สงครามโลก "ตัวการปล่อยมลพิษ" ถ่วงแผนลดโลกร้อน
นักสิ่งแวดล้อม ชี้กองทัพทั่วโลก ตัวการ'ถ่วง'แผนการลดโลกร้อน โดยช่วง 12 เดือนแรกของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก 120 ล้านตัน เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายปีของสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และซีเรียรวมกัน
อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ในรอบ 125,000 ปี เมื่อ 4 กรกฎาคม 2566 และมีแนวโน้มร้อนมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์และกลุ่มสิ่งแวดล้อมม ต่างเพิ่มแรงกดดันต่อสหประชาชาติ บังคับให้กองทัพทั้งหลาย เปิดเผยปริมาณการปล่อยมลพิษ และยกเลิกข้อละเว้นเปิดเผยการปล่อยมลพิษของกองทัพ ที่ทำให้ปริมาณมลพิษทางอากาศจากกองทัพไม่ได้ถูกบันทึก
จากคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญนานาชาติปี 2565 ระบุว่า เหล่ากองทัพ หนึ่งในผู้ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก มีสัดส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 5.5% ของโลก
รายงานจาก “เลนนาร์ด เดอ เคลิร์ก” ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีคาร์บอนชาวดัตช์ คาดว่า 12 เดือนแรกของการทำสงครามยูเครน อาจเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากถึง 120 ล้านตัน เทียบเท่ากับรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายปีของสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และซีเรียรวมกัน
ขณะที่สงครามในยูเครน ที่ยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด กลายเป็นจุดสนใจของนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษทางทหาร แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การเผยแพร่ปริมาณมลพิษทางทหารเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลไขว้เขวไปจากความสำคัญในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ และอาจชะลอการหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในระยะเวลาอันใกล้ได้
องค์กรสิ่งแวดล้อพร้อมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Lancaster, Oxford และ Queen Mary ในสหราชอาณาจักรเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้สนับสนุนให้มีการรายงานการปล่อยมลพิษของกองทัพที่ครอบคลุมและโปร่งใสมากขึ้น
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เครือข่ายดังกล่าวยังได้เขียนจดหมายถึงสนธิสัญญาของสหประชาชาติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยเรียกร้องให้องค์กรด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากกองทัพลงในบัญชีคาร์บอนรวมสำหรับทั้งโลก
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการกล่าวว่า กองทัพไม่ได้ผูกพันตามข้อตกลงสากลด้านสภาพอากาศ ที่ต้องรายงานผลดำเนินงานเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงข้อมูลที่เผยแพร่จากกองทัพบางแห่งยังไม่เป็นที่เชื่อถือ
ส่วนสาเหตุที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกองทัพที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น เครื่องบินไอพ่น ไปจนถึงการฝึกซ้อม เนื่องจากกองทัพได้ออกจากพิธีสารเกียวโตว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกปี 1997 และได้รับการยกเว้นอีกครั้งจากข้อตกลงปารีสปี 2015 โดยอ้างว่าข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พลังงานของกองทัพอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงประเทศ
ทั้งนี้ บัญชีคาร์บอนจะถูกนำมาใช้ประเมินว่าประเทศต่างๆ ยังห่างไกลจากเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของข้อตกลงปารีสมากน้อยเพียงใด และจะดำเนินงานในการประชุมสุดยอด COP28 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้
ที่มา : รอยเตอร์