TNN รู้จักกระจุกดาวต้นคริสต์มาส ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสและวันหยุดปีใหม่

TNN

Tech

รู้จักกระจุกดาวต้นคริสต์มาส ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสและวันหยุดปีใหม่

รู้จักกระจุกดาวต้นคริสต์มาส ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสและวันหยุดปีใหม่

รู้จักกระจุกดาวต้นคริสต์มาส หรือ NGC 2264 ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสและวันหยุดปีใหม่

กระจุกดาวต้นคริสต์มาส (NGC 2264) นับเป็นหนึ่งในความสวยงามบนอวกาศที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในช่วงเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่ กระจุกดาวต้นคริสต์มาส ตั้งอยู่บริเวณกลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros) ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง กระจุกดาวนี้เป็นที่รู้จักในแวดวงดาราศาสตร์เนื่องจากรูปร่าง และองค์ประกอบที่สะท้อนถึงความลี้ลับของเอกภพ


องค์ประกอบสำคัญของกระจุกดาวต้นคริสต์มาสแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กระจุกดาวเปิด (Open Cluster) และเนบิวลารูปกรวย (Cone Nebula) กระจุกดาวเปิดที่เป็นส่วนหนึ่งของ NGC 2264 มีลักษณะการเรียงตัวของดาวที่คล้ายกับต้นคริสต์มาส ในขณะที่เนบิวลารูปกรวยซึ่งอยู่ใกล้เคียงมีลักษณะเหมือนกรวยคว่ำ จุดเด่นนี้ทำให้กระจุกดาวได้รับชื่อเล่นว่า "ต้นคริสต์มาส"


ในกระจุกดาวนี้ประกอบด้วยดาวฤกษ์อายุน้อยจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในสถานที่กำเนิดดาวใหม่ (Star-forming Region) ที่สำคัญ โดยแสงสว่างจากดาวเหล่านี้จะทำปฏิกิริยากับก๊าซและฝุ่นรอบ ๆ ทำให้เกิดสีสันและความสวยงามที่สามารถสังเกตได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ดาวฤกษ์เหล่านี้จุดว่ามีอายุน้อยมาก โดยมีอายุเพียง 1 ถึง 5 ล้านปีเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับดวงอาทิตย์ของเราที่มีอายุประมาณ 5 พันล้านปี


กระจุกดาวต้นคริสต์มาสเป็นเป้าหมายยอดนิยมสำหรับนักดาราศาสตร์มือสมัครเล่นและมืออาชีพ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ เนื่องจากสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายในบริเวณกลุ่มดาวยูนิคอร์น นอกจากนี้ การศึกษากระจุกดาวนี้ยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจเกี่ยวกับการกำเนิดและวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ในเอกภพ


ภาพถ่ายกระจุกดาวต้นคริสต์มาส (NGC 2264) ล่าสุดนี้ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นบันทึกภาพโดย ไมเคิล โคลว์ (Michael Clow) นักดาราศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในการจับภาพวัตถุท้องฟ้าด้วยเทคโนโลยีในช่วงคลื่นแสงธรรมดา ภาพในช่วงคลื่นนี้ช่วยให้เห็นสีสันและรายละเอียดของดาวฤกษ์และเนบิวลาที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างแสงดาวและก๊าซฝุ่น 


สำหรับกระบวนการประมวลผลภาพดำเนินการโดยทีมงานจาก NASA และ CXC โดยมี L. Frattare และ K. Arcand เป็นผู้นำในกระบวนการนี้ การประมวลผลภาพเป็นขั้นตอนที่นำข้อมูลจากช่วงคลื่นต่าง ๆ (เอ็กซ์เรย์และแสงธรรมดา) มาประกอบกัน เพื่อสร้างภาพที่ให้ข้อมูลที่ชัดเจน รวมไปถึงแสดงรายละเอียดที่สวยงามของกระจุกดาวต้นคริสต์มาส (NGC 2264) 


รู้จักกระจุกดาวต้นคริสต์มาส ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสและวันหยุดปีใหม่


ที่มาของข้อมูล 

https://www.space.com/the-universe/the-christmas-tree-cluster-gets-a-festive-makeover-photos

https://www.planetary.org/space-images/ngc-2264-the-christmas-tree-cluster

https://web.facebook.com/photo.php?fbid=913966864177092&id=100066913595202&set=a.513878600852589&_rdc=1&_rdr

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง