ถอดบทเรียนเหตุการณ์สลด "สะพานถล่ม-เพลิงไหม้-กราดยิง" ความสูญเสีย ที่ไม่อาจทดแทนได้
เริ่มต้นเดือนสิงหาคม ผ่านไปไม่ถึง 1 สัปดาห์ บนหน้าสื่อของไทย ปรากฏข่าวสลดมากสุดถึง 4 เหตุการณ์ คือ สะพานพระราม2 ถล่ม หลังคามอเตอร์เวย์พัง กราดยิงอุบลฯ และไฟไหม้ผับชลบุรี ทั้งหมดนี้ ทำไมจึงเกิดขึ้น และแนวทางต่อจากนี้ จะต้องทำอย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ ติดตามได้ใน TNN Exclusive
“สะพานกลับรถถล่ม” ใครรับผิดชอบ ? ( 31 ก.ค.65)
สะพานกลับรถ หน้าโรงพยาบาลวิภาราม กม.ที่ 34 ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่อยู่ระหว่างการปิดซ่อมบำรุง พังถล่มลงมาทับรถยนต์ที่สัญจรอยู่บนถนนพระราม 2 ช่องทางด่วน ขาเข้ากรุงเทพฯ มีรถยนต์ได้รับความเสียหายหลายคัน อีกทั้งยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคนและเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 ราย เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. ของวันที่ 31 กรกฎาคม
สำหรับสะพานกลับรถบนทางหลวงหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 ที่ กม.34 (สะพานกลับรถบริเวณใกล้ รพ.วิภาราม) ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2536 ซึ่งได้ใช้งานมาเป็นระยะเวลานานเกือบ 30 ปี จึงมีความจำเป็นต้องบูรณะซ่อมแซมสะพาน โดยเริ่มเข้าซ่อมแซมสะพานตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
กำหนดแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2565 ประกอบด้วยการทุบรื้อพื้นสะพานและเปลี่ยนพื้นใหม่ จำนวน 2 ช่วง งานสกัดโครงสร้างสะพานที่เสียหาย ส่วนที่อยู่บนคานคอนกรีตอัดแรง รวมทั้งบริเวณพื้นที่ส่วนของทางขึ้นทางลง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะใช้งานได้อย่างแข็งแรงปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพในการกลับรถขาเข้าบนถนนพระราม 2
กรมทางหลวงพร้อมรับผิดชอบทุกอย่าง โดยยืนยันว่าเป็นโครงการที่ดำเนินงานโดยศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) ไม่ได้เป็นงานก่อสร้างที่ดำเนินการโดยเอกชน ดังนั้นบริษัทเอกชนไม่มีความเกี่ยวข้อง เป็นความรับผิดชอบเต็มๆ ของกรมทางหลวง
บทเรียนครั้งใหญ่ที่ “กรมทางหลวง” ต้องทบทวน
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้เน้นย้ำเรื่องมาตรการความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้างอย่างสูงสุด เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ครั้งนี้นับเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่กรมทางหลวงจะต้องทบทวนและพิจารณามาตรการเสริมความปลอดภัยด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมมากขึ้นในทุกมิติ เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนจะเริ่มงานโครงการต่อไป
บทเรียนราคาแพง ที่ต้องค้นหาความจริง
ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตอธิการบดี สจล. โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "สะพานกลับรถถล่ม" ถนนพระราม 2 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 2 ราย ชี้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นบทเรียนราคาแพง ที่ต้องค้นหาความจริง
ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ให้ข้อมูลไว้น่าสนใจ ถึง วิธีหาสาเหตุการพังทลายของทุกโครงสร้าง มี 4 ขั้นตอนมาตรฐานเหมือนกัน คือ
1. "มาตรฐานการออกแบบ" ทั้งงานก่อสร้าง ซ่อมแซม ว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้าออกแบบ คำนวนหรือวางแผนผิดมาตรฐาน สร้างไปก็เสี่ยงพัง แต่ถ้าออกแบบถูกมาตรฐาน มาดูข้อสอง
2. "ขั้นตอนและวิธีการก่อสร้าง" ตรงตามมาตรฐานหรือไม่ เพราะแม้ออกแบบถูก แต่ก่อสร้างผิด เช่น ใส่เหล็กเสริมน้อยกว่าแบบมาตรฐาน หรือ ขั้นตอนวิธีการก่อสร้างผิด ก็พังได้ หากออกแบบถูกต้อง ก่อสร้างถูกต้อง มาดูข้อสาม
3. "ใช้งานถูกประเภทตามมาตรฐาน" หรือไม่ เช่น ออกแบบถนนให้รถปกติ แต่มีรถบรรทุกหนักเกินมาตรฐานกำหนดวิ่ง ถนนก็พัง แล้วถ้าออกแบบถูกต้อง ก่อสร้างถูกต้อง ใช้งานถูกต้อง ยังพัง ให้มาดูข้อสุดท้าย
4. "ภัยพิบัติ" ทั้งจากธรรมชาติ เช่น พายุฝน น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือจากมนุษย์ เช่น ไฟไหม้ โครงสร้างก็พังได้
เฉียดตาย ถล่ม ซ้ำหลังคา “มอเตอร์เวย์”
ถัดมาอีกวัน ก็คือ วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เวลา 10.34 น. เกิดเหตุพายุพัดทำให้หลังคาซุ้มด่านเก็บเงินทางด่วนถล่ม ต.ท่าสะอ้าน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นซุ้มด่านเก็บเงินช่องที่ 1 เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่
ถือเป็นความโชคดี ที่เหตุการณ์นี้ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือ เสียชีวิต ไม่มีรถยนต์ได้รับความเสียหาย แต่มีทรัพย์สินของทางราชการได้รับความเสียหาย
ทั้ง 2 เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น ทั้งสะพานกลับรถถล่ม และ เหตุการณ์ หลังคาด่านเก็บเงินพังลงมานั้น ถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความกังวลให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างมาก มีการทวงถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงมาตรการความปลอดภัยต่อจากนี้ จะเป็นอย่างไร และจะสามารถสร้างความมั่นใจ ให้กับประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนน ได้อย่างไรบ้าง??
กราดยิงอุบลฯ จุดเริ่มต้นวัยรุ่นขัดแย้ง กับ กฎหมาย “ครอบครองปืนเถื่อน”
เหตุการณ์ “กราดยิง” ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับประเทศไทย หากไล่เรียงมาตั้งแต่ปี 2563 หลายคนคงจำกันได้กับ เหตุการณ์กราดยิงภายในห้างสรรพสินค้าเทอมินอล 21 ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตหลายราย ต่อด้วยใน 2564 คนร้ายเป็นชายแต่งกายคล้ายทหาร ใช้อาวุธปืนก่อเหตุยิงภายในโรงพยาบาลสนาม จ.ปทุมธานี ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 ถูกยิงเสียชีวิต 1 ราย
และเหตุ “กราดยิง” ล่าสุด ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 3 ส.ค. 65 ที่ จังหวัดอุบลราชธานี สร้างความสั่นสะเทือนในสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีบุตรหลานเป็นวัยรุ่น เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดจากความขัดแย้ง ไม่พอใจ ของกลุ่มวัยรุ่น จนลุกลามก่อเหตุ กราดยิง ดังกล่าว ส่งผลให้มี ผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 6 ราย
“กราดยิง” ในที่สาธารณะ ประชาชนได้มีการตั้งคำถามถึงการพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ มีการพูดถึงมาตรการความเข้มงวดของสถานบันเทิง และความเข้มข้นของกฏหมายการพกพาอาวุธปืน ไปในที่สาธารณะ
ปัญหาความผิดท็อปฮิตของคนมีปืน "แฟนเพจทนายคู่ใจ" ได้สรุปความรู้เกี่ยวกับบทลงโทษ ในการครอบครองอาวุธ ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
1.ปืนเถื่อน (มีอาวุธปืนไม่มีทะเบียน)
ต้องระวางโทษจำคุก 1ปี-10ปีและปรับตั้งแต่ 2พัน-2หมื่นบาท(ตาม ม.7ประกอบ ม.72 พรบ.อาวุธปืน)
2.ปืนผิดมือ (มีอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตไว้ในครอบครอง)
ต้องระวางโทษจำคุก 6เดือน-5ปีและปรับตั้งแต่ 1พัน-1หมื่นบาท(ม.7 ประกอบ ม.72 วรรคสาม พรบ.อาวุธปืน)
3.มีกระสุนไม่ถูกขนาดกับปืนที่ได้รับอนุญาต (มีเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต)
