TNN ‘57 ปี ภารกิจอะพอลโล 1’ ประตูแรกสู่การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ โศกนาฏกรรมแห่งเปลวเพลิงที่ต้องจดจำ

TNN

TNN Exclusive

‘57 ปี ภารกิจอะพอลโล 1’ ประตูแรกสู่การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ โศกนาฏกรรมแห่งเปลวเพลิงที่ต้องจดจำ

‘57 ปี ภารกิจอะพอลโล 1’ ประตูแรกสู่การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ โศกนาฏกรรมแห่งเปลวเพลิงที่ต้องจดจำ

เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศสหรัฐฯ สร้างประวัติศาสต์แห่งมนุษยชาติด้วยการกลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบดวงจันทร์

แต่กว่าที่โลกของเราจะเดินทางไปสู่ดวงจันทร์เบื้องหลังความสำเร็จของมนุษยชาติ ต้องแลกมาด้วยโศกนาฏกรรมแห่วเปลวเพลิง ที่หลายคนมองว่า หากไม่เกิดเหตุการณ์นี้ บางทีสหรัฐฯ อาจไม่ใช่ชาติแรกที่เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ กับ 57 ปี โศกนาฏกรรม ‘อะพอลโล 1’ ประตูบานแรกสู่การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์


---สงครามอวกาศในยุคสงครามเย็น---


ในช่วงที่โลกกำลังอยู่ในยุคของสงครามเย็น หนึ่งในภารกิจที่ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตต่างกำลังแข่งขัน นั่นคือ “ภารกิจด้านอวกาศ” ที่ทั้ง 2 พยายามช่วงชิงการเป็นชาติมหาอำนาจด้านนี้ให้ได้กันอย่างดุเดือด


สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ต่างแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ นับตั้งแต่ที่สหภาพโซเวียตได้ปล่อยดาวเทียมสปุตนิก-1 เมื่อปี 1957 ทำให้กลายเป็นดาวเทียมดวงแรกที่โคจรรอบโลก


เมื่อจอห์น เอฟ. เคเนดี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 1961 ซึ่งเป็นปีเดียวกัน สหภาพโซเวียดก็ประสบความสำเร็จในการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นชาติแรกของโลก ทำให้ชาวอเมริกันในขณะนั้น ต่างเชื่อว่าพวกเขากำลังพ่ายแพ้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้แก่สหภาพโซเวียต ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงต้องการจะเป็นชาติแรกของโลก ที่ส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์


ในปี 1962 ประธานาธิบดีเคเนดีจึงได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าประชาชนชาวอเมริกันว่า “เราเลือกที่จะไปดวงจันทร์” โดยเป้าหมายคือการส่งมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ และกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยก่อนปี 1970


---Mission to the Moon---


นาซาได้ทุ่มทรัพยากรจำนวนมากมายมหาศาล ไปกับโครงการอวกาศ ‘อะพอลโล’ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1961 มีคนเข้าร่วมทำงานให้กับโครงการนี้ราว 400,000 คน และใช้งบประมาณสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 772,500 ล้านบาท ตามมูลค่าเงินตราในสมัยนั้น


อะพอลโล 1 จึงเป็นภารกิจแรกในโครงการอะพอลโล ซึ่งเป็นโครงการที่สหรัฐฯ หมายมั่นปั้นมือส่งนักบินอวกาศ 3 คนขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์ให้ได้เป็นชาติแรก โดยนักบินอวกาศในภารกิจ ‘อะพอลโล 1’ ได้แก่


กัส กริสซัม วิศวกร และนักบินแห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ เขาเคยทำภารกิจนอกโลกให้กับทั้งโครงการเมอร์คิวรี และเจมิไนมาแล้ว ก่อนที่จะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการในภารกิจนี้


ต่อมา คือ เอ็ดเวิร์ด ไวต์ วิศวกรการบินชาวอเมริกัน และเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ เขาเป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกันคนแรกที่ได้เดินบนอวกาศ ในระหว่างทำภารกิจเจมีไน 4 ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีชุดอวกาศและทักษะการเดินบนอวกาศเพื่อภารกิจต่อ ๆ ไป


