อธิบายมาตรฐาน ASEAN NCAP คืออะไร รู้ไว้ก่อนซื้อรถใหม่
สรุปหลักเกณฑ์ ASEAN NCAP มาตรฐานการทดสอบความปลอดภัยที่มักใช้สถานการณ์การชนรูปแบบต่าง ๆ มาทดสอบสำหรับรถยนต์ที่ขายในประเทศอาเซียน
อาเซียน เอ็นแคป (ASEAN NCAP) เป็นโปรแกรมประเมินความปลอดภัยรถยนต์ใหม่ที่วางจำหน่ายในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา และเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่ว่าท่ีเจ้าของรถคันใหม่ควรรู้
ASEAN NCAP คืออะไร
ASEAN NCAP ก่อตั้งขึ้นในปี 2011 เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Global NCAP (Global New Car Assessment Programme) โปรแกรมประเมินความปลอดภัยรถยนต์ใหม่ ที่มีเกณฑ์คะแนนออกเป็น 6 ระดับ ตั้งแต่ 0 ดาว ที่มีความปลอดภัยต่ำที่สุด ไปจนถึงระดับ 5 ดาว ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงที่สุด
การให้คะแนนใน ASEAN NCAP มาจาก 4 ด้านหลัก ได้แก่ การปกป้องผู้โดยสารผู้ใหญ่ภายในรถ (Adult Occupant Protection: AOP) การปกป้องผู้โดยสารเด็กภายในรถ (Child Occupant Protection: COP) การทำงานของระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ (Safety Assist) และความปลอดภัยต่อผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ (Motorcyclist Safety) ในสัดส่วนน้ำหนักคะแนน 40:20:20:20 ตามลำดับ
คะแนน ASEAN NCAP น้อย เกิดจากอะไร
โดย ASEAN NCAP จะทำการทดสอบการชนที่ความเร็วต่าง ๆ และการชนทั้งในด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เพื่อดูการทำงานของระบบความปลอดภัยในรถยนต์ที่เข้าทดสอบ ซึ่งในกรณีที่รถยนต์ที่เข้าทดสอบทำคะแนนได้น้อย อาจเกิดจากตัวรถมีโครงสร้างที่ปกป้องส่วนศีรษะ คอ อก และขาส่วนล่าง ของผู้โดยสารภายในรถได้ต่ำ ทั้งในแบบจำลองทดสอบสำหรับเด็กและผู้ใหญ่
นอกจากนี้ รถยนต์ที่ไม่มีระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ เช่น ระบบตรวจจับจุดอับสายตา (Blind Spot Technology: BST) ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ (Autonomous Emergency Braking: AEB) ระบบรักษารถให้อยู่ในเลน (Lane Keeping Assist: LKA) ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning: FCW) ฯลฯ ก็อาจทำให้ไม่มีคะแนนในส่วนระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่และความปลอดภัยต่อผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการทราบคะแนนมาตรฐาน ASEAN NCAP ของรถยนต์รุ่นที่เข้าร่วมการทดสอบ สามารถเข้าไปดูคะแนนได้ผ่านเว็บไซต์ และยังมีการประกาศคะแนน (Press Release) ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ของ ASEAN NCAP ด้วยเช่นกัน
ข้อมูล ASEAN NCAP, Wikipedia
ภาพ ASEAN NCAP
ข่าวแนะนำ