TNN เช็คให้ชัวร์ก่อนติดตั้ง Windows 11 !! สเปกคอมขั้นต่ำต้องมีอะไรบ้าง?

TNN

Tech

เช็คให้ชัวร์ก่อนติดตั้ง Windows 11 !! สเปกคอมขั้นต่ำต้องมีอะไรบ้าง?

เช็คให้ชัวร์ก่อนติดตั้ง Windows 11 !! สเปกคอมขั้นต่ำต้องมีอะไรบ้าง?

ออย่าลืมเช็คสเปกขั้นต่ำที่ใช้ในการติดตั้ง Windows 11 ขาดข้อใดข้อหนึ่งคุณอาจจะติดตั้งไม่ได้

นับว่าเรียกเสียงฮือฮาไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับการเปิดตัวระบบปฏิบัติการ Windows 11 โดยมีการปรับปรุงทั้งดีไซน์แบบใหม่ดูสะอาดตามากขึ้น รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม หลายคนจึงให้ความสนใจเป็นอย่างมาก



คุณสมบัติขั้นต่ำที่ใช้ในการติดตั้ง Windows 11


ล่าสุดทาง Microsoft ได้เปิดให้อัปเดตในโหมดนักพัฒนา Insider Preview ใครที่อยากลองใช้ Windows 11 ลองเช็คคุณสมบัติขั้นต่ำที่คอมพิวเตอร์ต้องมีก่อนทำการติดตั้ง ดังนี้


- ซีพียูแบบ Dual-Core และมีความเร็ว 1 GHz ขึ้นไป

- แรม 4GB ขึ้นไป

- พื้นที่ว่าง 64GB ขึ้นไป

- การ์ดจอรองรับ DirectX 12 พร้อมกับไดรเวอร์แบบ WDDM 2.0

- จอแสดงผลขนาด 9 นิ้ว ความละเอียดระดับ HD 720p ขึ้นไป

- เฟิร์มแวร์ระบบแบบ UEFI และรองรับ Secure Boot

- รองรับ Trusted Platform Module (TPM) 2.0


หากดูจากคุณสมบัติขั้นต่ำแล้ว คิดว่าคอมพิวเตอร์ของหลาย ๆ คนน่าจะติดตั้ง Windows 11 กันได้ไม่ยาก ทว่า ปัญหาที่พบบ่อยและกลายเป็นประเด็นในขณะนี้ คือการรองรับ Trusted Platform Module หรือ TPM 2.0 ซึ่งคอมพิวเตอร์ที่มีอายุราว 4-5 ปีก่อนยังเป็น TPM 1.2 ส่งผลให้ไม่สามารถติดตั้ง Windows 11 ได้ แล้ว TPM มีความสำคัญอย่างไร เหตุใด Microsoft จึงบังคับใช้ มาดูในหัวข้อถัดไปกันเลย



Trusted Platform Module (TPM) คืออะไร


Trusted Platform Module คือโมดูลด้านความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นลายนิ้วมือ, ใบหน้า, รหัสผ่าน, รูปแบบการเข้ารหัส, ข้อมูลระบบ รวมถึง Secure Boot ที่เป็นระบบป้องกันเฟิร์มแวร์ในขณะเปิดเครื่อง ก็ถูกจัดเก็บไว้ใน TPM เช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าระบบความปลอดภัยขั้นสุดยอดของคอมพิวเตอร์จะถูกเก็บไว้ใน TPM นั่นเอง


TPM ในคอมพิวเตอร์ปัจจุบันแบ่งออกเป็นรูปแบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และแบ่งย่อยได้อีกอย่างละ 2 แบบ ดังนี้


1. Discrete TPM - เป็นชิปความปลอดภัยที่ฝังมาในเมนบอร์ดของคอมพิวเตอร์ รูปแบบนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะสามารถทำงานแยกกันกับอุปกรณ์อื่นบนเครื่องได้อย่างอิสระ การเจาะระบบโดยแฮกเกอร์จะทำได้ยากมาก แต่มีข้อจำกัดตรงที่หากเปลี่ยนรุ่นหรือเวอร์ชันของ TPM จะต้องซื้อชิปแบบอัปเกรดมาติดตั้งเอง

2. Integrated TPM - คุณสมบัติคล้ายกับแบบแรก ยังอยู่ในรูปแบบของชิป แต่จะถูกรวมไว้ในชิปเซตของเมนบอร์ดอีกที ซึ่งการทำงานของมันจะถือว่าไม่ได้แยกออกไปจากระบบเสียทีเดียว แต่ก็ยังมีความปลอดภัยใกล้เคียงกับแบบ Discrete TPM