คนสุดท้ายคือ โรเจอร์ ชัฟฟี นายทหารเรือ นักบิน และวิศวกรการบินชาวอเมริกัน ซึ่งยังไม่ได้เคยปฏิบัติภารกิจนอกโลก โดยปี 1963 เขาถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 3 นักบินอวกาศในภารกิจ ‘อะพอลโล 1’



‘57 ปี ภารกิจอะพอลโล 1’ ประตูแรกสู่การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ โศกนาฏกรรมแห่งเปลวเพลิงที่ต้องจดจำ

ภาพถ่าย Portait ของลูกเรือภารกิจ 'อะพอลโล 1' (เรียงจากซ้ายไปขวา): เอ็ดเวิร์ด ไวต์, กัส กริสซัม และโรเจอร์ ชัฟฟี - ที่มาภาพ: NASA 


---ปัญหาและข้อกังวลที่เกิดขึ้น---


ภารกิจ ‘อะพอลโล 1’ เดิมทีมีชื่อว่า AS-204 มีแผนที่จะปล่อยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1967 ระยะเวลาปฏิบัติภารกิจทั้งหมด 14 วัน เพื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพ, ระบบการปล่อยตัว ระบบการควบคุม และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในส่วนยานบังคับการและยานบริการ หรือ CMS รวมถึงทดสอบจรวดแซตเทิร์น 1B ในสภาวะแวดล้อมจริง แต่สุดท้ายแล้ว ภารกิจนี้ก็ไม่เคยได้ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศ และจบลงด้วยโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้า 


ตัวยานบังคับการและยานบริการอะพอลโลมีขนาดที่ใหญ่ และซับซ้อนมากกว่ายานอวกาศลำอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ของนาซา โจเซฟ เอฟ เชีย ผู้จัดการสำนักงานโครงการยานอวกาศอะพอลโล มีหน้าที่รับผิดชอบสำหรับการจัดการออกแบบและสร้างส่วน CMS และส่วนลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ หรือ LM ผลิตโดยบริษัท North America Aviation ซึ่งชนะการประมูล เพื่อผลิตยานอวกาศในโครงการนี้มา


‘57 ปี ภารกิจอะพอลโล 1’ ประตูแรกสู่การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ โศกนาฏกรรมแห่งเปลวเพลิงที่ต้องจดจำ

โจเซฟ เอฟ เชีย ผู้จัดการสำนักงานโครงการยานอวกาศอะพอลโล - ที่มาภาพ: NASA


วันที่ 19 สิงหาคม 1966 ระหว่างการประชุมเพื่อตรวจสอบตัวยานอวกาศ กลุ่มลูกเรือได้แสดงความกังวลถึงวัสดุไวไฟที่ติดตั้งภายในห้องโดยสารจำนวนมาก ส่วนใหญ่ประกอบด้วยไนลอน และเวลโครเทป


แต่อย่างไรก็ตาม เชียก็ได้ให้ยานลำดังกล่าว ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งหลังจากจบประชุมในครั้งนั้น ลูกเรือทั้ง 3 คน ได้ส่งภาพถ่ายใบหนึ่งไปให้กับเขา เป็นภาพที่พวกเขากำลังเหมือนพนมมือ อธิษฐาน ต่อหน้าโมเดลจำลองของยาน และเขียนข้อความไว้ที่รูปว่า


“ไม่ใช่ว่าเราไม่เชื่อใจคุณนะโจ แต่ครั้งนี้ เราขอตัดสินใจที่จะพึ่งพาบางสิ่งที่เหนือกว่าคุณ”

   ‘57 ปี ภารกิจอะพอลโล 1’ ประตูแรกสู่การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ โศกนาฏกรรมแห่งเปลวเพลิงที่ต้องจดจำ

ภาพลูกเรืออะพอลโล 1 กำลังยกมืออธิษฐานต่อหน้าโมเดลยานจำลอง - ที่มาภาพ: NASA Handout via Wikipedia


