TNN "พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ" เปลี่ยนโฉมบทลงโทษทางอาญา

TNN

TNN Exclusive

"พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ" เปลี่ยนโฉมบทลงโทษทางอาญา

พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ เปลี่ยนโฉมบทลงโทษทางอาญา

"พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ" เปลี่ยนโฉมบทลงโทษทางอาญา จากนี้ต่อไป ‘ห้ามจำคุก กักขัง บันทึกประวัติอาชญากรรม’ ประชาชน


ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ได้ถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการ


ซึ่งในตัวบท กฎหมายของ พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ ฉบับนี้ ถือเป็นการปรับปรุงกฎหมายในส่วนของการกำหนดมาตรการลงโทษ ให้เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงของการกระทำความผิด เพื่อไม่ให้บุคคลต้องรับโทษเกินสมควร 


ทีมข่าว TNN Online ได้สรุปความหมายของคำว่า ‘โทษปรับเป็นพินัย’ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นดังนี้ 


- เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ใช้แทนโทษทางอาญาและทางปกครอง 

- เงินค่าปรับที่เจ้าหน้าที่เรียกปรับเป็นการชำระให้แก่รัฐ 

- โทษประเภทนี้ ใช้สำหรับผู้กระทำความผิดไม่ร้ายแรง และโดยสภาพความผิดนั้นไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง หรือไม่กระทบกับสังคมกว้างขวาง

- การปรับเป็นพินัยจะไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับ รวมทั้งไม่มีการบันทึกข้อกล่าวหาลงในประวัติอาชญากรรม


ในส่วนของสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 สรุปได้ดังนี้


เปลี่ยนความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวและโทษปรับทางปกครองตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้าย พ.ร.บ. จำนวน 204 ฉบับ ให้เป็น ‘ความผิดทางพินัย’ และผู้กระทำความผิดต้องชำระ ‘ค่าปรับเป็นพินัย’

ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมายมีอำนาจปรับเป็นพินัย ถ้าผู้กระทำความผิดยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัยตามจำนวนและเวลาที่กำหนดให้คดีเป็นอันยุติ แต่ถ้าไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ส่งสำนวนให้อัยการฟ้องคดีต่อศาล

ผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระค่าปรับเป็นพินัย แต่ไม่ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนด ให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สิน

การกำหนดค่าปรับเป็นพินัยต้องให้เหมาะสมกับความรุนแรงของการกระทำความผิดและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิด สามารถขอผ่อนชำระค่าปรับฯ เป็นรายงวดได้ แต่ถ้าไม่มีเงินชำระค่าปรับฯ ขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนได้

หากทำความผิดทางพินัยเพราะเหตุแห่งความยากจนเหลือทนทาน หรือเพราะความจำเป็นอย่างแสนสาหัสในการดำรงชีวิต ผู้กระทำความผิดสามารถยื่นคำร้องเพื่อให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือขอทำงานบริการสังคมทดแทนได้


ตัวอย่าง พ.ร.บ. ที่เปลี่ยนจากโทษปรับทางอาญา-ปกครอง เป็นโทษปรับเป็นพินัย เช่น


- พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 

- พ.ร.บ.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550 

- พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 

- พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 

- พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 

- พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 


ซึ่งจากรายงานมีข้อมูลว่า มีกว่า 204 พ.ร.บ. ที่เข้าเกณฑ์เปลี่ยนการกำหนดบทลงโทษให้เป็นโทษปรับเป็นพินัย ซึ่งในส่วนสำนักงานตำรวจแห่ง (ตร.) มีกฎหมายที่รับผิดชอบโดยตรง 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 

 

ทั้งนี้หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ อย่างเป็นทางการ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้ออกแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อให้ข้าราชการตำรวจซึ่งถือว่าเป็น เจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และไม่เหมาะสมต่อประชาชน


ทีมข่าว TNN Online สรุปใจความของแนวทางดังกล่าวได้ดังต่อไปนี้ 


ใบสั่งที่เป็นแบบเล่มต้องถูกเรียกคืนทั้งประเทศ ตั้งแต่ 25 ตุลาคม 2566 โดยจะมีการปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องต่อพ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ

ในส่วนเจ้าพนักงานจราจรที่ดำรงตำแหน่งสารวัตรหรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปเท่านั้นถึงมีสิทธิออกใบสั่ง(ระบุค่าปรับตามพ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ) สำหรับเจ้าที่ที่ตำแหน่งลดล่างลงมา ให้บันทึกข้อความ เป็นรายละเอียดข้อมูลผู้ที่ถูกแจ้งความ ข้อกล่าวหา อัตราค่าปรับ นำส่งให้สารวัตรต่อไป

ใบสั่งมี 3 รูปแบบ ใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรสำหรับให้กับผู้ขับขี่ ติด ผูก หรือแสดงไว้ที่รถ/ใบสั่งสำหรับส่งทางไปรษณีย์/ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์

การออกใบสั่งต้องแนบคำแจ้งสิทธิตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย คือแจ้งประชาชนถึงสิทธิการขอผ่อนชำระ/สิทธิขอชำระค่าปรับต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด/บริการสาธารณะแทนการปรับ

ช่องทางการชำระค่าปรับจราจรมี 3 ช่องคือ ทางอิเล็กทรอนิกส์/ไปรษณีย์/สถานีตำรวจ

กรณีที่พ้นระยะเวลาชำระค่าปรับตามหนังสือเตือน หรือผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวบรวมหลักฐานทำสำนวนส่งอัยการฟ้องต่อศาลต่อไป


ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกำหนดบทลงโทษที่จุดประสงค์เพื่อต้องการลดความหนักเบาของบทลงโทษให้เหมาะสมต่อความผิดที่ก่อ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีคนส่วนหนึ่งที่กังวลว่าอาจจะมีคนบางกลุ่มมองว่าจากนี้การกระทำผิดทุกอย่างเพียงแค่จ่ายค่าปรับก็จะจบเท่านั้น


ซึ่งก็เป็นโจทย์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ผู้พิทักษ์รักษากฎหมายและบังคับใช้กฎหมายที่จากนี้จะต้องวางแนวทางให้เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนยังเคารพต่อกฎหมาย เหมือนเช่นก่อนหน้านี้


แต่ประชาชนเองก็อย่าได้นิ่งนอนใจไปถึงแม้บทลงโทษหลายข้อจะถูกปรับโทษให้เหลือเพียงการจ่ายค่าปรับ แต่สำหรับความผิดที่กระทบต่อบุคคลอื่น ต่อสังคมเป็นวงกว้างและมีความร้ายแรง ในความผิดต่างๆเหล่านั้นยังคงมีการลงโทษตามกฎหมายอาญาอยู่เช่นเดิม





ภาพ : TNNOnline 



ข่าวแนะนำ