3. Firmware TPM (fTPM) - นิยมใช้กันมากในคอมพิวเตอร์ปัจจุบัน โดยจะเป็นซอฟต์แวร์ที่ทำงานร่วมกับซีพียู และมีโค้ดป้องกันข้อมูลที่เรียกว่า Trusted Execution Environment (TEE) จึงไม่จำเป็นต้องมีชิปแยก ข้อดีของ fTPM คือสามารถอัปเกรดเวอร์ชันได้ผ่านการอัปเดตเฟิร์มแวร์ของเมนบอร์ด

4. Software TPM - เป็นการจำลองระบบ TPM ขึ้นมา ซึ่งจะนิยมใช้ในซอฟต์แวร์จำลองสภาพแวดล้อม (Virtual machine) เพื่อติดตั้งระบบปฏิบัติการอีกที เช่น Virtualbox หรือ VMWare 



เหตุใด Microsoft จึงบังคับให้ใช้ TPM


จริง ๆ เมนบอร์ดของคอมพิวเตอร์ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการรองรับ TPM 1.2 อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีการเปิดใช้งานมาจากโรงงานผู้ผลิต เช่นเดียวกันกับ TPM 2.0 ที่ตามมาในช่วงหลังก็ไม่ได้มีการเปิดใช้งานในเมนบอร์ดตั้งแต่แรก อาจเป็นเพราะไม่ได้มีความจำเป็นในการใช้งานสักเท่าไร เว้นเสียแต่แล็ปท็อปที่เปิดตัวช่วง 1-2 ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะเปิดใช้งาน TPM ไว้ให้เรียบร้อย


อย่างไรก็ตาม Microsoft เผยว่ามีรูปแบบของรหัสผ่านมากมายเกิดขึ้น รวมถึงวิธีการเข้ารหัสที่ยืนยันอัตลักษณ์บุคคล เช่น การสแกนใบหน้าและลายนิ้วมือก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ในขณะอาชญากรรมไซเบอร์ไม่ได้ลดลงเลย มีข้อมูลว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาภาคธุรกิจถูกโจมตีผ่านเฟิร์มแวร์คอมพิวเตอร์มากถึง 83% และส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเปิดการใช้งาน TPM ไว้ ดังนั้น เพื่อลดอุบัติการณ์เหล่านี้ Microsoft จึงตั้งคุณสมบัติขั้นต่ำของ Windows 11 ให้ผู้ใช้เปิดใช้งาน TPM เป็นค่าเริ่มต้น


นอกจากนี้ TPM ยังมีบทบาทในเรื่องการป้องกันด้านลิขสิทธิ์ หากพบว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน ระบบจะสามารถจัดการได้ในทันที (เช่น ทำให้ซอฟต์แวร์ใช้งานไม่ได้) รวมถึงยังช่วยป้องกันการโกงเกม ซึ่งเป็นผลดีต่อการแข่งขันเกมออนไลน์ E-Sport ในปัจจุบันด้วย



จะทำอย่างไรหากคอมพิวเตอร์ยังใช้ TPM 1.2 รุ่นเก่า


จุดเด่นของ TPM 2.0 เหนือ TPM 1.2 คือการรองรับอัลกริธึมของเงินคริปโตได้หลากหลายรูปแบบมากกว่า ซึ่งจะช่วยปกป้องข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ดังนั้น ใน Windows 11 จึงต้องใช้ TPM 2.0 หากยังเป็น TPM 1.2 จะปรากฏหน้าต่างเตือนว่าไม่สามารถติดตั้งได้ (ดาวน์โหลดโปรแกรมเช็คความพร้อมของคอมพิวเตอร์คุณได้จาก ลิ้งก์นี้)


ซึ่งกรณีนี้ผู้ใช้อาจจะต้องรอให้ทางผู้ผลิตเมนบอร์ด ออกอัปเดตเฟิร์มแวร์ของเมนบอร์ด เพื่อปรับ fTPM จาก 1.2 ให้กลายเป็น 2.0 หากโชคดีที่ผู้ผลิตใจดีออกอัปเดตให้ก็จะสามารถใช้งานได้ แต่ถ้าหากไม่มีการออกอัปเดตให้ กรณีนี้คงต้องรอติดตามก่อนว่า Microsoft จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร


ถึงกระนั้น Windows 11 จะปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้ ส่วนใครที่ลองใช้ในช่วงนี้มันยังเป็นเวอร์ชันสำหรับนักพัฒนาแอปพลิเคชันอยู่ คาดว่าในอนาคตทาง Microsoft อาจมีแนวทางอื่น ๆ ให้ แต่ท้ายที่สุดแล้วหากไม่สามารถปรับคุณสมบัติได้จริง คุณก็ยังสามารถใช้งาน Windows 10 ต่อไปได้ เพราะจะยังได้รับการดูแลจาก Microsoft ไปจนถึงปี 2568 เลยทีเดียว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Techspot

ข่าวแนะนำ