ค้นพบดาวเคราะห์อายุน้อยที่สุดในจักรวาล อายุเพียง 3 ล้านปีเท่านั้น
นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์อายุน้อยเท่าที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบ อายุแค่ 3 ล้านปีเท่านั้น ถือเป็นโอกาสให้มนุษย์ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการช่วงแรกเริ่มของการก่อตัวของดาวเคราะห์ในจักรวาล
นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา วิทยาเขตแชเปิลฮิลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ค้นพบดาวเคราะห์อายุน้อยที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบมา โดยมีอายุเพียงแค่ 3 ล้านปีเท่านั้น หรือหากเปรียบเทียบกับโลกอายุ 4500 ล้านปีของเรา ให้เป็นมนุษย์อายุ 100 ปี ดาวทารก 3 ล้านปีดวงนี้ จะเปรียบเทียบเป็นเด็กแบเบาะวัย 7 เดือนเท่านั้น
ดาวเคราะห์อายุ 3 ล้านปีดวงนี้ ชื่อว่า IRAS 04125+2902 b (TIDYE-1b) อยู่ห่างจากโลกประมาณ 520 ปีแสง มันอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ในระบบของมันมาก จึงใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ครบ 1 รอบเพียง 8.33 วัน มีรัศมีใหญ่กว่าโลกเรา 10.7 เท่า หรือเล็กกว่าดาวพฤหัสบดีเพียงเล็กน้อย
นักวิจัยคาดการณ์ว่าในอนาคต TIDYE-1b จะวิวัฒนาการไปเป็น ซูเปอร์เอิร์ธ (Super Earth) คือดาวเคราะห์มีมวลมากกว่าโลกแต่น้อยกว่าดาวเนปจูน หรืออาจจะเป็น ซับเนปจูน (Sub-Neptune) คือมีมวลมากกว่าดาวเนปจูนแต่น้อยกว่าดาวพฤหัสบดี
ก่อนหน้านี้มนุษย์เราค้นพบดาวเคราะห์อายุน้อยประมาณ 10 ดวง แต่ว่าดาวเคราะห์เหล่านั้นมีอายุอยู่ระหว่าง 10 - 40 ล้านปี การที่ค้นพบดาวอายุน้อยได้น้อยมาก ๆ เหตุผลไม่ใช่เพราะดาวเคราะห์เกิดจำนวนน้อย แต่เป็นเพราะว่าดาวเคราะห์เกิดใหม่นั้นสังเกตเห็นได้ยากมาก เนื่องจากดาวเคราะห์ในจักรวาล จะเกิดจากกลุ่มฝุ่นและก๊าซในจักรวาลที่เรียกว่า จานฝุ่นก๊าซรวมมวล หรือ Protoplanetary Disk เมื่อดาวเคราะห์เกิดขึ้นมาแล้ว มันจะถูกบดบังจากจานฝุ่นดังกล่าวนี้ ทำให้มองเห็นได้ยาก โดยทั่วไปแล้วต้องใช้เวลามากกว่า 5 ล้านปี จานฝุ่นก๊าซรวมมวลที่บังอยู่นี้ จึงจะค่อย ๆ หายไป
ส่วนการศึกษาครั้งนี้ เหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์อายุน้อยได้ เนื่องจากจานฝุ่นก๊าซรวมมวลแห่งนี้ทำมุมเอียง ทำให้ไม่บังดาวเคราะห์ อีกทั้งใช้อัลกอริธึมที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ชื่อนอตช์ (Notch) เพื่อค้นหาสัญญาณของดาวเคราะห์ รวมไปถึงได้ใช้หลักการที่เรียกว่า วิธีการเคลื่อนที่ผ่านหน้า (Transit Method) ซึ่งเป็นวิธีวัดแสงที่ลดลงของดาวฤกษ์แม่เมื่อมีดาวเคราะห์ผ่านหน้าซึ่งอุปกรณ์ที่ตรวจจับได้นี้ก็คือกล้องโทรทรรศน์เทสส์ (TESS) ขององค์การนาซา (NASA)
การค้นพบนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นโอกาสที่จะทำให้มนุษย์สามารถใช้ศึกษากระบวนการช่วงแรก ๆ ของการก่อตัวดาวเคราะห์ ซึ่งนับรวมไปถึงโลกของเรา และจะทำให้เราเข้าใจระบบดาวเคราะห์มากกว่าที่เราเคยเข้าใจ
การศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2024
ที่มาข้อมูล ScienceAlert, UNCnews.unc.edu, Nature, Space, NARIT
ที่มารูปภาพ NASA/JPL-Caltech
ข่าวแนะนำ