ลาวสารภาพ กู้มาก ผลิตน้อย คนหนี ทำชาติพัง
เว็บไซต์ laotian times รายงานว่า ดรไกแก้ว จันทะบุรี รองประธานสถาบันวิทยาศาสตร์และสังคมแห่งสปป.ลาว และอดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงวางแผนและการพัฒนา ได้ออกมาชี้แจงต่อสื่อมวลชน ถึงปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของสปป.ลาว ตึงเครียดอย่างหนักในเวลานี้
ดร. ไกแก้ว ชี้แจงว่า สปป.ลาว มีการส่งออกวัตถุดิบ ทางทรัพยพากรธรรมชาติมากเกินไป โดยไม่มีการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ขณะเดียวกันก็ขาดการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของชาติอ่อนไหวและมีความเสี่ยงสูงในเวลานี้
ขณะเดียวกัน ราคาวัตถุดิบของแร่ธาตุต่างๆ ที่สปป.ลาว ลาวส่งออก ก็มีราคาตกต่ำลงตั้งแต่ปี 2559 ทำให้ประเทศได้รับผลกระทบอย่างมาก ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้ประเทศย่ำแย่คือ ความแตกต่างของกระแสเงินตราต่างประเทศ ที่ไหลเข้าและไหลออก ไม่สมดุล ความผันผวนของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศส่งผลให้เงินทุนไม่เพียงพอที่ จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนกลับสู่ระดับปกติได้อย่างรวดเร็ว
แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการ หลายอย่างเช่น
- การกระจายเศรษฐกิจให้หลากหลาย
- การลดการพึ่งพาการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ
- การพัฒนากำลังคน ให้มีศักยภาพและรักษาคนให้ทำงานในประเทศ
แต่เศรษฐกิจของสปป.ลาว ก็ยังระส่ำ ยังไม่สามารถดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ หรือกระตุ้นให้คนลงทุนในประเทศได้
คนงานลาว ไหลออกไปทำงานต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่นไทยและเกาหลีใต้ เพราะมีค่าจ้างที่สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ไม่เหลือแรงงานเพื่อพัฒนาประเทศ
ในเวลานี้ งบประมาณของประเทศ ก็เผชิญกับความไม่สมดุลที่เรื้อรังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการด้านการพัฒนา สปป.ลาวจึงต้องแสวงหาเงินกู้จากแหล่งในประเทศและต่างประเทศเพื่อลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญเป็นหลัก
นอกจากนั้น ดร. ไกแก้ว ยังชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า เศรษฐกิจนอกระบบยังคงแพร่หลายในประเทศ ซึ่งหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ วิสาหกิจ การจ้างงาน และแรงงานที่ไม่ได้รับการควบคุมหรือคุ้มครองจากอำนาจรัฐ แม้จะมีนโยบายออกมาควบคุมแล้ว แต่การบังคับใช้กฏหมายและการจัดการยังไม่ดีพอ และมีความท้าทาย
ดร. ไกแก้ว เสนอให้สปป.ลาว เปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่อิงทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นเศรษฐกิจการผลิตและอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียหลายประเทศที่ทำ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า
นอกจากนี้ เขายังเสนอแนะให้ศึกษาวิธีการดึงดูดเงินตราต่างประเทศมากขึ้น ปรับโครงสร้างหนี้หรือการเลื่อนการชำระเงิน และออกมาตรการประกันมูลค่า เงินกีบลาว ด้วยการผูกเข้ากับทองคำและทรัพย์สินมีค่าอื่นๆ