TNN เปิดแผนประทุษกรรมจากปลายสาย ‘หลอกลูก บังคับแม่’ พร้อมไขคำตอบ "ทำไมตร.ไทยปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่หมดสิ้น"

TNN

TNN Exclusive

เปิดแผนประทุษกรรมจากปลายสาย ‘หลอกลูก บังคับแม่’ พร้อมไขคำตอบ "ทำไมตร.ไทยปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่หมดสิ้น"

เปิดแผนประทุษกรรมจากปลายสาย ‘หลอกลูก บังคับแม่’ พร้อมไขคำตอบ ทำไมตร.ไทยปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่หมดสิ้น

เปิดแผนประทุษกรรมจากปลายสาย ‘หลอกลูก บังคับแม่’ พร้อมไขคำตอบว่าทำไมตำรวจไทยปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่หมดสิ้น


ย้อนกลับไปช่วงวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาเกิดเหตุคนร้ายแฝงตัวมาในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก่อเหตุประทุษกรรมในรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รับรู้ของประชาชน 


โดยเริ่มต้นคนร้ายได้ใช้วิธีการหลอกแบบที่คุ้นเคยด้วยการอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย หลอกผู้เสียหายซึ่งเป็นนักศึกษาว่าเธอมีพัสดุผิดกฎหมายอยู่ที่จังหวัดห่างไกลขอให้ติดต่อตำรวจในพื้นที่เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจ จากนั้นทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่คนร้ายต้องการ เธอสูญเงินในบัญชีเพราะคิดว่าต้องโอนเงินให้ตำรวจตรวจสอบเส้นทางการเงิน


เปิดแผนประทุษกรรมจากปลายสาย ‘หลอกลูก บังคับแม่’ พร้อมไขคำตอบ ทำไมตร.ไทยปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่หมดสิ้น

เปิดแผนประทุษกรรมจากปลายสาย ‘หลอกลูก บังคับแม่’ พร้อมไขคำตอบ ทำไมตร.ไทยปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่หมดสิ้น



แต่เรื่องราวไม่ได้จบลงแค่นั้นเมื่อคนร้ายหลอกขอข้อมูลของผู้ปกครองและให้เธอสร้างสถานการณ์ว่าถูกลักพาตัว พ่อหรือแม่ต้องโอนเงินให้เธอเพื่อที่เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ แต่ด้วยจำนวนเงินที่สูงถึง 3 ล้านบาท  ทำให้ขั้นตอนที่แม่จะรวบรวมเงินทำได้ช้า และพ่อเริ่มตั้งสติปรึกษาตำรวจขอความช่วยเหลือ จนนำไปสู่การเข้าช่วยนักศึกษาที่กำลังตกอยู่ในการควบคุมผ่านระบบวีดีโอคอลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยชุดตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล 


แต่ถึงแม้นักศึกษาผู้เสียหายจะได้รับการช่วยเหลือ ครอบครัวของเธอไม่ต้องเสียเงินหลายล้านบาท แต่เหตุประทุษกรรมครั้งนี้เจ้าหน้าที่ยังทำได้เพียงระงับเหตุเท่านั้นเนื่องจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้ ไม่ได้มีฐานที่ตั้งในประเทศไทย


ไม่ใช่ใครก็หลอกได้ โจรผู้เชี่ยวชาญต้องถูกอบรมทุกคืนก่อนนอน


ทีมข่าว TNN Online ได้พูดคุยกับ พล.ต.ต. ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล หัวหน้าชุดปฏิบัติการช่วยเหลือผู้เสียหายกรณีนี้ ระบุว่า รูปแบบที่ใช้ในการหลอกผู้เสียหายครั้งนี้ถือว่าเป็นรูปแบบผสมผสาน 


