่


สัมพันธ์กับหลักการจิตวิทยาสังคม ว่าด้วย “การคิดลัด (Cognitive Shortcut)” หมายความว่า มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะ “คิดตื้้น ๆ” เพื่อไม่ให้เกิดความสลับซับซ้อนทางความคิดมากจนเกินไป จนบางครั้ง ก็สร้างข้อสรุปแบบผิด ๆ ขึ้นมา


หากกลับมาพิจารณา เอลนีโญ ตามบริบทของความเข้าใจ โดยเฉพาะสังคมไทย จะพบว่า ส่วนมากมัก “ให้เหตุผล (Justification)” ไปว่ามาจาก “ภาวะโลกร้อน” หรือ “การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศฉับพลัน” โดยเรื่องโลกร้อนนั้น สังคมโลกเพิ่งตระหนักรู้กันแพร่หลาย เมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1970 นี้เอง และตีความว่า เอลนีโญ เป็นผลลัพธ์ของโลกร้อน


แต่หากพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะพบว่า เอลนีโญ มีมาตั้งแต่สมัย “ก่อนคริสตกาล” หรืออาจสืบสาวได้ราว ๆ “อารายธรรมสุเมเรียน” เลยทีเดียว


เพียงแต่ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวในช่วงเวลานั้น ไม่ได้มี “ศัพท์บัญญัติ” ว่า เอลนีโญ แต่การที่ไม่ได้เรียกสิ่งดังกล่าว “เป็นแบบเดียวกับสิ่งที่ปัจจุบันเรียก” ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งนั้น ๆ จะเพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด


สุเมเรียนระทม


หากทำการ “วรรณกรรม” งานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ “ประวัติศาสตร์ เอลนีโญ” จะพบอย่างน้อย 3 งานศึกษาด้วยกัน นั่นคือ El Niño in World History, El Niño in History: Storming Through the Ages และ Floods, Famines, and Emperors: El Niño and the Fate of Civilizations ซึ่งมีข้อเสนอที่ตรงกันว่า เอลนีโญ สามารถย้อนกลับไปพิจารณาได้ไกลถึงยุคสุเมเรียน 


ต้องบอกว่า หลังจากยุคน้ำแข็ง ที่ได้ละลายกลายเป็นแผ่นดิน ก็ถือว่านับเป็นเอลนีโญแล้ว หากแต่ยุคนั้น “ตัวหนังสือ” ยังไม่ถือกำเนิดขึ้น จึงไม่นับว่าเป็น “ยุคทางประวัติศาสตร์” ดังนั้น เอลนีโญจึงต้องเริ่มต้นจาก “อารยธรรมเมโสโปเตเมีย” ที่มี “อักษรคูนิฟอร์ม” เป็นหลัก


ณ พื้นที่นี้ “ชาวสุเมเรียน” ถือว่าเป็นใหญ่และเจริญที่สุด เนื่องจากพวกเขาพัฒนา “การปกครอง (Government)” ขึ้น แทนที่จะอยู่แบบ “ชนเผ่า (Tribalism)” อย่างพวกอื่น ๆ ในพื้นที่


ดังนั้น หมายความว่า พวกเขาจะต้อง “ลงถิ่นฐาน” เพื่อให้การปกครองเกิดขึ้นได้แบบเป็นสัดส่วน ไม่อพยพไปมา และเมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะประสบกับภัยธรรมชาติต่าง ๆ “แบบถาวร” ก็เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า ชนเผ่าที่ย้ายถิ่นฐานต่อเนื่อง


ในช่วง 2,550 ปีก่อนคริสตกาล มีบันทึกของชาวสุเมเรียน ที่เขียนถึง “ภัยแล้ง” ที่ประสบ ในลักษณะร้อยกรอง ความว่า 


“ภัยแล้งภัยร้าย ปลูกการใดมลายสิ้น 

น้ำลดเป็นอาจิณ นาทั่วถิ่นแห้งแรมปี

พืชพรรณร่วงทั้งผอง แผ่นดินทองไร้ขจี 

วัชพืชมิพึงมี ก็งอกงามตามครรลอง”


แน่นอน สุเมเรียนเป็นผู้คิดค้น “ระบบชลประทาน” ในดินแดนไทกรีส-ยูเฟตีส ซึ่งหากพิจารณาในภาพรวม ก็อาจมองอารยธรรมสุเมเรียนเหมือนอารยธรรมทั่วไปที่ต้องประสบกับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ในฐานะสังคมเกษตรกรรม


แต่หากใช้วิธีการ “Comparative Studies” หรือการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ คำอธิบายนั้นอาจไม่สมเหตุผลนัก เพราะไม่สามารถอธิบายเหตุการณ์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันอย่าง “น้ำท่วมในอารยธรรมอียิปต์” “ภัยแล้งในอารยธรรมอินคา” หรือ “ภัยหนาวในมิซซิสซิปปี” ได้


ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยังพบอีกว่า การสร้าง “ซิกกูแรต” ซึ่งหมายถึงพีระมิดที่ดูเผิน ๆ เหมือนกับไว้บูชาเทพเจ้า แต่หากพิจารณาพื้นที่รอบข้าง จะพบว่า สถาปัตยกรรม “ดินเหนียว” นี้ มีไว้ใช้เพื่อ “กักเก็บน้ำ” ในยามแล้ง และ “กั้นน้ำท่วม” ในยามที่เกิดน้ำหลาก 


เท่ากับว่า สุเมเรียนนั้น “มีความตระหนัก” ในเอลนีโญอย่างมาก ทำให้เตรียมการรับมือได้เป็นอย่างดี เพราะหากเป็นเรื่องที่นาน ๆ เกิดที พวกเขาจะไม่ลงทุนทำอะไรเช่นนี้เป็นแน่


แหล่งอ้างอิง


  • หนังสือ Floods, Famines, and Emperors: El Niño and the Fate of Civilizations

  • หนังสือ El Niño in World History

  • หนังสือ El Niño in History: Storming Through the Ages

  • หนังสือ The Black Swan: The Impact of the Highly Improbable

  • หนังสือ Judgment under Uncertainty: Heuristics and Biases

ข่าวแนะนำ