ปฏิบัติการจับลิงลพบุรี ล็อกเป้าหัวโจก ส่องพื้นที่ “ลิง-คน” อยู่ร่วมกัน
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ใช้เวลา 3 วัน ระหว่าง 25-27 มีนาคม 2567 เปิดปฏิบัติการจับลิงลพบุรี ในเขตเมืองเก่า พระปรางค์สามยอด ตั้งเป้าจำนวน 30 ตัว เฉลี่ยวันละ 10 ตัว จากลิงกว่า 2,000 ตัว โดยเน้นล็อกเป้าลิงหัวโจกตัวตึง นิสัยเกเรก่อน !!
ปฏิบัติการไม่ง่ายเลย !! แม้มีการเตรียมแผนใช้ปืนยิงยาสลบ แต่ขึ้นชื่อว่า “ลิง” ทั้งไว ทั้งฉลาด บางตัวแอบคุ้นเคยกับปืนยิงยาสลบ คุ้นเคยกับชุดเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ ก็พากันหลบซ่อนตัว ไม่ออกมา จน “เกริกวิทย์ ภูมิพยัคฆ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ ลพบุรี” ประเมินสถานการณ์แล้ว ถึงกับต้องปรับแผนใหม่ มาใช้วิธีตั้งกรง และใช้ข้าวโพดเป็นอาหารเหยื่อล่อ 2 วันแรกจับได้ 16 ตัว แต่ยังไม่ได้จ่าฝูงตัวร้าย ก็ต้องเปลี่ยนแผนใช้ปืนยิงยาสลบอีกรอบสำหรับจับลิงขาใหญ่
“ลิงที่จับได้ จะถูกส่งไปอนุบาล เพื่อดูแลดัดนิสัยเกเรก้าวร้าว ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 จ.นครนายก ชั่วคราวก่อน รอการปรับภูมิทัศน์สวนลิงโพธิ์เก้าต้น จังหวัดลพบุรี ที่มีการเตรียมกรงขนาดใหญ่ไว้เสร็จเรียบร้อย ก็จะนำลิงมาไว้ที่สวนลิงได้”
ด้วยวีรกรรมลิงลพบุรีอันลือลั่น ทั้งไล่แย่งสิ่งของจากผู้คนจนมีอุบัติเหตุ ถึงขั้นบาดเจ็บ และภาพสะท้อนความร้าย ที่เป็นไวรัลไปทั่วโลก กับภาพเด็กหญิงในชุดนักเรียน ถือปืนปลอมขู่ลิง ขณะเดินอยู่ริมถนนในลพบุรี ก็สร้างความกังวลให้ชุมชนโดยรอบศูนย์ฯ ที่ จ.นครนายก เพราะในพื้นที่ก็มีปัญหาลิงที่หลุดจากศูนย์ฯ ออกมารบกวนอยู่แล้ว
ทวีป ล้อมวง ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก ให้ข้อมูลว่า ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า นครนายก มีลิงที่อยู่ในความดูแลอยู่แล้วกว่าพันตัว ลิงที่หลุดออกไปสร้างปัญหา เป็นเพราะความเสียหายของกรงเลี้ยง ซึ่งได้ซ่อมแซมแข็งแรงแล้ว ส่วนลิงลพบุรีที่จะนำมาฝากไว้ คาดว่าจะไม่เกิน 50 ตัว ซึ่งศูนย์ฯ ได้เตรียมกรงแยกเลี้ยงไว้แล้ว
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่าการจับลิง ลพบุรีเบื้องต้น เน้นจับลิงที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว เพื่อลดความเสี่ยงกับประชาชน นำมาดูแลที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ชั่วคราว และไม่ใช่การดักจับลิงเพื่อเคลื่อนย้ายให้จำนวนลิงน้อยลง จะมีลิงบางส่วนที่นำไปฝากไว้ที่ศูนย์ฯ จ.นครนายก
ลิงลพบุรี ส่วนใหญ่เป็นลิงแสมและลิงกัง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ซึ่งข้อมูลกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจประชากรลิง จ.ลพบุรี ปี 2566 มีจำนวน 5,709 ตัว เฉพาะลิงที่อาศัยในเขตเทศบาลเมืองลพบุรีมีอยู่ 2,206 ตัว และเพื่อลดปัญหาผลกระทบลิงกับคนอยู่ร่วมกัน เทศบาลเมืองลพบุรีมีการเตรียมพื้นที่ “สวนลิง” ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมืองลพบุรี ไว้สำหรับเป็นสถานที่อนุบาล และรองรับประชากรลิงที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น