เริ่มต้นจากการหลอกแบบเดิมๆ ที่ประชาชนคุ้นชิน เช่น หลอกว่ามีพัสดุผิดกฎหมาย หลอกว่ามีชื่อไปเปิดบัญชีม้า หรือหลอกว่าค้ำประกันเงินกู้ แต่ระดับขั้นที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้ แปลกใหม่กว่าครั้งก่อน คือการเอาคนที่ 3 ที่เป็นบุคคลใกล้ชิดผู้เสียหายรายที่กำลังหลอกมามีส่วนร่วมเพื่อเรียกทรัพย์เพิ่มขึ้น



เปิดแผนประทุษกรรมจากปลายสาย ‘หลอกลูก บังคับแม่’ พร้อมไขคำตอบ ทำไมตร.ไทยปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่หมดสิ้น
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์

 



“ครั้งนี้ที่มีเพิ่มมากขึ้น คือการสร้างความกดดัน และความรู้สึกสะเทือนจิตใจ ให้กับผู้เสียหาย ให้รู้สึกกลัวหรือช็อกจนถึงขีดสุด”  พล.ต.ต. ธีรเดช กล่าว


หากจะใช้วิธีการหลอกลวงแบบเรียกค่าไถ่ การทำงานของคอลเซ็นเตอร์สายที่1 จะทำการวิเคราะห์น้ำเสียงของผู้เสียหายก่อน ว่า น้ำเสียงกลัว สามารถโน้มน้าว ได้หรือไม่ ถ้าคนไหน มีท่าทีขัดขืน ผู้ร้ายก็จะตัดสายทิ้งทันที แต่ถ้ามีท่าทีที่สามารถหลอกต่อได้ก็จะโอนสายไปที่สายที่ 2 และ 3


หลังจากสายที่ 1 วิเคราะห์รูปแบบของผู้เสียหายได้เบื้องต้นแล้วสายที่ 2 จะรับหน้าที่สร้างสถานการณ์ให้สมจริงมากยิ่งขึ้น ก่อนที่สายที่ 3 จะเข้ามาสื่อสารกับผู้เสียหายแบบวีดีโอคอลเพื่อจับสังเกตว่าผู้เสียหายรู้ทัน แจ้งความแล้วหรือไม่ ในขณะที่อีกทีมในระหว่างนี้จะติดต่อผู้ปกครองเริ่มข่มขู่เอาทรัพย์ ซึ่งผู้ที่จะทำงานเป็นสายที่ 2 และ 3 ได้ จะต้องผ่านการฝึกอบรมทุกคืน คืนละ 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน 


ซึ่งการที่ผู้เสียหายถูกโอนสายต่อมาที่สายที่ 2 แล้ว แสดงว่าหลงเชื่อกับการหลอกลวงแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบ 100% ไม่มีทางที่จะแจ้งความ หรือไหวตัวทันแล้ว


พล.ต.ต. ธีรเดช กล่าวว่า เคยได้ไปพูดคุยกับผู้ที่จัดทำ ‘ตำรา’ การหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งนับเป็นอาชญากรที่ตำรวจไทยได้ทำการจับกุมได้


ผู้ต้องหารายดังกล่าวให้ข้อมูลว่า ตำรา 1 เล่มใช้เวลาเขียนเฉลี่ย 2 เดือน ชาวต่างชาติเป็นผู้กำกับให้ล่ามคนไทยแปลและเขียนเป็นภาษาไทยเพื่อให้คนไทยใช้ หากสังเกตจากข่าวจะเห็นว่าในการหลอกลวงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง จะเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งเมื่อมีการจับกุมมากขึ้นรูปแบบนั้นก็จะเงียบหายไป และหลังจากนั้นก็จะมีรูปแบบหลอกลวงใหม่เกิดขึ้นมา


เมื่อถามว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการเลือกผู้เสียหายอย่างไร พล.ต.ต. ธีรเดช ระบุว่าจากการวิเคราะห์ของตำรวจ ผู้ร้ายจะเลือกผู้เสียหายจากชุดข้อมูลที่มี แต่ละชุดก็จะมีการแยกประเภทว่าเป็นนักศึกษาหรือเป็นประชาชนทั่วไป ซึ่งคนร้ายจะใช้วิธีสุ่มจากชุดข้อมูลที่เลือกอีกครั้ง


เมื่อรู้ว่าคนร้ายเป็นใคร แต่ทำไม "ตำรวจไทย" ทำอะไรไม่ได้ ??


