คำแนะนำการใช้ Pulse Oximeter วัดออกซิเจนในเลือด หาภาวะ Happy Hypoxia ในผู้ป่วย COVID-19
ผู้ป่วยโควิดที่ตรวจเจอเชื้อเป็นบวก แต่ยังไม่แสดงอาการและกักตัวอยู่บ้าน อาจใช้ Pulse Oximeter เฝ้าระวังภาวะขาดออกซิเจนที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในปัจจุบันยังถือว่าน่าเป็นห่วง และมีผู้ป่วยหลายรายที่มักไม่แสดงอาการในช่วงแรก ๆ จนกระทั่งร่างกายทรุดหนัก ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจนได้ จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น Pulse Oximeter อุปกรณ์วัคค่าออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว อาจช่วยให้คุณทราบถึงอาการที่รุนแรง และไปพบแพทย์ได้ทันเวลาได้
Hypoxia และ Hypoxemia
Hypoxia เป็นศัพท์ทางการแพทย์มีความหมายว่า ระดับออกซิเจนในเนื้อเยื่อของร่างกายต่ำ ในขณะที่คำว่า Hypoxemia หมายถึงระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อเกิดภาวะ Hypoxemia ก็มักจะมีภาวะ Hypoxia ตามมา (เพราะออกซิเจนในเลือดน้อยอยู่แล้ว เนื้อเยื่อก็คงได้รับไม่เพียงพอ)
ค่าปกติของออกซิเจนในเลือดที่วัดด้วย Pulse Oximeter อุปกรณ์วัคค่าออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว เรียกว่า SpO2 จะอยู่ที่ 95-100% หากต่ำกว่าค่านี้ (บางครั้งยึดที่ค่าต่ำกว่า 92%) แสดงว่ามีออกซิเจนจับกับเลือดแดงได้น้อยลง บ่งชี้ถึงภาวะ “Hypoxemia” และอาจประเมินเป็นภาวะ “Hypoxia” ได้ด้วยนั่นเอง
ภาวะ Happy Hypoxia ภัยเงียบที่มากับ COVID-19
ผู้ที่มีภาวะ Hypoxia ในช่วงแรกจะมีการหายใจเร็วและสั้น หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกเหมือนหายใจไม่อิ่ม กระสับกระส่าย แต่เมื่อระดับออกซิเจนในเลือดลดลงเหลือราว 80-85% จะเริ่มส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง มีอาการสับสนหรือซึม และหากต่ำลงอยู่ที่ 65% จะมีภาวะเขียว (Cyanosis) ริมฝีปาก และปลายมือปลายเท้าเป็นสีม่วงได้ สุดท้ายจะเข้าสู่ขั้นโคม่าไปจนถึงการเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
ซึ่ง COVID-19 เป็นโรคติดเชื้อที่ปอดเป็นหลัก เมื่อปอดถูกทำลายแน่นอนว่าการแลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจนคงเป็นไปอย่างยากลำบาก สิ่งที่ตามมาคือออกซิเจนในเลือดต่ำ เกิดภาวะ Hypoxemia และ Hypoxia ตามมา ทว่า มีผู้ป่วย COVID-19 จำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้แสดงอาการตั้งแต่แรกเริ่ม แม้เริ่มเกิดภาวะ Hypoxia แล้ว ก็ยังไม่แสดงความผิดปกติใด ๆ ออกมา ในทางการแพทย์เราเรียกภาวะนี้ว่า Happy Hypoxia หรือ Silent Hypoxia หมายถึงผู้ป่วยที่มีภาวะ Hypoxia แต่ไม่แสดงอาการของการขาดออกซิเจน
