แว่นตา VR สำหรับหนู ช่วยให้นักวิจัยศึกษาสมองของหนูได้
ยุคนี้แม้แต่หนูตัวเล็ก ๆ ก็มีแว่นตา VR ใส่ เมื่อทีมนักวิจัยในสหรัฐ คิดค้นแว่นตา VR สุดพิเศษที่สามารถสวมกับหัวหนูได้ เพื่อเอามาใช้ศึกษาการทำงานของสมอง หวังต่อยอดไปสู่การรักษาโรคอัลไซเมอร์
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนาอุปกรณ์แว่นตา VR สุดพิเศษ เพื่อใช้กับสัตว์เล็กอย่าง “หนูทดลอง” โดยทำให้หนูทดลอง มองเห็นภาพจำลองของเส้นทางและสิ่งกีดขวาง ขณะทดสอบการทำงานของสมอง และช่วยให้นักวิจัย มีเครื่องมือช่วยสังเกตการทำงานของสมอง จากกระบวนการทดสอบนี้ได้ง่ายขึ้น
ชุดแว่นตา AR และหูฟังดังกล่าว ได้รับการพัฒนาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) ซึ่งใช้ในการศึกษาว่า “สมองของสิ่งมีชีวิต มีการควบคุมการทำงาน และการควบคุมของหน่วยความจำอย่างไร” เพื่อให้นักวิจัยมีข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ เกี่ยวกับความผิดปกติของสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ หรือภาวะสมองเสื่อม และต่อยอดไปสู่วิธีการรักษาที่เป็นไปได้
ดร. แมทธิว ไอแซคสัน (Dr Matthew Isaacson) นักวิจัยร่วมของการศึกษาครั้งนี้ กล่าวกับสื่อรอยเตอร์ว่า ทีมวิจัยกำลังพยายามศึกษาผลของการรักษาโรคอัลไซเมอร์ในหนู โดยการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ในสมอง ซึ่งเชื่อว่าจะปรับปรุงการทำงานของหน่วยความจำในหนูได้
เพื่อทดสอบการทำงาน พวกเขาจึงตัดสินใจออกแบบอุปกรณ์แว่นตา VR และชุดหูฟังที่สามารถสวมใส่กับตัวหนูได้ และใช้เทคโนโลยี Virtual Reality จำลองสถานที่แบบโลกเสมือนจริง เพื่อให้หนูมองเห็น “โลกจำลอง” และวิ่งไปวิ่งมาตามด่านต่าง ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างไว้
ในระหว่างการทดสอบ หนูจะถูกวางตำแหน่งให้ยืนบนลู่วิ่ง และสวมแว่นตา VR ซึ่งจะทำให้ตรึงส่วนหัวของหนูไว้กับที่ ในขณะที่มันมองเข้าไปในช่องมองภาพคู่ ซึ่งจะปรากฏสถานการณ์จำลองแบบต่าง ๆ โดยนักวิจัยก็จะถ่ายภาพกิจกรรมของเซลล์ประสาทของหนูไว้ด้วย
ปัจจุบันทีมวิจัยวางแผนที่จะพัฒนาแว่นตา VR นี้ต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแว่นตาที่มีความเบาและพกพาสะดวก สำหรับสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ตุ๊กแก เพื่อศึกษาการทำงานของสมองในสัตว์ประเภทอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น
ข้อมูลจาก reutersconnect, msn
ภาพจาก Reuters, Matthew Isaacson
ข่าวแนะนำ