TNN อีลอน มัสก์ เคลมสามารถสร้างไฮเปอร์ลูปลอดใต้ทะเลเชื่อมลอนดอน - นิวยอร์ก ด้วยเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น

TNN

Tech

อีลอน มัสก์ เคลมสามารถสร้างไฮเปอร์ลูปลอดใต้ทะเลเชื่อมลอนดอน - นิวยอร์ก ด้วยเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น

อีลอน มัสก์ เคลมสามารถสร้างไฮเปอร์ลูปลอดใต้ทะเลเชื่อมลอนดอน - นิวยอร์ก ด้วยเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น

ในขณะที่เคยมีการประเมินว่าโครงการอุโมงค์ลอนดอน - นิวยอร์ก อาจต้องใช้เงินถึง 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 700 ล้านล้านบาท เพื่อย่นเวลาการเดินทางให้เหลือ 54 นาที จากเดิมกว่า 8 ชั่วโมง 15 นาที ด้วยเครื่องบิน

การเดินทางระหว่างมหานครนิวยอร์ก (New York) ในสหรัฐอเมริกา กับกรุงลอนดอน (London) ของอังกฤษในปัจจุบันนั้น มีเพียงเครื่องบินโดยสารที่ใช้เวลาเดินทางสูงสุด 8 ชั่วโมง 15 นาที ซึ่งทำให้มีแนวคิดการขุดเจาะอุโมงค์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อเชื่อมสองเมืองนี้เข้าด้วยกัน แต่แลกกับงบประมาณที่สูงถึง 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 700 ล้านล้านบาท 


แต่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ในฐานะเจ้าของเดอะ บอร์ริง คอมพานี (The Boring Company) บริษัทที่ขุดเจาะอุโมงค์เป็นของตัวเอง กลับออกมาประกาศว่าโครงการเชื่อมสองมหานครเข้าด้วยกันนั้นบริษัทของเขาสามารถทำได้ด้วยงบประมาณที่น้อยกว่าที่คาดไว้กว่า 1,000 เท่า เหลือเพียง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท



แนวคิดอุโมงค์เชื่อมนิวยอร์ก - ลอนดอน

โครงการดังกล่าวมีการเสนอขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2000 ซึ่งจะเป็นการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงแบบแม่เหล็กหรือแม็กเลฟ (Maglev) ที่มีความเร็วอย่างน้อย 1,900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่านอุโมงค์ความยาวมากกว่า 4,800 กิโลเมตร ซึ่งในตอนนั้นอุโมงค์ลอดใต้ทะเลที่ยาวที่สุดในโลกคืออุโมงค์ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ซึ่งมีความยาวประมาณ 50 กิโลเมตร 


ในตอนนั้น อุโมงค์เชื่อมอังกฤษกับฝรั่งเศสใช้งบประมาณ 11,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเทียบค่าเงินปัจจุบันจะอยู่ที่ 23,400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 800,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้ประเมินกันว่าต้องใช้เงินประมาณ 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 680 ล้านล้านบาท เพื่อเชื่อมนิวยอร์กกับลอนดอนเข้าด้วยกัน


อีลอน มัสก์ กับแนวคิดอุโมงค์เชื่อมนิวยอร์ก - ลอนดอน

โดยเทคโนโลยีที่สื่ออ้างถึงก็คือ ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) หรือระบบขนส่งผ่านท่อสุญญากาศที่ความเร็วสูงสุดในทางทฤษฎีกว่า 8,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถทำให้โครงการดังกล่าวเดินทางได้ในเวลา 54 นาที และอีลอนก็เป็นคนที่เสนอการสร้างระบบขนส่งแบบนี้เป็นครั้งแรกในปี 2013 ซึ่งเป็นสาเหตุให้อีลอน รีทวีต (Retweet) ข่าวดังกล่าวและกล่าวว่า “เดอะ บอร์ริง คอมพานี สามารถทำได้ด้วยเงินน้อยกว่า 1,000 เท่า”


อย่างไรก็ตาม The Boring Company ที่เดิมเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาการขุดอุโมงค์ไฮเปอร์ลูปกลับได้เปลี่ยนการพัฒนาเป็นอุโมงค์สำหรับรถยนต์ไร้คนขับของเทสลาแทนในปัจจุบัน เช่น โครงการเวกัส ลูป (Vegas Loop) ที่เป็นเครือข่ายสำหรับรับส่งผู้โดยสารจำนวน 69 สถานี และเส้นทางอุโมงค์ใต้ดินความยาวกว่า 104.6 กิโลเมตร ตามที่ TNN Tech รายงานก่อนหน้านี้


ข้อมูล Dezeen, Mirror US, CNN

ภาพ WikicommonsThe Boring Company (via X)


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง