ร่วมภาคี Artemis Accords แล้วไทย…จะได้ไปดวงจันทร์ด้วยหรือเปล่า?
เจาะลึก Artemis Accords ภาคีด้านอวกาศใต้ร่มเงาโครงการ Artemis ของ NASA ที่จะพาคนกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้ง และคำถามสำคัญที่จะได้รู้ว่า คนไทย จะได้ไปดวงจันทร์ด้วยหรือไม่
ประเทศไทยเข้าร่วม Artemis Accords หรือข้อตกลงระหว่างประเทศร่วมกันด้านอวกาศที่มี NASA ของสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ ภายใต้ภาคีนี้ ประเทศไทยจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ Artemis ที่จะพาคนกลับไปยังดวงจันทร์ ซึ่งไม่ใช้แค่การกลับไปเพื่อลงจอด แต่กลับไปเพื่อเตรียมพร้อมสู่ยุคที่มนุษยชาติจะสามารถตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ในอนาคตได้
ช่วงเวลาแห่งความสัมพันธ์ระหว่างไทย - สหรัฐอเมริกา และกิจการอวกาศ
บิล เนลสัน (Bill Nelson) ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NASA กล่าวตอนหนึ่งผ่านวิดีโอในพิธีลงนาม Artemis Accords ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาว่า "ไทยคือเพื่อนที่เก่าแก่ที่สุดของเราในภูมิภาคนี้ และตลอดนับศตวรรษความเป็นเพื่อนของพวกเราได้เติบโตเช่นเดียวกับโลกที่เติบใหญ่ ในปี 1968 หรือ 150 ปีหลังการสร้างสัมพันธ์ทางการทูตของพวกเรา มนุษยชาติได้มีโอกาสเห็นสรวงสวรรค์เป็นครั้งแรก และนั่นคือภารกิจอะพอลโล่ 8 เมื่อนักบินอวกาศชาวอเมริกันกลายเป็นกลุ่มแรกที่ได้เห็นโลกในมุมที่เหนือความเข้าใจเพื่อก้าวไปสู่ประตูของการเหยียบดวงจันทร์"
"ภารกิจนั้นได้ทำให้มนุษยชาติรับรู้ทัศนียภาพที่ไม่อาจลืมได้ของบ้านอันแสนเปราะบางของพวกเรา ภาพที่เปลี่ยนวิธีที่พวกเรา มนุษยชาติอย่างเรามองเห็นตัวเองไปตลอดกาล สู่ เอิร์ธไรซ์ (Earthrise) ภาพถ่ายของโลกที่ขึ้นเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ และในศตวรรษใหม่นี้ ยุคสมัยใหม่ก็ได้เริ่มต้นขึ้น นี่คือยุคทองของการสำรวจอวกาศ อเมริกาจะกลับไปยังดวงจันทร์ด้วยหนทางใหม่ มันคือทางใหม่ที่สำคัญสำคัญที่เป็นทางซึ่งไปด้วยกัน กับเพื่อนคู่คิดจากหลากหลายชาติ และนั่นคือสิ่งที่ยืนยันว่าจะเกิดขึ้นในภาคีอาร์เทมิสนี้ และด้วยการร่วมมือกันผ่านภาคีอาร์เทมิสนี้เราถือเป็นเกียรติที่ได้ล่องไปกับประเทศไทย" บิล เนลสัน กล่าวสรุป
เป้าหมายร่วมกันของประเทศสมาชิกใน Artemis Accords
ในรายละเอียดบันทึกข้อตกลงร่วมกันของ Artemis Accords นั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 10 ข้อ แต่หนึ่งในหัวใจสำคัญที่สุดของโครงการนี้คือการแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันจากสิ่งที่น่าจะใช้งานได้ หรือเอาไปใช้บนอวกาศ ไม่ว่าจะดาวเทียม ข้อมูล หรือแม้แต่การทำแร่บนดวงจันทร์ในอนาคต กับอีกข้อหนึ่งที่สำคัญคือทุกชาติที่เป็นสมาชิก จะต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกเรือนักบินอวกาศในการพากลับมาโลกอย่างปลอดภัย ซึ่งหมายถึงว่าช่วยอำนวยความสะดวก หรือแม้แต่เปิดปฏิบัติการกู้ภัยหากจำเป็น
และทั้งสองเป้าหมายหลัก รวมถึงข้อตกลงทั้ง 10 ประการ นั้นมีบทบาทสำคัญในการทำให้ภารกิจ Artemis ที่จะพาคนกลับไปดวงจันทร์นั้นเกิดขึ้นได้จริงภายในปี 2027 นี้ และภายใต้ Artemis Accords นั้นมีชาติที่ร่วมลงนามทั้งหมด 50 ประเทศ ซึ่งทำให้ไทยกลายเป็นชาติที่ 51 ของโลก และเป็นประเทศที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียนที่ร่วมลงนามต่อจากสิงคโปร์
ไทยจะได้ไปดวงจันทร์ภายใต้ Artemis Accords หรือเปล่า?
