รถไฟใต้ดินสเปน รีไซเคิลพลังงานเบรก เพื่อชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
ชมความก้าวหน้าของระบบรถไฟใต้ดินในสเปน ดึงเอานวัตกรรมการเบรกเพื่อสร้างพลังงานมาใช้กับระบบรถไฟ เพื่อเก็บพลังงานที่ได้ ไปหมุนเวียนให้กับจุดชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในตัวเมือง
ระบบรถไฟใต้ดินบาร์เซโลนา ปรับมาใช้นวัตกรรมการสร้างพลังงานจากการเบรกของรถ ที่เรียกว่า รีเจนเนอเรทีฟ เบรกกิ้ง (Regenerative Braking) หรือนวัตกรรม "การเบรกเพื่อชาร์จไฟ” เพื่อนำพลังงานที่ได้จากการเบรก มาใช้หมุนเวียน ชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าบนท้องถนนได้ด้วย
นวัตกรรมการชาร์จพลังงานนี้ เกิดขึ้นที่สถานีรถไฟใต้ดิน ซานตา อูลาเลีย (Santa Eulalia) ของเมืองบาร์เซโลนา ในประเทศสเปน และเป็น 1 ใน 16 สถานีรถไฟใต้ดินในเมือง ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า เมโทรเชนจ์ (MetroCharge) ที่ได้รับการติดตั้งระบบการนำพลังงานจากการเบรกของรถไฟ มาชาร์จพลังงานให้กับรถยนต์ไฟฟ้า ณ จุดชาร์จบนท้องถนนด้านบน
ทางผู้ดูแลโครงการระบุว่าตอนนี้ ได้มีการนำเอาพลังงานจากการเบรกของรถไฟกลับมาใช้ใหม่ได้ถึงร้อย 33 โดยพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่นี้ จะถูกส่งไปใช้งาน 3 ส่วนด้วยกัน โดยส่วนแรกจะส่งกลับไปให้กำลังกับรถไฟ พลังงานส่วนที่สองจะส่งไปใช้งานอื่น ๆในสถานีรถไฟใต้ดินทั่วเมือง และส่วนที่เหลือจะนำไปใช้จ่ายให้กับจุดชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV
นอกจากนี้ในโครงการเดียวกันยังได้มีการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าตอบสนองความต้องการพลังงานของสถานีรถไฟใต้ดิน 28 แห่งจากทั้งหมด 163 แห่ง ตั้งแต่หลอดไฟ ไปจนถึงลิฟต์ และระบบระบายอากาศ
สำหรับเทคโนโลยี รีเจนเนอเรทีฟ เบรกกิ้ง (Regenerative Braking) หรือ "การเบรกเพื่อชาร์จไฟ” มีการใช้งานมานานหลายทศวรรษแล้ว โดยจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้า จับพลังงานที่สูญเสียจากการเบรก หรือการเคลื่อนที่ของล้อรถ เปลี่ยนให้เป็นกระแสไฟฟ้า ส่งกลับไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ของรถ
แนวคิดนี้จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่ แต่เป็นเรื่องน่าสนใจที่บาร์เซโลนาสามารถนำระบบดังกล่าวมาใช้ในโครงข่ายการเดินทางสาธารณะในเมือง นอกจากนี้บาร์เซโลนายังได้มีการใช้งานเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอื่น ๆ เพื่อช่วยให้การขนส่งสาธารณะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีส่วนร่วมในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ด้วย
ข้อมูลจาก apvideohub.ap.org
ข่าวแนะนำ