ภาวะ Happy Hypoxia นี้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ป่วย COVID-19 เพราะกว่าจะถึงมือแพทย์ก็ทำเอาอาการทรุดหนักไปมากแล้ว (ประสบการณ์ของผู้เขียนเองเคยเจอผู้ป่วยที่มีออกซิเจนในเลือดต่ำราว 60% แต่แสดงอาการเพียงหายใจสั้น ๆ หายใจเร็วเท่านั้น) เพราะฉะนั้น หากสามารถตรวจพบภาวะ Hypoxia ได้ก่อนน่าจะเป็นผลดีต่อตัวผู้ป่วยมากกว่า อย่างน้อยจะได้ไปพบแพทย์ได้รวดเร็วขึ้น และรับยาต้านไวรัสเพื่อช่วยลดอาการที่รุนแรงได้
คำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการใช้งาน Pulse Oximeter สำหรับผู้ป่วยที่กักตัวอยู่บ้าน
เอกสารคำแนะนำนี้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปี 2664 โดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งให้คำแนะนำว่า ผู้ป่วย COVID-19 บางรายที่ตรวจพบเชื้อเป็นบวกแต่ยังไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย อาจถูกคัดแยกให้กักตัวอยู่ภายในที่พักอาศัยของตนเอง และรักษาตัวตามอาการจนกว่าจะหาย ซึ่งในขณะที่กักตัวอยู่บ้านจะต้องมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หนึ่งในอุปกรณ์ที่นำมาใช้คือ Pulse Oximeter ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือร้านอุปกรณ์การแพทย์
Pulse Oximeter จะช่วยตรวจหาภาวะ Happy Hypoxia ในผู้ป่วยเหล่านี้ได้ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า บางครั้งแม้จะไม่มีอาการหรือมีอาการแสดงเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยไม่ได้มีออกซิเจนในเลือดต่ำ การเฝ้าระวังด้วยอุปกรณ์ที่สามารถหาซื้อได้ง่ายอย่าง Pulse Oximeter ก็น่าจะมีประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม คำแนะนำนี้จัดทำขึ้นในกรณีที่บุคคลนั้นจัดเป็น “ผู้ป่วย COVID-19” คือตรวจพบเชื้อผลเป็นบวก แต่ยังไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แล้วทำการกักตัวอยู่ในที่พักอาศัยเท่านั้น ซึ่งหากใครเข้าข่ายผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถปรึกษาไปยังแพทย์ผู้ดูแลเพื่อจัดหาอุปกรณ์มาไว้ใช้ติดตามอาการที่บ้านได้เลย
แล้วในกรณีผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น มีบุคคลในบ้านติดเชื้อ หรือมีประวัติคลุกคลีกับผู้ป่วย หรือเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง แต่เมื่อตรวจหาเชื้อด้วย Rapid Antigen Test (ชุดตรวจหาไวรัสก่อโรค COVID-19 แบบเร่งด่วน) ยังให้ผลเป็นลบ บุคคลเหล่านี้จะต้องทำการกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วันก่อน เพื่อรอตรวจหาเชื้อซ้ำในช่วง 7-14 วันระหว่างการกักตัว ซึ่งหากพวกเขามีภาวะ Happy Hypoxia ขึ้นมาในระหว่างการกักตัว จุดนี้อาจเป็นข้อสังเกตว่าจริง ๆ แล้ว ผู้ที่กักตัวอยู่บ้านที่กักตัวรอตรวจหาเชื้อซ้ำ ควรจะมีเครื่อง Pulse Oximeter ไว้คอยติดตามอาการด้วยหรือไม่?
Pulse Oximeter มีหลักการทำงานอย่างไร?
สำหรับการทำงานของอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว จะอาศัยการดูดกลืนคลื่นแสงที่แตกต่างกันของเม็ดเลือดแดง ซึ่ง Pulse Oximeter จะมีลำแสงอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือแสงสีแดงช่วงคลื่นประมาณ 660 นาโนเมตร ถูกดืดกลืนโดยเม็ดเลือดแดงที่มีออกซิเจนสูง (Oxyhemoglobin) และแสงอินฟราเรดช่วงคลื่นประมาณ 940 นาโนเมตร ถูกดูดกลืนโดยเม็ดเลือดแดงที่มีออกซิเจนต่ำ (Deoxyhemoglobin)
นั่นแสดงว่าหากออกซิเจนในเลือดสูง แสงสีแดงจะถูกดืดกลืนไปมากและมีการสะท้อนกลับมาน้อย ในขณะที่แสงอินฟราเรดจะสะท้อนกลับออกไปยังเซนเซอร์วัดผลได้มากกว่า เซนเซอร์ก็จะนำแสงทั้ง 2 ช่วงคลื่นมาคิดเป็นสัดส่วนออกมาเป็นค่าร้อยละ ซึ่งเซนเซอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือดของสมาร์ทวอชก็จะใช้หลักการเดียวกัน
คำแนะนำในการใช้งาน Pulse Oximeter เพื่อติดตามอาการของผู้ป่วย COVID-19 ที่กักตัวอยู่บ้าน
ในการใช้งานอุปกรณ์วัดวัดระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้ว มีคำแนะนำในการใช้งาน ดังนี้
1. ทำความสะอาดมือและนิ้ว โดยจะต้องล้างน้ำยาทาเล็บหรือถอดเล็บที่ต่อออกเสียก่อน เพราะอาจบดบังการทำงานของอุปกรณ์ได้
2. เช็คการทำงานของ Pulse Oximeter ก่อนว่าสามารถใช้งานได้ปกติหรือไม่ เช่น แบตเตอรี่ไม่อ่อนเกินไป, ลำแสงที่ปล่อยออกมาจากเครื่องมีความเข้มปกติ หรือหน้าจอสามารถอ่านค่าได้ครบถ้วนและชัดเจน เป็นต้น
3. อุ่นฝ่ามือและนิ้วก่อนสวม Pulse Oximeter ก่อนเสมอ เพราะมือที่เย็นเกินไปจะมีเลือดมาเลี้ยงที่ปลายนิ้วน้อยกว่า การแปลผลอาจผิดพลาดได้
4. สวมอุปกรณ์เข้าที่นิ้วให้กระชับ (ส่วนใหญ่นิยมสวมเข้าที่นิ้วชี้) แล้ววางมือลงบนพื้นราบให้มืออยู่นิ่ง จากนั้นรอประมาณ 1 นาที จนเครื่องอ่านค่าชีพจรและระดับออกซิเจนเสร็จ
5. สามารถประเมินได้ 2-3 ครั้งต่อวัน โดยบันทึกทั้งค่าชีพจรและระดับออกซิเจน เพื่อดูค่าสูงสุดและต่ำสุดที่เปลี่ยนแปลงไป
การแปลผลสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ผู้ใช้สามารถติดตามผลได้อย่างถูกต้อง ส่วนคำแนะนำของ WHO นั้น มีดังนี้
1. SpO2 มากกว่า 94% และยังไม่มีอาการของการขาดออกซิเจน (แน่นหน้าอก, หายใจเร็ว, หายใจไม่อิ่ม, รู้สึกสับสนมึนงง) - ถือว่ายังอยู่ในระดับปกติ สามารถดำเนินการติดตามอาการต่อได้ที่บ้าน
2. SpO2 น้อยกว่าหรือเท่ากับ 94% - ผู้ป่วยควรได้รับการติดตามเพิ่มเติมที่โรงพยาบาล เพื่อป้องกันอาการที่อาจแย่ลง
3. SpO2 น้อยกว่าหรือเท่ากับ 90% - ผู้ป่วยควรได้รับการส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็ว (ฉุกเฉิน) เพราะบ่งบอกถึงการทำงานที่แย่ลงของปอด อาจส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ด้วย
ทั้งนี้ อาจมีบุคคลบางกลุ่มที่มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยโรคทางเดินอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ซึ่งอาจมีระดับออกซิเจนต่ำกว่า 95% ได้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนเพื่อบันทึกระดับออกซิเจนในเลือดไว้เป็นค่าเริ่มต้น และป้องกันการแปลผลที่คลาดเคลื่อนได้
และนี่คือแนวทางเบื้องต้นในการนำอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้วไปใช้งานในผู้ป่วย COVID-19 ถึงกระนั้นก็อย่าลืมปรึกษาแพทย์ก่อนหาซื้ออุปกรณ์มาใช้ด้วย เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน และป้องกันการแปลผลที่คลาดเคลื่อน หวังว่าทุกท่านจะปลอดภัยจากโรค COVID-19 แล้วเราจะผ่านมันไปด้วยกัน
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67