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 2หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ(ม.8ประกอบ ม.72 ทวิวรรคหนึ่ง ของ พรบ.อาวุธปืน)
4.พกพาโดยไม่มีใบอนุญาต
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน5ปีหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ(ม.8ทวิวรรคหนึ่ง ประกอบ ม.72 ทวิวรรคสอง ของ พรบ.อาวุธปืน)
5.ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วันหรือปรับไม่เกิน 5 พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (ม.376 ป.อาญา)
มาตรา 376 ผู้ใดยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกิน ห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม คดีกราดยิง ที่ จ. อุบลราชธานี อยู่ระหว่างการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยมีการออกหมายจับผู้ก่อเหตุในคดีนี้ทั้งหมด 13 หมายจับ แม้ว่าจะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ก็จะถูกดำเนินดคีด้วย ในข้อหา ”ฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตาย และผู้ใดเข้าร่วมในเหตุการณ์ชุลมุนต่อสู้ตั้งแต่สามคนขึ้นไปและไม่ว่าบุคคลหนึ่งหรือบุคคลใดที่เข้าร่วมในเหตุการณ์หรือไม่จนถึงแก่ความตาย โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ตามมาตรา 294
“ย่างสดสยอง” 14 ศพ ผับดังชลบุรี สู่การสังคายนาสถานบันเทิง
พ้นกลางดึกของวันที่ 4 เข้าสู่วันที่ 5 สิงหาคม เกิดเหตุการณ์สลด "ไฟไหม้ผับชลบุรี" เมาท์เทน บี (Mountain B) ที่ตั้งอยู่ ม.7 ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 14 ราย
เหตุการณ์ครั้งนี้ ถูกตั้งคำถาม จากโลกออนไลน์ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ทางผับมีมาตรการด้านการป้องกันอัคคีภัยหรือไม่?
โดยเรื่องนี้ โลกออนไลน์ได้มีการเผยแพร่ภาพแผนผังของผับดังกล่าวรวมถึงการออกแบบประตู 2 ชั้น ของร้านนั้น ที่ทำไว้เพื่อที่จะป้องกันเสียงจากข้างในไม่ให้ออกมาข้างนอก และประตูนี้ยังเป็นประตูซ่อนที่บุแผ่นซับเสียงเอาไว้ เมื่ออยู่ในความมืดจะมองไม่เห็น และไม่มีไฟแจ้งเตือน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว หลายคน นึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับ โดยลักษณะตัวอาคาร มีลักษณะคล้ายๆ กัน เนื่องจากข้างในเล็ก แคบ บุด้วยวัสดุซับเสียงเป็นจำนวนมาก มีทางออกทางเดียว และมีความมืด
ด้วยความที่เป็นสถานบันเทิง หลายคนอาจจะมีอาการมึนเมา ทำให้ไปกรูกันอยู่ที่ประตูเล็กและแคบ ทำให้ไม่สามารถหนีออกได้ทัน จึงเกิดเหตุสลดดังกล่าว
เหตุการณ์ครั้งนี้ นำไปสู่การควบคุม และเข้มงวดกับมาตรการ ที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตเปิด-ปิด กำหนดปิดที่ ตรงเวลา
สำหรับกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับรายงานการตรวจสอบสถานบันเทิงแล้วประมาณ 400 แห่ง พบว่ามีสถานบันเทิงที่ยังไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาเรื่อง ทางออก และ ประตูหนีไฟ จำนวน 83 แห่ง ซึ่งบางแห่งที่มีปัญหาได้สั่งปิดชั่วคราว เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง
หากพบยังไม่มีการแก้ไข จำเป็นต้องสั่งให้ปิด โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครนั้น มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.สาธารณสุขเพียงเท่านั้น แต่ในเรื่องของใบอนุญาตเป็นหน้าที่ของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
สุดท้ายนี้ ทั้ง 4 เหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็น สะพานพระราม2 ถล่ม หลังคามอเตอร์เวย์พัง กราดยิงอุบลฯ และไฟไหม้ผับชลบุรี เป็นเหตุการณ์ใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ล้วนแล้วเป็นความสูญเสีย ที่ไม่อาจทดแทนได้ของหลายๆ ครอบครัว แม้แต่ “เงินเยียวยา” หรือ “คำขอโทษ”
ภาพ กรมทางหลวง