ทั่วประเทศไทยพบจุดที่มีลิงอาศัยอยู่ 52 แห่ง และมีประชากรลิงราว 30,000-50,000 ตัว โดยปัญหา “ลิงกับคน” กรมอุทยานฯ ได้มีการดำเนินการหลายมาตรการ ทั้งเข้าสำรวจจำนวน เพื่อทำหมัน คุมการเกิดเพิ่ม และการเข้าย้ายลิงที่สร้างผลกระทบไปอยู่ในพื้นที่จัดเตรียมไว้
ปลายปี 2566 นำร่องย้ายลิงแสมรอบพระนครคีรี (เขาวัง) อ.เมือง จ.เพชรบุรี จำนวน 500 ตัว นำไปเลี้ยงไว้ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงห้วยทราย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ส่วนการย้ายลิงลพบุรี ถือเป็นพื้นที่ที่ 2 และ มีแผนดำเนินการต่อในพื้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
เขตเทศบาลเมือง จังหวัดสตูล เผชิญปัญหาลิงแสมล้นเมือง แม้มีการจับลิงทำหมันต่อเนื่อง และพบว่าพฤติกรรมคนในชุมชนที่ทิ้งขยะและเศษอาหารใกล้ป่าชายเลน ก็เป็นการชักนำลิงเข้ามาในชุมชนเพิ่มขึ้น
เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เป็นอีก 1 จุดที่มีลิงอยู่ร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะบริเวณอนุสาวรีย์คุณกะลา และบริเวณซอยเทียนทะเล 22 สองจุดรวมกันมีลิงมากกว่า 500 ตัว กทม. มีความพยายามร่วมมือกับชุมชนโซนนิ่งพื้นที่ให้อาหารลิงไปรวมที่จุดเดียว รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่จัดเตรียมไว้ เพื่อแยกลิงออกห่างชุมชน
นอกจากความพยายามจัดระเบียบลิงกับคนอยู่ร่วมกัน ในแง่การเยียวยา กรณีถูกลิงทำร้าย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยที่ประชุมคณะกรรมการเงินรายได้สัตว์ป่า มีมติเห็นชอบให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า พ.ศ.2567 กำหนดให้สามารถใช้เงินอนุรักษ์สัตว์ป่า จ่ายให้แก่ผู้ที่ถูกช้างป่า กระทิง ลิง และหมี กรณีถูกสัตว์ป่าชนิดเหล่านี้ทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป โดยมีหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า ดังนี้
-กรณีบาดเจ็บ ทุพพลภาพ-อัมพาต ได้รับเงิน 100,000 บาท
-สูญเสียแขน ขา หรือสายตา (ตาบอด) ทั้งสองข้าง หรือ แขน ขา สายตา (ตาบอด) รวมสองแห่ง ได้รับเงิน 100,000 บาท
-สูญเสียแขน ขา หรือสายตา (ตาบอด) หนึ่งข้าง ได้รับเงิน 50,000 บาท
-กรณีบาดเจ็บทั่วไป ได้รับบาดเจ็บเท่าที่จ่ายจริง ได้รับเงินจำนวนไม่เกิน 30,000 บาท
-ค่าขาดประโยชน์ในการทำมาหาได้ระหว่างพักรักษาตัว ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ตามความเห็นแพทย์ ได้รับเงินจำนวนไม่เกิน 300 บาท (ต่อวัน)
-กรณีเสียชีวิต ค่าช่วยเหลือเยียวยา 100,000 บาท
ดังนั้น ผู้ที่ถูกลิง หรือสัตว์ป่าทำร้ายจนบาดเจ็บ-เสียชีวิต สามารถประสานกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ในท้องที่ เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยา ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กรมอุทยานฯ กำหนดไว้
เรียบเรียงโดย : จิตฤดี บรรเทาพิษ
ภาพ : TNN
ข้อมูล : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ข่าวแนะนำ