1 พฤษภาคม วันแรงงานสากล สัญลักษณ์แห่งชัยชนะจากการต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน
1 พฤษภาคม วันแรงงานสากล สัญลักษณ์แห่งชัยชนะจากการต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน
ประวัติและความสำคัญของวันแรงงานสากล
------------------------------------
วันแรงงานสากล หรือ เมย์เดย์ (May Day) ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญที่ได้รับการยกย่องและเฉลิมฉลองไปทั่วโลก วันนี้มีจุดกำเนิดมาจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องให้ลดชั่วโมงการทำงานเหลือเพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน
เหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การกำเนิดวันแรงงานสากล เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2428 ที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันนั้น เหล่าแรงงานได้รวมตัวกันนัดหยุดงานและออกมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องสิทธิ โดยมีข้อเรียกร้องหลักคือ การลดชั่วโมงการทำงานให้เหลือเพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อเวลาที่เหลือจะได้นำไปใช้ในการสันทนาการและพักผ่อน การต่อสู้ของแรงงานในครั้งนั้น ประสบความสำเร็จ ทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายกำหนดให้วันทำงานมีเพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน
การยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของเหล่าแรงงานในวันนั้น ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้หลายประเทศทั่วโลกเห็นความสำคัญของแรงงาน และกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานสากล เพื่อเป็นการรำลึกถึงความเสียสละ ตลอดจนเป็นการยกย่องและให้เกียรติแรงงานในฐานะกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ
สำหรับประเทศไทย การจัดการบริหารแรงงานเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 และต่อมาในปี พ.ศ. 2499 รัฐบาลได้ประกาศรับรองวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น "วันกรรมกรแห่งชาติ" ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2517 จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น "วันแรงงานแห่งชาติ" ซึ่งใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ความสำคัญของวันแรงงานไม่เพียงแต่เป็นการยกย่องและให้เกียรติแรงงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการรำลึกถึงความเสียสละ และการต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงานในอดีต เป็นวันที่ทุกภาคส่วนจะได้ทบทวนถึงการส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการของแรงงาน รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป
ภาพ TNN
ข่าวแนะนำ