TNN Helion ระดมทุนพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่ต้องใช้ไอน้ำ

TNN

Tech

Helion ระดมทุนพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่ต้องใช้ไอน้ำ

Helion ระดมทุนพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่ต้องใช้ไอน้ำ

บริษัททดสอบต้นแบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน Trenta รุ่นที่ 6 ในปี 2020 สร้างพลังงานความร้อนอุณหภูมิที่สูงกว่า 100 ล้านองศาเซลเซียส

Helion บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันประสบความสำเร็จในการระดมทุนรวมเป็นมูลค่ากว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อพัฒนาต้นแบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน Polaris รุ่นที่ 7 สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่ต้องใช้ไอน้ำในการหมุนกังหันเครื่องแรกของโลกภายในปี 2024 แนวคิดใหม่ในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันที่สร้างความร้อนมหาศาลคล้วยดวงอาทิตย์เทียมแต่มีความปลอดภัยสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


ความสำเร็จในการระดมทุนในครั้งนี้มีกลุ่มนักลงทุนชั้นนำให้ความสนใจเทคโนโลยีที่บริษัทกำลังพัฒนา เช่น Sam Altman CEO คนปัจจุบันของ OpenAI Peter Thiel ผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal บริการชำระเงินออนไลน์ Mithril Capital อดีตประธาน eBay รวมไปถึง Capricorn Investment Group และ Dustin Moskovitz ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook โดยเงินทุนจำนวนกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจะถูกนำไปใช้สร้างโรงงานและศูนย์วิจัยเทคโนโลยีของบริษัทที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างที่เมือง Everett รัฐวอชิงตัน


ก่อนหน้านี้บริษัทประสบความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน Trenta รุ่นที่ 6 ในปี 2020 สร้างพลังงานความร้อนอุณหภูมิที่สูงกว่า 100 ล้านองศาเซลเซียสและได้รับการทดสอบการใช้งานนานกว่า 16 เดือน เทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่มีจุดเด่นในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยตรงจากเครื่องปฏิกรณ์แตกต่างจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันอื่น ๆ ที่มักสร้างพลังงานความร้อนและนำความร้อนไปใช้ต้มน้ำให้เดือดเพื่อสร้างไอน้ำไปหมุนกังหันผลิตกระแสไฟฟ้า วิธีการแบบเก่านี้อาจทำให้ปัญหาสารปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กระจายลงสู่แหล่งน้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน


ต้นแบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน Trenta รุ่นที่ 6 ของบริษัท Helion ใช้การชวนกันของไอออนจากดิวเทอเรียม (Deuterium) และฮีเลียม-3 (Helium-3) ในพลาสมาผสมการควบคุมความร้อนด้วยแม่เหล็กแรงสูงทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าโดยตรงและสามารถนำพลังงานที่เหลือส่งกลับไปยังปฏิกิริยาฟิวชันใหม่อีกครั้งสลับไปมาทุก ๆ 10 นาที  สำหรับต้นแบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน Polaris รุ่นที่ 7 บริษัทจะพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนดังกล่าวให้เกิดขึ้นในทุก ๆ วินาที เทคโนโลยีทั้งหมดบริษัทต้องการทำให้มีโครงสร้างขนาดเล็กเพียงพอที่จะสามารถบรรทุกด้วยตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทั่วไปและสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 50 เมกะวัตต์


เป้าหมายการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่ต้องใช้ไอน้ำเครื่องแรกของโลกในปี 2024 นับเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของวงการเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยขนาดที่สามารถขนย้ายได้สะดวกทำให้สามารถถูกใช้งานหลากหลายรูปแบบ เช่น ระบบกระแสไฟฟ้าสำหรับศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ การผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ชุมชนห่างไกล รวมไปถึงใช้ในด้านการทหาร การเคลื่อนย้ายกำลังพลและตั้งค่ายทหารของกองทัพ


ข้อมูลจาก newatlas.com, techcrunch.com 

ภาพจาก helionenergy.com

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