ด้วยเดดไลน์ที่ เคเนดีได้เคยกำหนดไว้ผ่านสุนทรพจน์ของเขาว่า จะส่งมนุษย์ขึ้นไปดวงจันทร์ให้ได้ก่อนปี 1970 ทำให้ภารกิจอะพอลโล 1 ยังคงดำเนินต่อไป แม้จะพบปัญหาต่าง ๆ มากมาย


---วันเกิดเหตุ---


25 วันก่อนถึงวันปล่อยตามกำหนดการที่ตั้งไว้ ในวันที่ 27 มกราคม 1967 ลูกเรือทั้ง 3 คน ได้เข้าทำการทดสอบเสมือนจริงตามปกติ โดยการทดสอบในครั้งนี้ คือการทำ Plugs-Out Test ซึ่งเป็นการทดสอบระบบพลังงานของตัวยาน หลังถูกตัดการเชื่อมต่อจากระบบไฟฟ้าของแท่นปล่อยจรวด


นาซา ระบุว่า เป็นการทดสอบที่ไม่มีความอันตราย เนื่องจากไม่มีการเติมเชื้อเพลิงเข้าไปในตัวจรวด และเพื่อให้การซ้อมมีความสมจริงมากที่สุด ทีมเจ้าหน้าที่จึงได้มีการปิดผนึกประตูยาน หลังจากลูกเรือทั้งหมดได้นั่งประจำที่ของตนเอง และภายในก็อัดแน่นไปด้วยก๊าซออกซิเจนบริสุทธิ์


‘57 ปี ภารกิจอะพอลโล 1’ ประตูแรกสู่การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ โศกนาฏกรรมแห่งเปลวเพลิงที่ต้องจดจำ ภาพลูกเรือ 'อะพอลโล 1' ในวันเกิดเหตุ กำลังเดินลงจากรถ เพื่อทำการทดสอบ Plugs-Out Test - ที่มาภาพ: NASA


แต่เมื่อเริ่มทำการทดสอบ ปัญหาก็เริ่มเกิดขึ้นในทันที เมื่อกริสซัมพูดว่า เขาได้กลิ่นแปลก ๆ มาจากชุดอวกาศของเขา เหมือนกลิ่นเหม็นบูด ส่งผลให้ต้องหยุดการทดสอบ เพื่อเก็บตัวอย่างจากชุดของเขา และหลังจากที่ได้หารือกัน กริสซัมก็ตัดสินใจที่จะทำการทดสอบต่อไป


หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดปัญหาขึ้นอีกครั้ง เมื่อเครื่องบ่งชี้อัตราการไหลออกซิเจนสูง เกิดสัญญาณเตือนดังขึ้นเป็นระยะ ๆ ณ ตอนนั้น ลูกเรือได้มีการหารือกับเจ้าหน้าที่ควบคุม แต่พวกเขาเชื่อว่า การไหลเวียนที่สูงขึ้น เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของตัวลูกเรือเอง ทำให้ปัญหานี้ ไม่ได้รับการแก้ไข


และปัญหาที่หนักสุดในระหว่างการทดสอบครั้งนี้คือ การสื่อสาร เนื่องจากลูกเรือและศูนย์ควบคุมต้องประสบปัญหาการสื่อสารอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้กริสซัมถึงกับพูดออกมาว่า


“เราจะไปดวงจันทร์ได้อย่างไร ถ้าหากเราไม่สามารถคุยกันได้ในระยะแค่ 2-3 ช่วงตึก”


หลังจากนั้น ไม่กี่นาที เจ้าหน้าที่ได้สังเกตเห็นประกายไฟภายในตัวเครื่อง ผ่านจอมอนิเตอร์ พร้อมกับได้ยินเสียงของหนึ่งในลูกเรือตะโกนออกมาว่า มีไฟไหม้เกิดขึ้นในห้องนักบิน และเราต้องรีบออกไปจากที่นี่ แต่ด้วยภายในยานเต็มไปด้วยวัสดุไวไฟมากมาย แถมยังอัดแน่นไปด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ ทำให้ห้องโดยสารภายในเกิดไฟลุกไหม้ และปกคลุมไปทั่วตัวยานภายในเวลาแค่ 30 วินาที


เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลามากถึง 5 นาที ในการที่จะเปิดประตูตัวยานเพื่อเข้าไปช่วยเหล่านักบินที่อยู่ข้างใน แต่สุดท้ายพวกเขาก็พบว่า มันสายเกินไป ลูกเรือทั้ง 3 คนในภารกิจอะพอลโล 1 เสียชีวิตทั้งหมด


---เรียนรู้ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่---


หลังเกิดเหตุไฟไหม้ดังกล่าว ทางนาซาได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง และแม้ว่าคณะกรรมการจะไม่สามารถสรุปได้ว่า อะไรเป็นต้นตอหลักที่ทำให้เกิดไฟไหม้ แต่พวกเขาก็ได้ระบุถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่นำไปสู่การเกิดโศกนาฏกรรมไว้ ดังนี้


1. ในห้องโดยสาร อัดแน่นเต็มไปด้วยก๊าซออกซิเจน

2. มีวัสดุไวไฟจำนวนมากที่ติดอยู่ในห้องโดยสาร

3. มีช่องโหว่บริเวณสายไฟ ที่เป็นตัวลำเลียงพลังงานของยานอวกาศ

4. มีช่องโหว่ในบริเวณท่อประปา ซึ่งมีสารหล่อเย็นที่ติดไฟได้และมีฤทธิ์กัดกร่อน

5. มีการเตรียมการที่ไม่รัดกุมพอ สำหรับกรณที่ลูกเรือต้องทำการหลบหนีออกจากตัวยาน

6. มีการเตรียมการที่ไม่เพียงพอ สำหรับการกู้ภัย หรือ ความช่วยเหลือทางการแพทย์ 


‘57 ปี ภารกิจอะพอลโล 1’ ประตูแรกสู่การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ โศกนาฏกรรมแห่งเปลวเพลิงที่ต้องจดจำ

สภาพภายในของตัวยานในภารกิจ 'อะพอลโล 1' หลังเกิดเหตุ - ที่มาภาพ: NASA


นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องประตูตรงตัวยานมีความยุ่งยากในการเปิด เนื่องจากมีทั้งหมดถึง 3 ชั้นด้วยกัน ทำให้นักบินที่อยู่ภายในต้องใช้เวลา 90 วินาทีในการเปิดประตู ถึงจะสามารถออกมาข้างนอกได้ นับเวลาที่ยาวนานกว่า เมื่อเทียบกับเวลาที่ไฟได้ลุกท่วมตัวยานเพียงแค่ 30 วินาที หลังจากเหตุครั้งนี้ จึงได้มีการออกแบบประตูใหม่ โดยคำนึงถึงความเรียบง่าย และปลอดภัย รวมถึงทำให้สามารถเปิดจากด้านนอกได้


โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ทำให้โครงการอะพอลโลต้องหยุดชะงักไปนานกว่า 20 เดือน แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้นาซาหันมาทบทวนการทำงาน และเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้นในภารกิจอื่น ๆ เพื่อไม่ให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นอีก นับได้ว่า โศกนาฏกรรมอะพอลโล 1 คือการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้สหรัฐฯ และนาซาได้รับบทเรียนจากเรื่องนี้ และพัฒนาปรับปรุงให้เดินทางไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้


ท้ายที่สุด สหรัฐฯ ก็ได้กลายเป็นชาติแรกของโลกในการส่งมนุษย์ขึ้นสู่ดวงจันทร์ และกลับลงมาสู่โลกอย่างปลอดภัยในปี 1969 ภายใต้ภารกิจ อะพอลโล 11 ตามคำมั่นที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ ได้เคยกล่าวไว้

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ภาพ: NASA Handout via Getty Images


ข้อมูลอ้างอิง:

NASA (1), NASA (2), NASA (3), Wikipedia, Air and Space, Astronomy, Seeker (YouTube), Space, Washington Post

ข่าวแนะนำ