โครงการ Artemis แบ่งออกเป็น 6 ระยะ โดย 3 ระยะแรกที่สำคัญและมีส่วนที่ไทยจะเข้าไปมีส่วนร่วม ได้แก่ ระยะที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา กับยานโอไรออน ที่พาคนจากโลกขึ้นไปอวกาศ เพื่อปูทางไปใช้รับ-ส่งคนระหว่างโลกกับสถานีอวกาศที่โคจรเหนือโลก 2. ระยะที่สองจะเกิดขึ้นในปี 2026 กับการพาจรวดขนส่งอวกาศ SLS (Space Launch System) ไปบินวนรอบดวงจันทร์แล้วกลับมาโลก เพื่อทดสอบก่อนลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ และระยะที่ 3 คือการไปลงจอดดวงจันทร์จริงในปี 2027 ซึ่งจะเป็นการนำองค์ความรู้และการทำงานจากระยะแรก ระยะที่สองมารวมกัน เพื่อสร้างลูปการเดินทางไปดวงจันทร์ที่เป็นระบบ
ในขณะที่ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการจิสด้า (GISTDA) ในฐานะองค์กรด้านอวกาศของไทยที่รับผิดชอบภายใต้ Artemis Accords ยืนยันกับ TNN Tech ว่า บุคลากรของไทยจะได้มีส่วนร่วมในการทำภารกิจของ Artemis III หรือภารกิจในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อย่างแน่นอน แต่อาจไม่ได้เป็นการส่งคนไทยขึ้นไปบนดวงจันทร์ รวมถึงเป็นการร่วมมือที่ไม่ได้ใช้งบประมาณมากนัก เนื่องจากการร่วมมือนั้นมีหลากหลายส่วนที่ไทยสามารถเข้าไปสนับสนุนได้ เช่น การส่งนักวิจัยเข้าไปร่วมทำงาน การวิจัยเทคโนโลยีอวกาศต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งโครงการขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ดังนั้น ความพร้อมจึงขึ้นอยู่กับงบประมาณที่รัฐบาลไทยจะจัดสรร แต่ก็ยอมรับว่าการเห็นนักบินอวกาศสัญชาติไทยอาจยังไม่เกิดขึ้นภายใต้ Artemis Accords
ด้านนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวภายในพิธีลงนาม Artemis Accords ว่า "นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักวิชาการของประเทศไทย จะมีองค์ความรู้ด้านอวกาศได้มากขึ้น นำไปสู่ Frontier Technology (เทคโนโลยีใหม่) หรือว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีความทันสมัยแล้วก็ก้าวล้ำ ให้ไทยมีความทันสมัยและทัดเทียมกับเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี"
ข้อมูล Space.com, NASA, Voice of America, Wikipedia
ข่าวแนะนำ