เมื่อถามว่าการจับกุมคนร้ายเหล่านี้ทำได้ยากขึ้นหรือไม่ พล.ต.ต. ธีรเดช ระบุว่า ที่ผ่านมาตำรวจพยายามทำอย่างสุดความสามารถ แต่คนร้ายจะมีการปรับรูปแบบมากขึ้นเพื่อต่อต้านการจับกุมเจ้าหน้าที่ คนร้ายจะนำเงินที่หลอกมาได้มาใช้ในการปกป้องตัวเอง เช่น การไปเช่าสถานที่ที่อยู่นอกเหนืออำนาจรัฐที่จะดำเนินการได้ การพยายามแฝงตัวเข้าไปอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ตำรวจยากต่อการตรวจสอบ


สิ่งที่สังคมสงสัยว่าทำไมวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถยกระดับในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ พล.ต.ต. ธีรเดช อธิบายว่าประเด็นแรก คือตัวผู้เสียหายไม่กล้าที่จะออกมาเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะกลัวเสียงจากสังคมถามกลับว่า ทำไมถึงถูกหลอก รู้เห็นกับคนร้ายหรือไม่ 


ประเด็นที่สอง คือคนไทยหลายคนยินยอมและเอื้อแก๊งคอลเซ็นเตอร์เปิดบัญชีม้าเพื่อเป็นเส้นทางการเงิน ซึ่งปัจจุบัน ข้อมูลจากการกวาดล้าง พบว่า ค่าจ้างเปิดบัญม้าเพิ่มสูงถึง 17,000 บาทต่อบัญชี ต่างจากเดิมที่มีราคาอยู่ที่ 500 บาทต่อบัญชี


แนวทางเฝ้าระวังไม่ให้ตัวเอง หรือ ผู้อื่นตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์


ทีมข่าว TNN Online อ้างอิงข้อมูลสถิติจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2566 สถิติคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 


1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ จำนวน 108,383 ครั้ง 

2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน จำนวน 38,669 ครั้ง 

3.หลอกให้กู้เงิน จำนวน 35,121 ครั้ง 

4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 23,545 ครั้ง 

5.ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (คอลเซ็นเตอร์) จำนวน 21,482 ครั้ง


รูปแบบคดีออนไลน์ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด คือ หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เสียหายรวมกว่า 11,500 ล้านบาท



เปิดแผนประทุษกรรมจากปลายสาย ‘หลอกลูก บังคับแม่’ พร้อมไขคำตอบ ทำไมตร.ไทยปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่หมดสิ้น





สำหรับแนวทางป้องกันการถูกหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์


1. สังเกตเบอร์ที่โทรเข้ามา เบอร์ที่มีเครื่องหมาย +697 +698 นำหน้าให้สงสัยไว้ว่าอาจเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์

2. คำถามจากปลายสาย เช่น การถามชื่อ และข้อมูลส่วนตัวโดยตรง หรือการใช้ข้อความอัตโนมัติในการตอบรับ และให้กดเบอร์ต่อเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่

3. หากปลายสายให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ ให้สันนิษฐานว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากข้อมูลบัญชีมีเพียงธนาคารที่ตรวจสอบได้ 


หากได้รับความเสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถแจ้งความออนไลน์ได้24 ชั่วโมงที่เว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ www.thaipoliceonline.com หรือโทรศัพท์สายด่วนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โทร 1441





ภาพ : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เรียบเรียงโดย : ยศไกร รัตนบรรเทิง บรรณาธิการข่าว TNNOnline  

ข่าวแนะนำ