จานดาวเทียมตำนานฟื้นคืนชีพ ส่องห้วงอวกาศอีกครั้ง หลังหลับใหลเกือบ 40 ปี
หน่วยงานเอกชนคืนชีพให้กับจานดาวเทียมในตำนานในประเทศออสเตรเลีย หลังถูกทิ้งร้างไปกว่า 40 ปี ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง โดยล่าสุดสามารถรับสัญญาณดาวเทียมจากอวกาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
เกือบ 40 ปีหลังจากถูกปลดประจำการ ในที่สุดจานดาวเทียมคาร์นาร์วอน (Carnarvon satellite dish) ซึ่งถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1969 เพื่อสนับสนุนสถานีติดตามขององค์การนาซา ก็ได้รับการฟื้นฟูให้สามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง และเริ่มรับสัญญาณจากอวกาศเป็นครั้งแรกแล้ว
จานดาวเทียมคาร์นาร์วอน (Carnarvon satellite dish) เป็นจานรับสัญญาณขนาด 30 เมตร ขององค์การโทรคมนาคมต่างประเทศ (OTC) ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย (Western Australia) รัฐที่ใหญ่ที่สุดของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งสร้างขึ้นโดยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภารกิจอะพอลโล (Apollo) ที่ช่วยให้นักบินอวกาศชาวอเมริกัน สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
จานรับสัญญาณนี้ถูกปลดประจำการในปี ค.ศ. 1987 แต่ขณะนี้มันได้ถูกพัฒนาให้สามารถรับสัญญาณเรดาร์ได้อีกครั้ง หลังจากได้รับการบูรณะโดย โธธ-เอ็กซ์ (ThothX) บริษัทอวกาศเอกชนของแคนาดา โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาเครือข่ายติดตามดาวเทียมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ซึ่งหลังจากบริษัทใช้เวลาหลายเดือนในการติดตั้งอุปกรณ์ใหม่และเตรียมเสาอากาศขนาด 300 ตันสำหรับการใช้งานอีกครั้ง บริษัทรายงานว่าขณะนี้ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างการเชื่อมต่อกับดาวเทียม เอ็นเอสเอส-หนึ่งสอง (NSS-12) ที่อยู่สูงขึ้นไปหลายหมื่นกิโลเมตรเหนือประเทศออสเตรเลียได้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ บรันเดน ควีน (Brendan Quine) ซีอีโอของบริษัท อธิบายว่า ตำแหน่งของจานดาวเทียมแห่งนี้ มีประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในภูมิภาค ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์โลกปัจจุบัน และหวังว่าชุมชนท้องถิ่นจะได้รับประโยชน์จากจานรับสัญญาณที่ได้รับการบูรณะด้วย
โดยหลังจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะปรับปรุงการทาสี รวมถึงการกำจัดมูลนกพิราบ และการทำความสะอาดอย่างละเอียด รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างและความแข็งแรงของจานดาวเทียมที่ถูกทิ้งร้างมานานนี้ต่อไป และตั้งเป้าที่จะสาธิตความสามารถในการส่งสัญญาณเต็มรูปแบบ ภายในหนึ่งปีข้างหน้านี้
ข้อมูลจาก apvideohub, reporterosdelsur, abc, facebook
ข่าวแนะนำ