TNN “ลิเวอร์พูล” สโมสรฟุตบอลที่ขับเคลื่อนด้วยนักฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และ Data Science อยู่เบื้องหลัง

TNN

Tech

“ลิเวอร์พูล” สโมสรฟุตบอลที่ขับเคลื่อนด้วยนักฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และ Data Science อยู่เบื้องหลัง

“ลิเวอร์พูล” สโมสรฟุตบอลที่ขับเคลื่อนด้วยนักฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และ Data Science อยู่เบื้องหลัง

TNN Tech ย้อนรอยเบื้องหลังการบริหารสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล (Liverpool FC) ที่ใช้ข้อมูลฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และสถิติในการขับเคลื่อนการพัฒนาฟุตบอลของทีม

หากใครติดตามการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก (Premier League) จะทราบเป็นอย่างดีว่าในฤดูกาลปัจจุบันนั้นลิเวอร์พูล (Liverpool) กำลังเป็นจ่าฝูงขึ้นนำด้วยคะแนน 34 แต้ม จากการแข่ง 13 นัด แต่นอกจากฝีเท้านักเตะ โค้ช และการบริหารทีมแล้ว นักฟิสิกส์ และข้อมูลทางคณิตศาสตร์กับสถิติ คือ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ลิเวอร์พูลมีการพัฒนาขึ้นมา


จุดเริ่มต้นการพัฒนาทีมลิเวอร์พูลด้วยนักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์

ย้อนกลับไปในปี 2010 เฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป (Fenway Sports Group) ได้บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลจากเจ้าของเดิมในช่วงที่สโมสรมีผลงานย่ำแย่ 


จอห์น ดับเบิลยู. เฮนรี (John W. Henry) หนึ่งในเจ้าของเฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป นั้นไม่เชื่อว่าการบริหารและการพัฒนาทีมด้วยเทคนิค หรือแรงเชียร์และความเห็นจากฟุตบอลดั้งเดิมจะช่วยพัฒนาทีมได้ จึงได้เลือกใช้นักคณิตศาสตร์เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาผลงานทีมแทน


โดยแนวคิดของเฮนรีได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์เรื่องมันนีบอล (Moneyball) ที่สร้างจากเรื่องจริงของโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ (Oakland Athletics) ทีมเบสบอล (Baseball) ที่พลิกวิธีการบริหาร การวิเคราะห์เกม รวมถึงหาตัวนักกีฬา (Scouting) ด้วยข้อมูลทางคณิตศาสตร์


ในภาพยนตร์เรื่องมันนีบอล สิ่งที่สโมสรในเวลานั้นใช้ตัดสินใจ คือ ข้อมูลการแข่งขันที่มีการตีความด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์ หรือเรียกว่าดาตา ไซแอนซ์ (Data Science) ที่นำชุดข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมมาแปลงเป็นความหมายในการวิเคราะห์


(สปอยล์: เรื่องของเฮนรีมีส่วนพูดถึงในช่วงท้ายเรื่องภาพยนตร์มันนีบอลด้วยเช่นกัน โดยปรากฏในฐานะเจ้าของทีมเรด ฟ็อกซ์ - Red Fox ที่ต้องการดึงผู้จัดการทีม Oakland Athletics ย้ายมาทีมตัวเอง) 


นักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ทีมลิเวอร์พูล

เรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับทีมโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ ทำให้จอห์น ดับเบิลยู. เฮนรี ได้ตัดสินใจจ้างเอียน กราแฮม (Ian Graham) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) มาเป็นหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ (Chief Analyst) ของทีมในปี 2012


ข้อมูลที่เอียน กราแฮมและทีมงานได้นำมาวิเคราะห์ได้สร้างการตัดสินใจครั้งสำคัญที่พลิกประวัติศาสตร์ของสโมสร เช่น การสนับสนุนให้ผู้บริหารเลือกจ้างเจอร์เกน คล็อปป์ (Jürgen Klopp หรือเยือร์เกิน คล็อพในภาษาเยอรมัน) ในปี 2015 และการทำสัญญานักเตะกับโมฮาเหม็ด ซาลาห์ (Mohamed Salah) กองหน้าสัญชาติอิยิปต์ในปี 2017


ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2015 - 2024 คล็อปป์ ได้พาทีมคว้าทุกถ้วยรางวัลสำคัญในการแข่งขัน เช่น พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2019 - 2020 เอฟเอคัพ (FA Cup) 2021 - 2022 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก (UEFA Champions League) 2018 - 2019 และอื่น ๆ ที่ทำให้แฟนบอลทีมลิเวอร์พูล “ศรัทธา” ในตัวคล็อปป์ รวมถึงได้รับการยอมรับจากแฟนบอลทีมอื่น ๆ ในยุคของเขาเช่นกัน


ในขณะที่โมฮาเหม็ด ซาลาห์ (Mohamed Salah) ตลอดระยะเวลาการเป็นนักฟุตบอลอาชีพในตำแหน่งกองหน้า ได้ลงเล่นทั้ง 276 นัด ยิงไป 168 ประตู และมีส่วนช่วยยิงหรือแอสซิสต์ (Assist) ไปกว่า 76 ประตู ซึ่งสถิตินี้มาจากทีมเดิมอย่างเชลซี (Chelsea) เพียงแค่ 2 ประตู จากการลงเล่นเพียง 13 ครั้ง เท่านั้น


ลิเวอร์พูล - ทีมที่ขับเคลื่อนด้วยนักฟิสิกส์

เอียน กราแฮมได้ทำงานเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย (Director of Resecrh) ของสโมสรจนถึงปี 2022 ก่อนสิ้นสุดการทำงานกับทีม และเขียนหนังสือ How to Win the Premier League: The Inside Story of Football's Data Revolution ซึ่งเผยถึงความสำคัญของข้อมูลในการบริหารและพัฒนาฟุตบอล


โดยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยคนใหม่ของลิเวอร์พูลที่รับไม้ต่อก็คือ วิลเลียม สเปียร์แมน (William Spearman) นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษที่จบการศึกษาด้านฟิสิกส์อนุภาค (Particle Physics) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในสหรัฐอเมริกา และเคยทำงานเป็นนักวิจัยให้กับองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือเซิร์น (CERN: Conseil Européen pour la Recherche Nucléair) มาก่อน 


ลิเวอร์พูลยังคงเปิดรับนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล (Lead Data Scientist) เป็นระยะ โดยครั้งล่าสุดได้รับสมัครงานในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีคุณสมบัติจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ หรือคณิตศาสตร์ และมีประสบการณ์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลไม่น้อยกว่า 5 ปี พร้อมเงินเดือนตามราคาตลาด ซึ่งกลาสดอร์ (Glassdoor) บริษัทด้านจัดหางานระบุว่า รายได้ตำแหน่ง Lead Data Scientist ในอังกฤษเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 80,000 ปอนด์ หรือประมาณ 3,500,000 บาท 


ข้อมูล Sky SportsLiverpool FCGlassdoorWikipediaLiverpool.comLinkedInPremier League, Trym Sorum/Medium

ภาพ REUTERS / NICHE MEDIA


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง