ความหวังใหม่ ยาจากส่วนผสมทองคำ ชะลอเนื้องอกมะเร็งได้ 82%
นักวิจัยจากออสเตรเลียและอินเดีย พัฒนายาแบบใหม่ มีส่วนผสมของทองคำ ช่วยชะลอการเติบโตของเนื้องอกมะเร็งร้อยละ 82 ถือเป็นความก้าวหน้าที่อาจนำไปสู่การรักษามะเร็งที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โรคมะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่วิวัฒนาการมาร่วมกับสิ่งมีชีวิตบนโลกนับพัน ๆ ปี และมนุษย์พยายามคิดค้นหาวิธีรักษาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีอีกหนึ่งความก้าวหน้า เมื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย RMIT จากประเทศออสเตรเลีย และสถาบันเทคโนโลยีเคมีแห่งอินเดีย (IICT) ประเทศอินเดีย ได้พัฒนายาที่มีส่วนผสมของทองคำ และพบว่ามันมีแนวโน้มที่ดีในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง
แนวโน้มที่ดีของยาใหม่จากส่วนผสมทองคำ
การทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า ยาจากส่วนผสมทองคำนี้ มีความสามารถในการชะลอการเติบโตของเนื้องอกมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่ายาเคมีบำบัดที่ใช้รักษามะเร็งอย่างแพร่หลายในปัจจุบันอย่าง ซิสพลาติน (Cisplatin) สูงถึง 27 เท่า ต่อต้านมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่าซิสพลาติน 3.5 เท่า และมีประสิทธิภาพต่อต้านมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Fibrosarcoma) มากกว่า 7.5 เท่า
ส่วนการทดลองในหนู พบว่ายาจากส่วนผสมทองคำชะลอการเติบโตของเนื้องอกมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 82 ในขณะที่ซิสพลาตินชะลอได้ร้อยละ 29
มักดาเลนา เปลบานสกี้ (Magdalena Plebanski) ซึ่งเป็นหัวหน้าร่วมของโครงการ กล่าวว่ายาใหม่นี้ยาใหม่นี้ได้มีการนำไปทดลองกับปลาม้าลาย (Zebrafish ปลาขนาดเล็กวงศ์เดียวกับปลาตะเพียน) และพบว่ามันมีความสามารถอีกประการหนึ่ง คือมันสามารถยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Anti-Angiogenesis) ซึ่งเมื่อหลอดเลือดใหม่ถูกยับยั้ง ก็จะไปชะลอการเติบโตของเนื้องอก
นอกจากนี้ยังพบว่า ยาจากส่วนผสมทองคำยังช่วยลดผลข้างเคียงที่เป็นพิษลงจากยาเคมีบำบัดแบบดั้งเดิมลงได้ คือ ซิสพลาตินจะทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ที่สุขภาพดี แต่ยาจากส่วนผสมทองคำสามารถกำหนดเป้าหมายของเซลล์มะเร็งได้อย่างเฉพาะเจาะจงกว่า ทำให้นอกจากมีประสิทธิภาพในการรักษาดีกว่า ก็จะลดอันตรายจากการใช้ยาลงได้ด้วย
การปรับแต่งทองคำ
ทั้งนี้ทองคำถือว่ามีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีเฉพาะตัว ทำให้เหมาะในการใช้ทางการแพทย์ คือมันมีความเสถียรสูง และไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน น้ำ หรือสารเคมีส่วนใหญ่ได้ง่าย ทนทานต่อการกัดกร่อน ทำให้ทองคำคงสภาพได้ยาวนาน
อย่างไรก็ตาม สารประกอบทองที่ใช้ในการพัฒนายาครั้งนี้ ไม่ใช่ทองคำทั่วไป แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า Gold(I) ที่ผ่านการปรับแต่งมาเป็นพิเศษ เพื่อให้มีคุณสมบัติในการตอบสนองและออกฤทธิ์ทางชีวภาพ คือทำให้มันทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ ไทโอรีดอกซินรีดักเตส (Thioredoxin Reductase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีอยู่มากในเซลล์มะเร็ง เมื่อมันปิดกั้นการทำงานของเอนไซม์นี้แล้ว ก็จะเป็นการปิดการทำงานของเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนที่มันจะลุกลามหรือเกิดการดื้อยา ซึ่งการดื้อยาถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้การรักษาโรคมะเร็งทำได้ยาก
แน่นอนว่าปัจจุบันยังไม่ได้มีการทดลองกับมนุษย์ แต่ว่าผลการทดลองที่มีแนวโน้มที่ดี ก็สร้างกำลังใจให้ทีมวิจัยได้อย่างมาก ตามคำกล่าวของ สุเรช ภาร์กาวา (Suresh Bhargava) ผู้อำนวยการศูนย์วัสดุขั้นสูงและเคมีอุตสาหกรรมของ RMIT
อย่างไรก็ตาม ทองคำถูกนำมาใช้ในการบำบัดโรคอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีการวิจัยที่สนับสนุนการใช้เพิ่มมากขึ้น และงานวิจัยนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งการรับรองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเปิดทางไปสู่การพัฒนาเพิ่มเติมในการรักษาโรคด้วยทองคำในอนาคต
งานวิจัยนี้ถือเป็นความก้าวหน้าที่อาจนำไปสู่การรักษามะเร็งที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การศึกษานี้จะตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Medicinal Chemistry ฉบับวันที่ 5 มกราคม 2025
ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, EurekAlert, RMIT, ScienceDirect
ที่มารูปภาพ RMIT
ข่าวแนะนำ