เจาะลึกงบ "ดิจิทัลวอลเล็ต" เปิดแพ็คเกจพักหนี้เกษตรกร 3 ปี
เจาะลึกงบ "ดิจิทัลวอลเล็ต" เปิดแพ็คเกจพักหนี้เกษตรกร 3 ปี
นับเป็น 2 นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลประกาศจะเดินหน้าทำทันที ทั้งดิจิทัลวอลเล็ต และพักหนี้เกษตรกร 3 ปี จะมีความคืบหน้าจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ โดยมีข้อมูลสำคัญที่น่าสนใจเบื้องต้นออกมาแล้ว
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กำหนดกรอบการทำงาน และระยะเวลาดำเนินการมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว เชื่อมั่นว่าจะเริ่มใช้จ่ายวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 67 ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้ไว้ ซึ่งรายละเอียดจะต้องรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ โดยคลังจะเสนอแต่งตั้งคณะกรรมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต หลังจากนั้นจะเริ่มการนัดประชุมจริง
คณะกรรมการจะประกอบด้วยหลายหน่วยงาน ตั้งแต่กระบวนการทำงาน การใช้จ่าย กระบวนการตรวจสอบ การป้องกันทุจริต และตรวจสอบ ประเมินผลการทำงาน ครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ สมาคมธนาคารไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงมหาดไทย และตั้งคณะอนุกรรมการ มาขับเคลื่อนในแต่ละด้าน
ส่วนเรื่องการเพิ่มรัศมีการใช้จ่ายนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นข้อเป็นห่วงที่ต้องนำมาพิจารณา แต่ถ้ากำหนดให้ใช้ในจังหวัด การใช้จ่ายก็จะกระจุกตัวอยู่ในอำเภอเมือง ซึ่งรัฐบาลอยากจะให้อำเภอที่กันดารได้มีโอกาสแจ้งเกิดบ้าง
โดยรัฐบาลมีแนวคิดขยายกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 เป็นร้อยละ 45 จากร้อยละ 32 ของวงเงินงบประมาณในปี 67 เพื่อสนับสนุนการดูแลประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีงบเพิ่มขึ้นประมาณ 4 แสนล้านบาท ขณะที่งบประมาณของโครงการนี้จะอยู่ที่ประมาณ 556,000 ล้านบาท
ส่วนนโยบายการพักหนี้เกษตรกร 3 ปีนั้น นายจุลพันธ์หารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. แล้ว และจะเสนอ ให้ ครม. พิจารณาในวันนี้เช่นกัน หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการให้เร็วที่สุด
โดยนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยืนยันว่ามาตรการพักหนี้รอบใหม่นี้ จะไม่เหมือนกับการพักหนี้ 13 ครั้ง ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นการทำมาตรการบนแนวทาง 2 เรื่อง คือ
1. มุ่งลดภาระให้เกษตรกร โดยจะพักหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย ให้กับเกษตรกรทันที 3 ปี โดยในส่วนภาระดอกเบี้ย รัฐบาลจะรับภาระชดเชยให้กับ ธ.ก.ส. แทน
2. เร่งฟื้นฟูศักยภาพให้กับเกษตรกร มุ่งสร้างรายได้ในระหว่างร่วมมาตรการพักหนี้ โดยปรับวิธีคิดการทำเกษตร จากเดิมที่เน้นจำนวนการเพาะปลูก เป็นการเพิ่มเทคนิคทางการเกษตร การทำการตลาด วิธีการขาย ในกรณีที่มีการเพาะปลูกต้องรู้ตลาดว่าจะนำไปขายให้ใคร
ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีลูกหนี้อยู่ราว 3.9 ล้านราย สินเชื่อรวม 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนลูกหนี้รายใดจะเข้าเกณฑ์ มีสินเชื่อรวมต่อรายเท่าใด ก็จะเสนอหลายแนวทางให้พิจารณา โดยลูกหนี้ที่ต้องการร่วมโครงการจะต้องโชว์ตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile เพื่อให้ธนาคารสามารถติดตามสถานะลูกหนี้ได้
ทั้งนี้ ธนาคารจะประเมินสถานะลูกหนี้ พร้อมกำหนดแนวทางช่วยเหลือแต่ละรายแตกต่างกันตามความสามารถของลูกหนี้ ซึ่งการพักหนี้รอบใหม่ จะมาเป็นแพ็คเกจ ทั้งการให้สิทธิ์ประโยชน์ รวมถึงการให้สินเชื่อเพิ่มเติมกับลูกหนี้ที่ต้องการเงินทุนเพิ่มสภาพคล่องเพื่อการฟื้นฟู ไม่ให้ไปกู้นอกระบบ